การแปลการพินิจภายในผิด (อังกฤษ: introspection illusion) เป็นความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) ที่เราคิดอย่างผิด ๆ ว่า เรามีความเข้าใจโดยประจักษ์ โดยผ่านการพินิจภายใน (introspection) เกี่ยวกับเหตุเกิดของสภาวะจิตใจของเรา ในขณะที่ไม่เชื่อถือการพินิจภายในของผู้อื่น ในบางกรณี การแปลสิ่งเร้าผิดชนิดนี้ ทำให้เราอธิบายพฤติกรรมของตนเองอย่างมั่นใจแต่ผิดพลาด หรือทำให้พยากรณ์สภาวะหรือความรู้สึกทางจิตใจของตนในอนาคตที่ไม่ถูกต้อง
มีการตรวจสอบการแปลสิ่งเร้าผิดประเภทนี้ในการทดลองทางจิตวิทยา ซึ่งเสนอการแปลการพินิจภายในผิดว่าเป็นเหตุของความเอนเอียง เมื่อเราเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น มีการตีความผลงานทดลองเหล่านี้ว่า แทนที่จะให้ข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นเหตุของสภาวะจิตใจของตน การพินิจภายในเป็นกระบวนการสร้าง (construction) และอนุมาน (inference) เหตุของสภาวะจิตใจ เหมือนกับที่เราอนุมานสภาพจิตใจของคนอื่นจากพฤติกรรม
เมื่อเราถือเอาอย่างผิด ๆ ว่า การพินิจภายในที่เชื่อถือไม่ได้ เป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนที่ตรงกับความจริง ผลที่ได้อาจจะเป็นการปรากฏของการแแปลสิ่งเร้าผิดว่าเหนือกว่า (illusory superiority) ผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น เราแต่ละคนจะคิดว่าเรามีความคิดที่เอนเอียงน้อยกว่าผู้อื่น และมีความคิดที่เห็นตามผู้อื่นน้อยกว่าคนอื่น และแม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองจะได้รับรายงานของการพินิจภายในของผู้อื่น ที่ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ยังจะตัดสินว่า เป็นเรื่องเชื่อถือไม่ได้ ในขณะที่ถือเอาการพินิจภายในของตนว่า เชื่อถือได้ แม้ว่า สมมติฐานเกี่ยวกับการแปลสิ่งเร้าผิดประเภทนี้ จะให้ความเข้าใจความกระจ่างชัดเกี่ยวกับผลงานวิจัยทางจิตวิทยาบางอย่าง แต่หลักฐานที่มีอยู่ไม่อาจจะบอกได้ว่า การพินิจภายในนั้นเชื่อถือได้ขนาดไหนในสถานการณ์ปกติ การแก้ปัญหาความเอนเอียงที่เกิดจากการแปลสิ่งเร้าผิดประเภทนี้ อาจเป็นไปได้ด้วยการศึกษาเรื่องความเอนเอียง และเรื่องการเกิดขึ้นใต้จิตสำนึกของความเอนเอียง
นักวิชาการ (Emily Pronin) ที่บัญญัติใช้คำว่า "introspection illusion" เป็นครั้งแรกอธิบายว่า เป็นการแปลสิ่งเร้าผิดที่มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ
การพินิจภายในไม่ได้ให้ข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับกระบวนการจิตใต้สำนึก แต่ควรจะพิจารณาว่า เป็นกระบวนการที่เราใช้ส่วนประกอบ (content) ของจิตใจเพื่อสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับตน (personal narrative) ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสภาพจิตใต้สำนึกก็ได้
ในผลงานวิจัยปี ค.ศ. 1977 นักจิตวิทยาริชารด์ นิสเบ็ตต์ และทิมโมที วิลสัน คัดค้านความคิดว่า การพินิจภายในนั้นเข้าถึงกระบวนการจิตใจได้โดยตรง และเชื่อถือได้ ซึ่งกลายเป็นผลงานวิจัยที่มีการอ้างอิงกันมากที่สุดในงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจิตใจ เป็นผลงานที่รายงานการทดลองที่ผู้ร่วมการทดลองต้องอธิบายทางปากว่า ทำไมจึงมีความชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่า มีความคิดอย่างนี้ได้อย่างไร โดยอาศัยข้อมูลจากงานเหล่านี้ และงานวิจัยเกี่ยวกับการอ้างเหตุ (attribution หรือ การบ่งชี้เหตุ) อื่น ๆ นักวิจัยทั้งสองสรุปว่า รายงานเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตใจของตนเป็นเรื่องกุขึ้น (confabulated) โดยรายงานว่า ผู้ร่วมการทดลอง "ไม่มีหรือแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการทางประชาน (cognitive process) ในระดับสูงโดยพินิจภายใน" นักวิจัยแยกแยะระหว่าง ส่วนประกอบของจิตใจ (contents) เช่นความรู้สึก และกระบวนการของจิต (process) โดยอ้างว่า การพินิจภายในสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบของจิตได้ แต่กระบวนการนั้นเข้าถึงไม่ได้
แม้ว่าจะมีงานทดลองที่สืบมาจากงานของนิสเบ็ตต์และวิลสันมาบ้าง แต่ความยากลำบากในการทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับข้อมูลที่เข้าถึงได้โดยพินิจภายใน มีผลให้ไม่มีการพัฒนาด้านผลงานวิจัยในประเด็นนี้ งานปริทัศน์ที่ทำ 10 ปีให้หลังคัดค้านงานวิจัยดั้งเดิมนั้นหลายอย่าง รวมทั้งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับนิยามของคำว่า "กระบวนการ" ที่ใช้ และเสนอว่า การทดสอบที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ ว่าการพินิจภายในสามารถให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับจิตใจได้ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ในปี ค.ศ. 2002 วิลสันยอมรับว่า ข้ออ้างที่ได้ทำในปี ค.ศ. 1977 นั้นกว้างเกินไป และได้เปลี่ยนมามีความเห็นว่า adaptive unconscious (กระบวนการจิตใต้สำนึก ปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม) เป็นกระบวนการที่เป็นเหตุแห่งการรับรู้ (perception) และพฤติกรรม โดยมาก และเมื่อให้เรารายงานถึงกระบวนการทางจิตใจของเราเอง เราจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการที่เป็นไปใต้สำนึกของจิตใจเหล่านี้ได้ แต่แทนที่เราจะยอมรับว่า ไม่รู้ เรากับกุคำอธิบาย (confabulate) ที่พอเป็นไปได้ขึ้น และดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่าตนเองไม่รู้
มีไอเดียทางปรัชญาบางอย่าง (eliminative materialism) ว่า มนุษย์อาจมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับการทำงานของจิตใจของตน และว่า แนวคิดในเรื่องบางเรื่องเช่น "ความเชื่อ" หรือว่า "ความเจ็บปวด" จะปรากฏความจริงทางวิทยาศาสตร์ต่างจากที่คิดกันทุกวันนี้
นักจิตวิทยาเรียกการเดาอย่างผิด ๆ ที่เราใช้อธิบายกระบวนการความคิดของตนเองว่า "causal theories" (ทฤษฎีเหตุผล) คือว่า คำอธิบายของเรา (ที่นักจิตวิทยาเรียกว่าทฤษฎีเหตุผล) เกี่ยวกับเหตุของการกระทำที่ทำแล้ว มักจะใช้เพียงเพื่อแก้ต่างพฤติกรรมของตน เพื่อบรรเทาความไม่ลงรอยกันทางประชาน (cognitive dissonance) ซึ่งก็หมายความว่า เราอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นเหตุจริง ๆ ของพฤติกรรมของตน แม้ว่ากำลังพยายามที่จะอธิบายอยู่ ผลก็คือ คำอธิบายที่เรามีมักจะเป็นไปเพื่อความรู้สึกที่ดีขึ้นเกี่ยวกับตัวเราเท่านั้น ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ชายคนหนึ่งอาจจะมีการเลือกปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศ เพราะว่าตนจริง ๆ แล้วอายว่า มีความรู้สึกชอบใจผู้ชายอื่น เขาอาจจะยอมรับความจริงนี้แม้ต่อตัวเองก็ไม่ได้ แต่อธิบายความเดียดฉันท์ของตนว่า เป็นเพราะว่าการรักร่วมเพศไม่เป็นธรรมชาติ
มีงานวิจัยที่วัดขอบเขตความแม่นยำของการพินิจภายใน โดยรวบรวมรายงานจากหญิงคนหนึ่งที่สมมุติชื่อว่า เมลานี่ เมลานี่จะพกวิทยุตามตัวตัวหนึ่ง ที่จะส่งเสียงโดยสุ่ม เพื่อให้เธอสังเกตว่า เธอกำลังรู้สึกและคิดอะไรอยู่ แต่เมื่อทำการวิเคราะห์รายงานของเธอแล้ว นักวิจัยกลับมีความคิดต่าง ๆ กันเกี่ยวกับผลที่ได้ เกี่ยวกับการตีความที่ถูกต้องของสิ่งที่เมลานี่อ้าง และเกี่ยวกับความแม่นยำของการพินิจภายในของเธอ หลังจากการถกเถียงที่ไม่ได้จบลงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ นักวิจัยทั้งสองมีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกัน คนหนึ่งมองในแง่ดี และอีกคนหนึ่งมองในแง่ร้าย ในประเด็นความแม่นยำของการพินิจภายใน
นิสเบ็ตต์และวิลสันมีสมมติฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความแม่นยำของการพินิจทางประชานภายในที่รายงานด้วยตนเอง คือ
นอกจากนั้นแล้ว นิสเบ็ตต์และวิลสันยังมีสมมติฐานที่อธิบายว่าทำไม่เราถึงไม่รู้ตัวถึงความคลาดเคลื่อนที่มีในการพินิจภายใน คือ
นักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่ได้แรงจูงใจจากงานของนิสเบ็ตต์และวิลสัน ได้ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของผู้ร่วมการทดลอง เกี่ยวกับความชอบใจของตนโดยใช้เทคนิคใหม่ คือ มีการให้ผู้ร่วมการทดลองดูรูปบุคคลสองรูป แล้วถามว่า คนไหนสวยหรือหล่อกว่า หลังจากนั้น ก็จะให้ผู้ร่วมการทดลองดูรูปที่ "เลือก" อย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง แล้วให้อธิบายเหตุการตัดสินเลือกรูปของตน แต่ว่า ในการทดลองส่วนหนึ่ง ผู้ทำการทดลองจริง ๆ แล้วจะให้ผู้ร่วมการทดลองดูรายละเอียดอีกทีของรูปที่ตนไม่ได้เลือก โดยสลับรูปที่อยู่ในมือโดยใช้เทคนิคของนักมายากล ผู้ร่วมการทดลองโดยมากสังเกตไม่ได้ว่า รูปที่กำลังดูจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่รูปที่ตนเองเลือกไม่กี่วินาทีก่อน แต่ว่า ผู้ร่วมการทดลองเป็นจำนวนมากจะกุคำอธิบายว่า ทำไมถึงชอบใจรูปนั้น ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งกล่าวว่า "ผมชอบรูปนี้เพราะว่าผมชอบคนมีผมสีทอง" ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ตนเลือกเอารูปผู้หญิงมีผมสีเข้ม แต่ผู้ทำการทดลองยื่นรูปหญิงผมสีทองให้ (ว่าเป็นรูปที่เขาเลือก) เพราะฉะนั้น คำอธิบายของผู้ร่วมการทดลองต้องเป็นเรื่องที่กุขึ้น เพราะว่า เป็นคำอธิบายการกระทำที่ความจริงแล้วตนไม่ได้ทำ
แม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองประมาณ 70% จะถูกหลอก คือไม่มีความสงสัยอะไรเลยว่าได้มีอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้น แต่ว่า คำให้การของผู้ร่วมการทดลองที่ถูกหลอกร้อยละ 84 หลังจากผ่านการทดลองแล้วกลับบอกว่า ตนคิดว่าจะสามารถตรวจจับการเปลี่ยนรูปอย่างนี้ได้ถ้าทำต่อหน้า นักวิจัยได้บัญญัติคำว่า "choice blindness" (ความบอดเลือก) ว่าหมายถึง ความล้มเหลวในการตรวจจับความไม่ตรงกัน (ระหว่างสิ่งที่ตนเลือก กับสิ่งที่กล่าวถึงในภายหลัง)
งานทดลองที่ติดตามมาอีกงานหนึ่ง ให้คนที่กำลังช็อปปิ้งอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชิมรสชาติของแยมสองอย่าง แล้วให้อธิบายว่าทำไมจึงเลือกแยมชนิดนั้นในขณะที่ชิมแยมที่ "เลือก" อีก ซึ่งผู้ทำการทดลองสับเปลี่ยน นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีอีกงานทดลองหนึ่งที่ทำโดยใช้การชิมชาอีกด้วย และก็ยังมีงานทดลองแบบเดียวกับอีกงานหนึ่ง ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองเลือกวัตถุสองอย่างที่แสดงในสไลด์ของไมโครซอฟท์ พาวเวอร์พอยต์ แล้วให้อธิบายเหตุผลที่เลือก ทั้ง ๆ ที่ความจริงได้มีการสับเปลี่ยนสิ่งที่ตนเลือกแล้ว
งานวิจัยอีกงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ก็ยังแสดงหลักฐานคัดค้านความคิดว่า ผู้ร่วมการทดลองสามารถเข้าใจโดยพินิจภายในว่า ลักษณะอะไรในคนอื่นเป็นตัวดึงดูดความสนใจของตน คือนักวิจัยตรวจสอบรายงานของผู้ร่วมการทดลองว่า อะไรเป็นตัวดึงดูดความสนใจของตนในเพศตรงกันข้าม ผู้ชายมักจะรายงานว่า รูปร่างความสวยงามเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่ผู้หญิงมักจะรายงานว่า ความสามารถในการหารายได้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ว่า ผลจากรายงานไม่สามารถใช้พยากรณ์การเลือกคู่ออกเดตได้ และไม่สามารถพยากรณ์พฤติกรรมเกี่ยวกับคู่ที่เลือกหนึ่งเดือนหลังจากนั้น
โดยสอดคล้องกับทฤษฎีความบอดเลือก นักวิจัยพบว่า เราสามารถถูกหลอกให้เชื่อได้ง่าย ๆ โดยใช้ตัวเตือนความจำที่ผิด ๆ ว่าเราได้เลือกอะไรสิ่งหนึ่งที่ความจริงแล้วไม่ได้เลือก มีผลเป็นการแสดง choice-supportive bias (ความเอนเอียงสนับสนุนการเลือก) ในความทรงจำไม่ว่าจะเชื่อว่าได้เลือกอะไร
ยังไม่ชัดเจนว่า การค้นพบเกี่ยวกับความบอดเลือกมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงหรือไม่ เพราะว่า เรามีเวลามากกว่าที่จะคิดถึงและใช้ข้อมูลเกี่ยวกับใบหน้าที่เห็น (แทนที่จะเป็นรูป) นักวิชาการท่านหนึ่งบ่งว่า
แม้ว่าทฤษฎี (คำอธิบาย) ที่ไม่ได้อาศัยประสบการณ์จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของคำอธิบายเหตุการกระทำของเรา แต่ไม่ใช่เป็นองค์ประกอบเดียวที่มีอิทธิพล เหมือนอย่างที่นิสเบ็ตต์และวิลสันได้ตั้งสมมติฐานไว้ตั้งแต่ต้น (คือ) ผู้กระทำจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่คนอื่นไม่มี รวมทั้งการเข้าถึงโดยพินิจภายในในระดับหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งเร้าที่เป็นเหตุในประเด็น และเกี่ยวกับกระบวนการทางความคิด และมีข้อมูลที่ดีกว่า (คนอื่น) เกี่ยวกับความแปรปรวนร่วมเกี่ยวระหว่างสิ่งเร้า-ปฏิกิริยา ในเรื่องพฤติกรรมของตนเอง
งานวิจัยที่ให้ผู้ร่วมการทดลองพินิจในภายในเพื่อหาเหตุ (ในการชอบ การเลือก หรือว่า การเชื่อ ในบางสิ่งบางอย่าง) บ่อยครั้งจะเห็นความเกี่ยวเนื่องกันของทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ร่วมการทดลองที่ลดลงหลังจากการพินิจภายในนั้น ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1984 มีการให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนว่า ตนมีความสนใจเกี่ยวกับเกมปริศนาที่ได้รับในระดับไหน แต่ก่อนที่จะให้คะแนน มีการให้กลุ่มหนึ่งคิดถึงและเขียนเหตุผลที่ชอบหรือไม่ชอบเกมปริศนา ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่ต้องทำ หลังจากนั้น ก็จะมีการบันทึกเวลาที่ผู้ร่วมการทดลองใช้เล่นแก้ปัญหาปริศนา ปรากฏว่าสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนที่ให้และเวลาที่เล่นของกลุ่มทดลอง มีระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมมาก
งานทดลองที่ติดตามมาตรวจดูว่า ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในสถานการณ์จริง ๆ หรือไม่ คือ ในงานนี้ ผู้ร่วมการทดลองล้วนแต่มีแฟนที่ไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอแล้ว มีการให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนว่า ตนเข้ากันได้ดีกับแฟนในระดับไหน มีการให้กลุ่มหนึ่งทำรายการเหตุผลว่าทำไมตนจึงมีความรู้สึกเช่นนั้น ๆ กับแฟน ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่ต้องทำ อีกหกเดือนต่อมา มีการเช็คผู้ร่วมการทดลองว่ายังมีแฟนคนเดียวกันหรือไม่ กลุ่มที่มีการพินิจภายในมีความสอดคล้องกันระหว่างทัศนคติ-พฤติกรรม ซึ่งก็คือระดับสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนที่ให้และการมีแฟนคนเดียวกัน ในระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม ผลงานทดลองแสดงว่า การพินิจภายในไม่ใช่เพียงแต่เป็นตัวพยากรณ์ที่ไม่ดีเท่านั้น แต่ว่า การพินิจภายในเองอาจจะมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ฉันแฟนนั้น
ผู้ทำงานวิจัยมีทฤษฎีว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีเหตุมาจากผู้ร่วมการทดลองเปลี่ยนทัศนคติ เมื่อต้องอธิบายเหตุผลความรู้สึกของตน โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ระดับสหสัมพันธ์ระหว่างองค์สองอย่างนี้ลดลง ผู้ทำงานวิจัยมีสมมติฐานว่า การเปลี่ยนทัศนคติเป็นผลจากองค์ประกอบหลายอย่างคือ
สาระสำคัญก็คือ เราพยายามที่จะสร้างเหตุผลที่ดีเมื่อต้องอธิบายเหตุผล ซึ่งมักจะนำไปสู่การกล่อมตนเองว่า ตนจริง ๆ มีความเชื่อ (คือมีทัศนคติ) อีกอย่างหนึ่ง (ที่ไม่เข้ากับพฤติกรรม)
ส่วนในงานทดลองที่ผู้ร่วมการทดลองเลือกสิ่งของที่จะเก็บไว้ ปรากฏว่ารายงานถึงความพอใจต่อสิ่งของนั้นจะลดระดับหลังจากการเลือกนั้น ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ทัศนคติมีการเปลี่ยนไปเพียงชั่วคราว แต่จะกลับไปที่ระดับเดิมเมื่อเวลาผ่านไป (คือการพินิจภายในมีผลเปลี่ยนทัศนคติหรือการแสดงความชอบใจในสิ่งนั้น แต่มีผลเพียงชั่วคราว ความชอบใจในสิ่งนั้นจะกลับไปที่จุดเดิม)
ตรงกันข้ามกับการพินิจภายในที่อาศัยเหตุผล เมื่อผู้ร่วมการทดลองทำการพินิจความรู้สึกภายใน ปรากฏกว่า ระดับสหสัมพันธ์ของทัศนคติ-พฤติกรรมจะเพิ่มขึ้น ซึ่งบอกเป็นนัยว่า การพินิจความรู้สึกภายใน ไม่ใช่เป็นกระบวนการที่ก่อโทษมากกว่าประโยชน์ (คือไม่เป็น maladaptive)
ในผลงานวิจัยคลาสสิกของพวกเขา นิสเบ็ตต์และวิลสันเสนอว่า เรื่องกุที่เกิดจากการพินิจภายใน มาจากทฤษฎีเหตุผลที่ไม่ได้อาศัยประสบการณ์ (คือเป็นคำอธิบายที่ไม่ได้อาศัยประสบการณ์) ซึ่งพวกเขาเสนอแหล่งกำเนิดที่เป็นไปได้ 4 อย่าง คือ
นิสเบ็ตต์และวิลสันให้ข้อสังเกตว่า การให้เหตุผลโดยอาศัยเหตุเหล่านี้ ไม่แน่ว่าจะนำไปสู่ความคิดผิด ๆ แต่ว่า ความคิดผิด ๆ เกิดขึ้นเพราะว่า ไม่ได้ประยุกต์ใช้องค์เหล่านี้อย่างถูกต้องในคำอธิบายเหตุผล
มีนักวิชาการที่เสนอว่า ความเอนเอียงหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะการใส่ใจมากเกินไปต่อความตั้งใจที่มี ยกตัวอย่างเช่น โดยใส่ใจในความตั้งใจดีที่มีอยู่ในขณะนี้ เราอาจจะประเมินโอกาสที่จะทำผิดศีลธรรมต่ำเกินไป
มีปรากฏการณ์ที่รู้จักกันชัดเจนแล้วอย่างหนึ่งคือ bias blind spot (จุดบอดเรื่องความเอนเอียง) ที่เราประเมินตนเองว่า มีโอกาสที่จะมีความเอนเอียงน้อยกว่าคนอื่นในกลุ่มเดียวกัน มีนักวิชาการที่เสนอว่า ปรากฏการณ์นี้มีได้เพราะการแปลการพินิจภายในผิด ในงานทดลองของนักวิชาการเหล่านั้น มีการให้ผู้ร่วมการทดลองทำการประเมินตนเองและผู้ร่วมการทดลองอื่น ผู้ร่วมการทดลองปรากฏว่ามีความเอนเอียงปกติทั่ว ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น มีการให้คะแนนตนเองมากกว่าผู้อื่นในเรื่องคุณลักษณะต่าง ๆ (แสดงว่ามีความเอนเอียงประเภท illusory superiority) ต่อจากนั้น ผู้ทำการทดลองก็อธิบายเรื่องความเอนเอียงทางประชาน และถามผู้ร่วมการทดลองว่า การประเมินของผู้ร่วมการทดลองได้รับอิทธิพลจากความเอนเอียงหรือไม่ ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนตนเองว่า มีโอกาสเสี่ยงต่อความเอนเอียงน้อยกว่าผู้ร่วมการทดลองอื่น (ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีความเอนเอียงประเภท bias blind spot) และเมื่อต้องอธิบายเหตุผลการประเมินของตน ผู้ร่วมการทดลองใช้วิธีการประเมินที่ต่างกันเมื่อประเมินความเอนเอียงของตนเอง และเมื่อประเมินผู้อื่น
นักวิจัยกลุ่มนี้ตีความว่า เมื่อเราจะประเมินว่าคนอื่นมีความเอนเอียงหรือไม่ เราจะสังเกตดูพฤติกรรมที่แสดงออก ในนัยตรงกันข้ามกัน เมื่อประเมินว่าเราเองมีความเอนเอียงหรือไม่ เราจะมองภายในตัวเรา สังเกตหาความคิดและความรู้สึกที่อาจมีแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความเอนเอียง แต่เนื่องจากว่า ความเอนเอียงต่าง ๆ ทำงานใต้จิตสำนึก ดังนั้น การพินิจภายในเช่นนี้จึงไม่สำเร็จประโยชน์ แต่ว่า เรามักจะเห็นความคิดความรู้สึกเหล่านั้นว่า เป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ว่า ตนเองไม่เสี่ยงต่อความเอนเอียงซึ่งไม่เหมือนกับคนอื่น
จากนั้นนักวิจัยก็พยายามให้ข้อมูลผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับการพินิจภายในของผู้อื่น คือ นักวิจัยอัดเสียงของผู้ร่วมการทดลองที่กล่าวเรื่องที่ตนคิดเมื่อกำลังประเมินตนเองว่า คำตอบที่ให้ในคำถามที่ผ่านมามีอิทธิพลจากความเอนเอียงหรือไม่ ผลก็คือ แม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองจะเชื่อว่าตนเองมีโอกาสน้อยที่จะมีความเอนเอียง แต่ว่าการรายงานการพินิจภายในของตน กลับไม่มีอิทธิพลต่อผู้อื่นเมื่อผู้อื่นประเมินความเอนเอียงของบุคคลนั้น
เมื่อถามว่า การมีความเอนเอียงมีลักษณะอย่างไร ผู้ร่วมการทดลองมักจะกำหนดความเอนเอียงโดยความคิดและแรงจูงใจที่ตนได้พินิจพิจารณา เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับตนเอง แต่จะกำหนดโดยพฤติกรรมที่แสดงออกเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้อื่น ส่วนในผู้ร่วมการทดลองที่มีการห้ามไม่ให้ใช้การพินิจภายใน การประเมินความเอนเอียงของตนจะตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีงานทดลองอื่น ๆ ที่แสดงว่า เราไม่สามารถสำนึกถึงความเอนเอียงที่เราเองมี เช่น ในงานทดลองของนิสเบ็ตต์และวิลสัน ซึ่งแสดงว่าเรามีความเอนเอียงในการที่จะเลือกสินค้าขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่วางแสดงสินค้า เช่นการทดลองที่แสดงถุงเท้าพบว่า ผู้บริโภคมีความเอนเอียงที่จะเลือกถุงเท้าด้านขวาสุดมากกว่าถุงเท้าด้านซ้ายสุดเป็นอัตราส่วนถึง 4 ต่อ 1 แต่เมื่อมีการถามผู้บริโภคว่า ตนมีความเอนเอียงเช่นนี้หรือไม่ ผู้บริโภคจะบอกว่าไม่มี ซึ่งขัดกับข้อมูลที่ได้ในการทดลอง:243 ซึ่งอาจจะบ่งถึงการการพินิจภายในที่ไม่แสดงความคิดและแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดความเอนเอียง
ในปี ค.ศ. 2007 มีงานวิจัยที่ศึกษาการกำหนดรู้การปรับตัวคล้อยตามสังคม (conformity) คือ ผู้ร่วมการทดลองรายงานว่า ตนเองสามารถอดทนต่อแรงกดดันในการปรับตัวให้คล้อยตามกับสังคมมากกว่าคนในกลุ่มเดียวกัน โดยสาระก็คือ ผู้ร่วมการทดลองเห็นตนเองว่า เป็นผู้เดียวในกลุ่มบุคคลที่ถูกชักจูงได้ง่าย การแปลการพินิจภายในผิดดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์นี้ เมื่อประเมินว่าคนอื่นเกิดการชักจูงเพราะแรงกดดันทางสังคมหรือไม่ ผู้ร่วมการทดลองจะพิจารณาแต่พฤติกรรมของบุคคลนั้น ยกตัวอย่างเช่น จะอธิบายความคิดเห็นทางการเมืองของคนอื่นว่า เป็นไปตามกลุ่มสังคมอย่างไร แต่ว่าเมื่อประเมินการปรับตัวคล้อยตามสังคมของตนเอง ผู้ร่วมการทดลองเห็นว่าการพินิจภายในของตนนั้นเชื่อถือได้ คือในใจของตนเอง ตนจะไม่พบเหตุจูงใจที่จะปรับตัว และดังนั้น ก็จะประเมินตนว่าไม่ได้รับอิทธิพลจากสังคม
ศาสตราจารย์จิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ดร. แดเนียล เว็กเนอร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอ้างว่า การแปลการพินิจภายในผิดมีผลต่อความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เช่น การเคลื่อนย้ายวัตถุโดยใจ (psychokinesis) เขาให้ข้อสังเกตว่า ในชีวิตประจำวันของเรา เจตนา (เช่นเพื่อเปิดไฟ) จะตามมาด้วยการกระทำ (เช่นการกดสวิตช์ไฟ) อย่างเชื่อถือได้ แต่ว่า กระบวนการที่เชื่อมต่อเหตุการณ์ทั้งสองความจริงแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยจิตเหนือสำนึก ดังนั้น แม้ว่าผู้ร่วมการทดลองอาจจะรู้สึกว่าตนได้ทำการพินิจเจตจำนงภายในของตนโดยตรง แต่ว่า จริง ๆ แล้ว ประสบการณ์ความรู้สึกว่าตนได้ทำการควบคุม ความจริงมาจากการอนุมานความสัมพันธ์ระหว่างความคิดและการกระทำ นี้เป็นทฤษฎีที่เรียกว่า "apparent mental causation" (การมีใจเป็นเหตุให้เกิดผลโดยประจักษ์) แต่ว่า กระบวนการที่ตรวจจับว่าตนเป็นเหตุของการกระทำหนึ่ง ๆ หรือไม่ ความจริงเชื่อถือไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเกิดความผิดพลาดแล้ว อาจทำให้เกิดการแปลสิ่งเร้าผิดว่าควบคุมได้ (illusion of control) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์ภายนอกเกิดตาม หรือเกิดตรงกับ ความคิดของเรา ทั้ง ๆ ที่ความคิดนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเหตุให้เหตุการณ์ภายนอกนั้นเกิดขึ้น
เพื่อเป็นหลักฐาน ดร. เว็กเนอร์ได้ยกชุดการทดลองเกี่ยวกับความคิดเชิงไสยศาสตร์ (magical thinking) ที่ผู้ร่วมการทดลองถูกหลอกให้คิดว่า ตนมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ภายนอก ในงานทดลองหนึ่ง ซึ่งให้ผู้ร่วมการทดลองดูนักกีฬาบาสเกตบอลทำการชู้ตลูกโทษ ถ้ามีการให้ผู้ร่วมการทดลองสร้างมโนภาพของนักกีฬาทำการชู้ตลูกโทษ ผู้ร่วมการทดลองจะรู้สึกว่าตนมีอิทธิพลชู้ตลูกโทษได้สำเร็จเพียงอาศัยความคิดนั้น
ถ้าการแปลการพินิจภายในผิดมีผลให้เกิดความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยถึงเจตจำนงเสรีจริง ๆ เราก็ควรที่จะอ้างถึงเจตจำนงเสรีในตนเองมากกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากผลงานวิจัยสามงาน คือ
แต่ว่า ให้สังเกตว่า มีงานวิจัยที่วิจารณ์ความผิดพลาดของข้ออ้างที่ ดร. เว็กเนอร์ให้เกี่ยวกับความสำคัญของการแปลการพินิจภายในผิด ต่อความรู้สึกถึงเจตจำนงเสรี
มีงานวิจัยที่เสนอว่า ผู้ร่วมการทดลองสามารถประเมินเวลาในการตอบสนองของตนได้อย่างแม่นยำ ซึ่งแสดงถึงการรู้ "กระบวนการทางจิตใจ" ของตน แม้ว่า จะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความใส่ใจและทรัพยากรทางประชานอื่น ๆ สูง (คือไม่สามารถทำได้ถ้าถูกกวนสมาธิเมื่อต้องทำการประเมิน) นักวิจัยของงานนี้เชื่อว่า การประเมินที่แม่นยำเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การตีความที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ (post-hoc interpretation) เท่านั้น แต่อาจจะเป็นกระบวนการที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่คนอื่นไม่มี (privileged information) นอกจากนั้นแล้ว การฝึกสติ (Mindfulness traning) สามารถเพิ่มสมรรถภาพของการพินิจภายในได้ในสถานการณ์บางอย่าง
งานของนิสเบ็ตต์และวิลสันยังได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการอื่น ๆ อีกหลายคนรวมทั้งนักจิตวิทยาทรงอิทธิพล ศ. ดร. เฮอร์เบิร์ต ไซมอน และ ศ. ดร. เค แอนเดอร์ส เอริคสัน
งานวิจัยที่ตรวจสอบผลของการให้ข้อมูลแก่ผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับความเอนเอียงใต้สำนึก ให้คะแนนตนเองว่าเสี่ยงต่อความเอีนเอียงแค่ไหน แสดงว่า ผู้ที่ได้รับข้อมูลจะไม่ปรากฏ bias blind spot (จุดบอดเรื่องความเอนเอียง) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งให้ความหวังว่า เมื่อทราบเรื่องความเอนเอียงใต้จิตสำนึกเช่นการแปลการพินิจภายในผิด เราจะสามารถหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ประกอบด้วยความเอนเอียงบางอย่าง หรือว่าอย่างน้อยที่สุด ก็จะให้รู้ว่าตนนั้นมีความเอนเอียง แต่ว่า มีงานวิจัยอื่น ๆ ที่มีผลที่ขัดแย้งกัน งานปริทัศน์งานหนึ่งเสนอว่า งานวิจัยที่เพียงแต่ให้คำเตือนว่า เรามีความเอนเอียงใต้จิตสำนึก จะไม่สามารถแก้ไขความเอนเอียงได้ ส่วนงานวิจัยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเอนเอียงและเน้นความเป็นไปใต้จิตสำนึกของความเอนเอียง จะสามารถแก้ความเอนเอียงได้ ดังนั้น ความรู้ว่า ความเอนเอียงสามารถเกิดขึ้นได้ใต้จิตสำนึก เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการแก้ปัญหาเรื่องความเอนเอียง
นอกจากนั้นแล้ว วิลสันยังได้พยายามหาวิธีแก้การแปลการพินิจภายในผิด คือ ในหนังสือ Strangers to ourselves (การเป็นคนแปลกหน้าต่อตนเอง) เขาเสนอว่า การสังเกตพฤติกรรมของตนมากกว่าความคิด อาจจะเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหานี้[ต้องการอ้างอิง]