การเสด็จสู่วาแรน (ฝรั่งเศส: Fuite ? Varennes; เกิดขึ้นในคืนวันที่ 20 ย่างเช้าวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1791) คือเหตุการณ์สำคัญในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์ซึ่งพระเจ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส, พระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต และพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด ทรงล้มเหลวในความพยายามเสด็จหนีออกจากปารีสเพื่อทรงริเริ่มการปฏิวัติต่อต้าน จุดหมายปลายทางคือออสเตรียที่ซึ่งพระนางมารี อ็องตัวแน็ตประสูติและเจริญพระชันษามา อีกทั้งยังทรงตระหนักดีว่าจะทรงปลอดภัยจากข้อตกลงระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรียที่เพิ่งค้นพบใหม่ แต่ก็ทรงล้มเหลวเมื่อเสด็จไปได้ไกลเพียงเมืองวาแรน เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดพลิกผันของการปฏิวัติเนื่องจากทำให้การต่อต้านระบอบกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสในฐานะสถาบันและการต่อต้านองค์กษัตริย์และพระราชินีในฐานะปัจเจกบุคคลมีความเด่นชัดเพิ่มมากขึ้น ความพยายามครั้งนี้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกตั้งข้อกล่าวหาการกบฏจนในท้ายที่สุดนำไปสู่การสำเร็จโทษในปี ค.ศ. 1793
ท่าทีที่ไม่แน่ชัดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต่อข้อเรียกร้องจากการปฏิวัติเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝรั่งเศสต้องเสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซายในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1789 ไปประทับ ณ พระราชวังตุยเลอรีในปารีสแทน ซึ่งการแปรพระราชฐานดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์พระราชวังแวร์ซายถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ชุมนุมผู้โกรธแค้น แต่จากเหตุการณ์นี้เป็นต้นไปทำให้พระเจ้าหลุยส์มีพระอารมณ์เศร้าหมองเหมือนเป็นอัมพาตทางจิตใจ ทรงปล่อยให้ราชการแผ่นดินสำคัญส่วนมากตกอยู่ในการตัดสินพระราชหฤทัยของพระราชินีผู้ทรงไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมมาสำหรับพระราชกรณียกิจด้านการเมือง พระเจ้าหลุยส์ทรงถูกยุแหย่จากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต พระชายาให้เสด็จหนีออกจากปารีสไปยังชายแดนด้านตะวันออกสู่ออสเตรียในคืนวันที่ 20 ย่างวันที่ 21 มิถนายน ค.ศ. 1791 อันนำมาซึ่งความหายนะต่อตัวพระองค์เองและพระบรมวงศานุวงศ์ฝรั่งเศส การเสด็จหนีเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่มาร์กีซเดอตูร์แซล (Marquise de Tourzel) ข้าหลวงแห่งราชโอรสราชธิดาฝรั่งเศสปลอมตัวเป็นบารอนเนสชาวรัสเซีย, พระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต และมาดามเอลีซาแบ็ต พระขนิษฐภคินีของพระเจ้าหลุยส์ปลอมตัวเป็นข้ารับใช้หญิงของบารอนเนส, พระเจ้าหลุยส์ทรงรับบทเป็นพ่อบ้าน และเจ้าฟ้าชาย-หญิงพระองค์น้อยทรงรับบทเป็นบุตร-ธิดาของบารอนเนส แผนการทั้งหมดนี้ส่วนมากถูกวางแผนโดยเคานต์อักเซล ฟอน แฟร์เซน (Count Axel von Fersen) และบารงเดอเบรอเตย (Baron de Breteuil) การเสด็จครั้งนี้ถูกขัดขวางจากการที่พระเจ้าหลุยส์ถูกจดจำได้โดยบุรุษไปรษณีย์นามว่าฌ็อง-บาติสต์ ดรูแอ ณ เมืองแซ็งต์-เมอนู (Sainte-Menehould) จนท้ายที่สุดพระราชวงศ์ทุกพระองค์ก็ทรงถูกจับกุม ณ เมืองวาแรนซึ่งเป็นเมืองฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติ ห่างจากป้อมปราการฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์แห่งมงเมดีเพียง 50 กิโลเมตร นอกจากนี้ข่าวลือหนึ่งยังระบุว่ามีคนจดจำพระเจ้าหลุยส์ได้เป็นเพราะการจดจำพระฉายาลักษณ์บนธนบัตรได้ แม้ข้อเท็จจริงของข่าวลือนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง
เมื่อพระราชวงศ์เสด็จนิวัตปารีสภายใต้การอารักขา ฝูงชนนักปฏิวัติมองดูขบวนเสด็จพระราชดำเนินด้วยความเงียบงันอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ระลอกของความตกตะลึงแผ่เข้าไปในฝูงชนผู้จ้องมองไปยังองค์กษัตริย์ที่พวกเขาเกลียดชัง ทุกพระองค์ทรงถูกขุมขัง ณ พระราชวังตุยเลอรี และนับจากเหตุการณ์นี้เป็นต้นไปทำให้แนวคิดการล้มเลิกระบอบกษัตริย์และการสถาปนาสาธารณรัฐมีความเป็นไปได้มากขึ้น ทำให้ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจต่อพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญถูกบ่อนทำลายลงอย่างมากจากความพยายามในครั้งนี้
นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1791 เป็นต้นมา พระเจ้าหลุยส์ทรงฝากความหวังการช่วยชีวิตทางการเมืองของพระองค์ไว้กับการแทรกแซงจากต่างชาติ ในขณะเดียวกันก็ทรงสนับสนุนฝ่ายฌีรงแด็งในสภานิติบัญญัติประเด็นการทำสงครามกับออสเตรีย ซึ่งพระองค์ทรงคาดการณ์ว่าความหายนะของกองทัพฝรั่งเศสที่พ่ายแพ้ต่อออสเตรียจะนำพระองค์ไปสู่การฟื้นฟูพระราชอำนาจ พระเจ้าหลุยส์ทรงปฏิเสธข้อเสนอที่รับแจ้งโดยพระนางมารี อ็องตัวแน็ต จากกลุ่มนักนิยมรัฐธรรมนูญสายกลางนำโดยอ็องตวน บาร์นาฟว์ ในการที่จะให้พระองค์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ที่พระองค์เคยให้สัตยาบันว่าจะรักษาไว้อย่างเต็มรูปแบบ แทนการก่อปฏิวัติต่อต้าน
ในขณะเดียวกัน ความพยายามเสด็จหนีอันล้มเหลวของพระเจ้าหลุยส์ยังส่งสัญญาณเตือนไปยังพระมหากษัตริย์ยุโรปพระองค์อื่น ๆ ผู้ทรงหวาดพระทัยว่าการปฏิวัติในฝรั่งเศสจะลุกลามเข้ามายังราชอาณาจักรของตน ส่งผลให้เกิดความไม่สงบไปทั่วทุกหองระแหง ความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสกับประเทศเพื่อนบ้านที่ตึงเครียดจากการปฏิวัติอยู่แล้วยิ่งตึงเครียดมากขึ้นเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของบางประเทศเรียกร้องให้มีการทำสงครามต่อต้านรัฐบาลคณะปฏิวัติของฝรั่งเศส
การปะทุขึ้นของสงครามกับออสเตรียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1792 และการเผยแพร่คำประกาศเบราน์ชไวก์โดยแม่ทัพชาวออสเตรีย ชาลส์ วิลเลียม เฟอร์ดินานด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์ สั่นคลอนความอยู่รอดปลอดภัยของปารีสหากเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นกับพระราชวงศ์ นำไปสู่เหตุการณ์บุกโจมตีพระราชวังตุยเลอรีโดยชาวปารีสผู้นิยมฝ่ายซ้ายในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 เหตุการณ์การโจมตีนี้นำไปสู่การระงับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยสภานิติบัญญัติและการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ในวันที่ 21 กันยายน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน หลักฐานที่แสดงถึงข้อตกลงลับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับนักการเมืองแนวปฏิวัติผู้ล่วงลับ เคาต์แห่งมีราโบ รวมถึงแผนการปฏิวัติต่อต้านลับร่วมกับชาวต่างชาติถูกพบในหีบเก็บเอกสารลับในพระราชวังตุยเลอรี จึงทำให้บัดนี้ไม่อาจจะเสแสร้งได้อีกต่อไปว่าการปฏิรูปภายใต้การปฏิวัติที่เกิดขึ้นได้รับการยินยอมอย่างเสรีจากองค์กษัตริย์ นักสาธารณรัฐนิยมบางคนถึงกับเรียกร้องให้มีการเนรเทศพระองค์ ส่วนคนอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการจับกุมพระองค์ในข้อหากบฏและในข้อหาเอาพระราชหฤทัยออกห่างไปเข้ากับฝ่ายศัตรูของประชาชนชาวฝรั่งเศส ในวันที่ 3 ธันวาคม จึงมีการตัดสินให้ควรนำตัวพระเจ้าหลุยส์และพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งถูกกักขังมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม มาทรงเข้ารับการไต่สวนพิจารณาคดีในข้อหากบฏ พระเจ้าหลุยส์ทรงปรากฏพระองค์ต่อหน้าสภากงวองซิยงถึงสองครั้ง (11 และ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1792)
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกตัดสินว่ามีความผิดและทรงถูกสำเร็จโทษด้วยเครื่องกีโยตินในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ต่อมาในภายหลังพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตจึงถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหากบฏเช่นกันและถูกสำเร็จโทษด้วยเครื่องกีโยตินในวันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาเก้าเดือนภายหลังจากที่พระราชสวามีถูกสำเร็จโทษ