การโจมตีกองเรือกาซา (อังกฤษ: Gaza flotilla raid) หรือชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการลมทะเล (อังกฤษ: Operation Sea Breeze) โดยกองกำลังป้องกันอิสราเอล เป็นการขึ้นเรือและการยึดเรือหกลำจาก กองเรือเสรีภาพกาซา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 กองเรือดังกล่าว ประกอบด้วยขบวนการกาซาเสรีและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (IHH) พยายามที่จะฝ่าการปิดล้อมกาซาและส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและวัสดุก่อสร้างไปยังฉนวนกาซา เรือทั้งหกลำรวมตัวกันใกล้กับไซปรัส และออกเดินทางเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยมีผู้โดยสารกว่า 663 คน จาก 37 ประเทศ คอมมานโดอิสราเอลขึ้นเรือในเขตน่านน้ำสากลของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หลังจากกองเรือปฏิเสธข้อเสนอของอิสราเอลที่จะให้มีการตรวจสอบสินค้าที่บรรทุกมาที่ท่าแอชดอด และให้มีการจัดส่งทางบกแทน
นักเคลื่อนไหวบนเรือลำใหญ่ที่สุดของกองเรือนี้ MV Mavi Marmara ปะทะกับกองกำลังพิเศษ Shayetet 13 ของอิสราเอล เมื่อกองกำลังเหล่านี้ได้ขึ้นสู่ดาดฟ้าของเรือ นักเคลื่อนไหวบนเรือคนหนึ่งกล่าวว่าทหารอิสราเอลยิงเตือนก่อนที่จะขึ้นเรือ คอมมานโดกล่าวว่าพวกเขาถูกโจมตีด้วยมีด หนังสติ๊ก และท่อโลหะ จากนั้นได้เปลี่ยนจากอาวุธที่ไม่รุนแรงถึงชีวิตเป็นกระสุนจริงหลังจากนักเคลื่อนไหวหลายคนยึดเอาปืนพกสั้นของพวกเขาไป ผู้โดยสารคนอื่นกล่าวว่านักเคลื่อนไหวได้มีพฤติการณ์ป้องกันตัวเอง ปลดอาวุธทหาร และโยนอาวุธเหล่านี้ลงสู่ทะเล นักเคลื่อนไหว 9 คนถูกยิงเสียชีวิตโดยคอมมานโดอิสราเอล นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 12 คน และถูกจับกุมอีกหลายร้อยคน คอมมานโดได้รับบาดเจ็บ 7 นาย ในจำนวนนี้ 2 นายได้รับบาดเจ็บสาหัส ทางการอิสราเอลกล่าวหา IHH ว่าส่งนักเคลื่อนไหวมาบนเรือ MV Mavi Marmara เพื่อตั้งใจยุยงให้เกิดความรุนแรง แต่ IHH ปฏิเสธข้อกล่าวหา
การโจมตีดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากหลายประเทศในทันที รวมไปถึงการประณามอย่างกว้างขวาง จากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเหนือรัฐ และองค์การสาธารณประโยชน์ รวมทั้งการชุมนุมประท้วงและการก่อจลาจลทั่วโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณาม "การกระทำเช่นนั้นซึ่งทำให้พลเรือนเสียชีวิต" และต้องการให้มีการสืบสวนอย่างยุติธรรมเกี่ยวกับการโจมตีดังกล่าว และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพลเรือนที่อิสราเอลยังคุมขังไว้อยู่ทันทีอิสราเอลตอบสนองยินดีที่จะปล่อยตัวพลเรือนที่ถูกจับกุมราว 620 คน จาก 682 คน และส่งตัวกลับประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวได้บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิสราเอล
สินค้าบรรทุกถูกยึดโดยอิสราเอล และเอาขึ้นจากเรือที่ท่าแอชดอตและได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล: สินค้าบรรทุกดังกล่าวได้รับอนุญาตและส่งไปยังกาซาทางพื้นดิน กลุ่มฮามาสปฏิเสธไม่ยิมยอมให้สินค้าบรรทุกเหล่านี้เข้าสู่กาซาจนกว่าอิสราเอลจะปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากกองเรือและตกลงที่จะอนุญาตให้ผู้จัดระเบียบกองเรือส่งสินค้ามายังกาซาได้โดยตรง รวมไปถึงวัสดุก่อสร้าง โดยปราศจากการตรวจสอบของอิสราเอล MV Rachel Corrie เรืออีกลำหนึ่งซึ่งเดิมตั้งใจที่จะเดินทางมาเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือยังคงพยายามที่จะส่งวัสดุเข้าสู่กาซา; เรือดังกล่าวถูกยึดในน่านน้ำสากลโดยทหารอิสราเอลเช่นเดียวกัน