การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล (อังกฤษ: Fall of Constantinople) เกิดขึ้นหลังจากที่คอนสแตนติโนเปิลถูกล้อมและยึดเมืองได้โดยสุลต่านเมห์เมดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมันจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่นำโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 การล้อมเริ่มตั้งแต่พฤหัสบดีที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1453 และสิ้นสุดลงเมื่อวันอังคารที่ 29 พฤษภาคมของปีเดียวกัน (ตามปฏิทินจูเลียน) การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลเท่ากับเป็นการสิ้นสุดอำนาจของจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่รุ่งเรืองมากว่าพันหนึ่งร้อยปี ที่ขณะนั้นก็เริ่มแตกแยกกันปกครองโดยราชวงศ์กรีกหลายราชวงศ์
หลังจากการขึ้นครองราชย์ของสุลต่านเมห์เมดแล้ว พระองค์ก็ทรงเพิ่มความกดดันต่อคอนสแตนติโนเปิลโดยทรงสร้างเสริมป้อมปราการตามชายฝั่งช่องแคบดาร์ดาเนลล์ส (Dardanelles) เมื่อวันที่ 2 เมษายน พระองค์ก็ทรงเข้าล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลพร้อมด้วยกองทัพราวระหว่าง 80,000 ถึง 200,000 คน ตัวเมืองมีทหารรักษาราว 7,000 คนในจำนวนนั้น 2,000 เป็นชาวต่างประเทศ การล้อมเริ่มต้นด้วยการโจมตีด้วยการยิงกำแพงเมืองอย่างรุนแรงจากฝ่ายออตโตมันขณะที่กองทหารอีกจำนวนหนึ่งไปยึดที่ตั้งมั่นของฝ่ายไบแซนไทน์ในบริเวณนั้น แต่ความพยายามที่ปิดเมืองในระยะแรกโดยฝ่ายออตโตมันไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เรือกองหนุนของฝ่ายคริสเตียนสี่ลำเดินทางเข้าไปยังคอนสแตนติโนเปิลได้ สุลต่านเมห์เมดจึงมีพระราชโองการให้นำเรือของพระองค์เข้าไปยังแหลมทอง (Golden Horn) โดยลากขึ้นไปบนขอนไม้ที่ทำให้ลื่น ความพยายามของฝ่ายไบแซนไทน์ที่จะเผาเรือจึงไม่สำเร็จและสามารถทำให้ฝ่ายออตโตมันในที่สุดก็ปิดเมืองได้
การโจมตีกำแพงเมืองของฝ่ายตุรกีได้รับการโต้ตอบอย่างเหนียวแน่นจากฝ่ายไบแซนไทน์ที่ทำให้ต้องเสียกองกำลังไปเป็นจำนวนมาก และความพยายามที่จะระเบิดกำแพงเมืองลงก็ได้รับการตอบโต้เช่นกันจนในที่สุดก็ต้องเลิก สุลต่านเมห์เมดทรงเสนอว่าจะยุติการล้อมเมืองถ้าคอนสแตนติโนเปิลยอมให้พระองค์เข้าเมืองแต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ก็เกิดจันทรุปราคาที่เป็นลางถึงการเสียเมือง สองสามวันต่อมาจักรพรรดิคอนสแตนตินก็ทรงได้รับข่าวว่าจะไม่มีกองหนุนจากสาธารณรัฐเวนิสมาช่วย หลังเที่ยงคืนของวันที่ 29 พฤษภาคมกองทัพออตโตมันก็เข้าโจมตีกำแพงเมือง ระลอกแรกไม่ประสบความสำเร็จ ระลอกสองสามารถเจาะกำแพงทางตอนเหนือได้ แต่ฝ่ายไบแซนไทน์ก็สามารถตีฝ่ายออตโตมันกลับไปได้และสามารถยืนหยัดต่อต้านกองทหารชั้นเอก Janissaries ของตุรกีได้ ระหว่างการต่อสู้จิโอวานนิ จุสติเนียนินายทัพจากเจนัวก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องถอยกลับไปยังเรือกับกองทหารและเสียชีวิตในที่สุด ทางด้านจักรพรรดิคอนสแตนตินพระองค์และกองทหารก็ดำเนินการต่อต้านต่อไปจนกระทั่งฝ่ายตุรกีเปิดประตูเมืองและบุกเข้าไปในเมืองพร้อมกับกองทหารเป็นจำนวนมากได้ กล่าวกันว่าจักรพรรดิคอนสแตนตินทรงถูกสังหารระหว่างการต่อสู้แต่ก็มิได้พบพระวรกายของพระองค์ จากนั้นฝ่ายตุรกีก็ปล้นเมือง
การเสียเมืองครั้งนี้เป็นการสิ้นสุดอำนาจการปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์โดยสิ้นเชิงหลังจากที่รุ่งเรืองมากว่า 1,100 ปี และเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของคริสต์ศาสนจักร สมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ทรงมีโองการให้โจมตีโต้ตอบทันทีแต่พระองค์ก็มาสิ้นพระชนม์ไม่นานหลังจากที่ทรงวางแผน สุลต่านเมห์เมดทรงประกาศให้คอนสแตนตินโนเปิลเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิของพระองค์ และทรงดำเนินการโจมตีและพิชิตอาณาจักรของไบแซนไทน์อีกสองอาณาจักรได้--อาณาจักรเดสโพเททแห่งโมเรียและจักรวรรดิเทรบิซอนด์
ชาวกรีกที่ยังเหลืออยู่ในคอนสแตนตินโนเปิลก็หนีไปยังส่วนต่างๆ ของยุโรปโดยเฉพาะอิตาลี การเคลื่อนย้ายของประชากรครั้งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นเชื้อเพลิงที่ในที่สุดก็นำไปสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่าการเสียเมืองคอนสแตนตินโนเปิลเป็นเหตุการณ์หลักที่นำไปสู่การสิ้นสุดของยุคกลาง และบางท่านก็ใช้เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุด
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล