การโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน (อังกฤษ: privatization) เป็นกรณีหรือกระบวนการโอนความเป็นเจ้าของธุรกิจ วิสาหกิจ หน่วยงาน บริการสาธารณะหรือทรัพย์สินจากภาครัฐ (รัฐหรือรัฐบาล) มาเป็นภาคเอกชน (ธุรกิจซึ่งดำเนินการเพื่อกำไรส่วนตน) หรือองค์การไม่แสวงหาผลกำไรเอกชน คำดังกล่าวยังใช้ในความหมายที่แตกต่างออกไปด้วย โดยหมายถึง การที่รัฐบาลจ้างบริษัทเอกชนทำงานแทน เช่น การเก็บรายได้และภาษีอากร การบังคับใช้กฎหมาย การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ และการจัดการเรือนจำหรือสถานคุมขังกักกัน
การแปรรูปกิจการของรัฐโดยทั่วไปเชื่อกันว่าจะเพิ่มผลผลิต กำไรและประสิทธิภาพขององค์การที่ถูกแปรรูป
ประวัติศาสตร์การแปรรูปกิจการของรัฐอันยาวนานมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ซึ่งรัฐบาลเซ็นสัญญาจ้างทุกอย่างแก่ภาคเอกชน ในสาธารณรัฐโรมัน ปัจเจกบุคคลและบริษัทเอกชนดำเนินบริการส่วนใหญ่ รวมทั้งการเก็บภาษี เสบียงกองทัพ การบวงสรวงและการก่อสร้างทางศาสนา อย่างไรก็ดี จักรวรรดิโรมันยังได้ก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ เช่น เมล็ดพันธุ์ส่วนมากท้ายที่สุดผลิตขึ้นบนที่ดินซึ่งจักรพรรดิทรงเป็นเจ้าของ นักวิชาการบางคนเสนอว่าราคาของระบบราชการนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน
บางทีหนึ่งในความเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ครั้งแรกแปรรูปกิจการของรัฐมีขึ้นระหว่างยุคทองของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ลัทธิเต๋าได้แสดงความเด่นชัดออกมาเป็นครั้งแรกในระบบรัฐ และได้สนับสนุนหลักการหวู่เว่ย (??, ความหมายตามตัวอักษร "ปล่อยตามเลย") ซึ่งคล้ายกับนโยบายไม่แทรกเซง ผู้ปกครองได้รับคำปรึกษาจากนักบวชลัทธิเต๋าว่า ผู้ปกครองที่เข้มแข็งนั้นต้องมองไม่เห็นอย่างแท้จริง
ระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ยุโรปส่วนใหญ่ยังเจริญรอยตามรูปแบบเศรษฐกิจศักดินาสวามิภักดิ์ ซึ่งแย้งกับราชวงศ์หมิงในจีนที่เริ่มการแปรรูปกิจการของรัฐอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต นโยบายดังกล่าวเป็นการพลิกกลับจากนโยบายสมัยราชวงศ์ซ่งก่อนหน้านี้ โดยพลิกนโยบายนี้เพื่อให้การควบคุมรัฐเข้มงวดยิ่งขึ้น
ในอังกฤษ การแปรรูปที่ดินสาธารณะ เรียกว่า การล้อมรั้วที่ดิน การแปรรูปกิจการสำคัญของรัฐตธรรมชาตินี้เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1760 ถึง 1820 โดยเกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศนั้น
ในสมัยใหม่ รัฐบาลวินสตัน เชอร์ชิลล์แปรรูปกิจการอุตสาหกรรมเหล็กกล้าอังกฤษเป็นของเอกชนในคริสต์ทศวรรษ 1950 และรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกเริ่มการแปรรูปกิจการของรัฐขนานใหญ่ รวมทั้งการขายกรรมสิทธิส่วนใหญ่ในโฟล์กสวาเกนไปให้นักลงทุนรายย่อยในการเสนอส่วนแบ่งสาธารณะใน ค.ศ. 1961 ในคริสต์ทศวรรษ 1970 พลเอกปิโนเชต์นำโครงการแปรรูปกิจการของรัฐอย่างมีนัยสำคัญไปปฏิบัติในชิลี อย่างไรก็ดี เป็นช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ภายใต้การนำของมาร์กาเรต แทตเชอร์ในสหราชอาณาจักรและโรนัลด์ เรแกนในสหรัฐอเมริกานี้เอง ที่การแปรรูปกิจการของรัฐเป็นกระแสไปทั่วโลก ในสหราชอาณาจักร การแปรรูปกิจการดังกล่าวสิ้นสุดลงด้วยการรถไฟอังกฤษภายใต้จอห์น เมเจอร์ ผู้สืบตำแหน่งต่อจากแทตเชอร์ ใน ค.ศ. 1993
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างสำคัญในยุโรปตะวันออกและกลางและอดีตสหภาพโซเวียตมีขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1990 ด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารโลก องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา เทราฮันด์ (Treuhand) ของเยอรมนี และองค์การภาครัฐและเอกชนอื่น
ในประเทศไทย การแปรรูปกิจการของรัฐ หรือที่มักเรียกว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นั้น มีการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2504 และมีระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ ซึ่งก็ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้วกว่า 40 แห่ง ปัจจุบันคงเหลือรัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง ด้วยผลของวิกฤตการณ์ทางการเงินในทวีปเอเชีย พ.ศ. 2540 ("วิกฤตต้มยำกุ้ง") รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาทางหนึ่งโดยบรรเทาภาระทางการเงินของรัฐบาล คือ ลดการเป็นเจ้าของและขนาดรัฐวิสหกิจ การแปรรูปจึงกำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มบนบาทของภาคเอกชนซึ่งรัฐวิสาหกิจดำเนินการอยู่ เป็นการเปิดเสรีให้มีการแข่งขัน