การแปรอักษร เป็นลำดับการปฏิบัติมีการวางแผนและประสานงานที่ผู้ชมแสดง โดยสมาชิกยกป้ายซึ่งเมื่อรวมกันแล้วสร้างเป็นภาพที่รับรู้ได้ ภาพที่สร้างนั้นมีได้หลากหลายและด้วยการวางแผนอย่างระวัง ป้ายเดียวกันสามารถสร้างภาพต่าง ๆ กันได้โดยเปลี่ยนวิธีการยกป้ายอย่างเป็นระบบ แม้ปัจจุบันมีการแสดงการแปรอักษรในหลายงานยตั้งแต่กีฬาไปจนการชุมนุมทางการเมือง การแปรอักษรมักสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอเมริกันฟุตบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอลวิทยาลัย ตลอดจนฟุตบอล ทว่า เทศกาลอารีรังของเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรกที่ขยายการแปรอักษรเป็นรูปแบบศิลปะ โดยใช้ป้ายสมุดพลิกเพื่อสร้างลำดับแอนิเมชันมหึมานานนับชั่วโมง
การแปรอักษรในประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกในปี 2487 โดยเฉิด สุดาราแห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็น "บิดาแห่งการแปรอักษร"[ต้องการอ้างอิง] โดยได้ความคิดมาจากศิลปะ Mosaic โดยแปรอักษรครั้งแรกนั้น ม.เฉิดได้ให้นักเรียนแต่งชุดและหมวกสีขาวมานั่งเรียงเป็นพื้นแล้วเว้นช่องว่างเอาไว้เป็นคำว่า อ ส ช แล้วให้ยุวชนทหารใส่ชุดสีกากีแกมเชียวมานั่งให้เต็มทำให้เกิดเป็นคำว่า อ ส ช อย่างชัดเจนและมีการพัฒนาเรื่อยมาในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ตลอดจน งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ระยะแรกเป็นการแปรอักษรโดยใช้ผ้าสี มีการพัฒนาการแปรอักษรเป็นภาพเคลื่อนไหว โดยใช้ร่ม หรือการปรบมือซึ่งโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นผู้ริเริ่มรูปแบบนี้ขึ้น ประกอบการร้องเพลงเชียร์หรือการนับ[ต้องการอ้างอิง]
ส่วนการแปรอักษรเป็นภาพสี ในระยะแรกเป็นสมุดสีเย็บติดบนแผ่นไม้อัด ไม้อัดหนึ่งแผ่นมีสมุดสี 9 เล่มต่อด้าน เรียกว่า "เพลท 1:9" เวลาแปรอักษรจะใช้เพลทวางบนตักของผู้แปร ปัจจุบันเพลทแปรอักษรมักเป็นสมุดสีเย็บติดบนโครงลวด เพื่อให้มีน้ำหนักเบา เก็บรักษาและเคลื่อนย้ายสะดวก และมีช่องให้ผู้แปรสามารถมองเห็นกิจกรรมในสนามด้วย ความละเอียด 1:16 เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 เพลทแปรอักษรในปัจจุบันมักมีความละเอียด 1:16 มีขาตั้ง เพื่อความสะดวกสบายของผู้แปร และได้ภาพที่แปรเป็นระเบียบ พร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้เพลทแปรอักษรในปัจจุบันสามารถเป็นได้ตั้งแต่ 1:1 ไปจนถึง 1:576