การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง' เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กำหนด เขตละ 1 คน
การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน ต้องคำนวณจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คน ส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีนั้น ให้นำจำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คนที่คำนวณได้มาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น หากจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คน และจังหวัดใดที่มีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คนก็ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดแล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบ 400 คน จังหวัดใดมีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุดก็ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีก 1 คน และเพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวให้แก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบ 400 คน
ในการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น จังหวัดที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน 1 คนให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 1 คน ต้องแบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และจังหวัดใดที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งมากกว่า 1 เขต ต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกันด้วย
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง