การเมืองไทยปัจจุบันอยู่ในระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารและเป็นนายกรัฐมนตรี คสช. ออกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาบางประเภท และกรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. (ประกาศที่ 37)
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งถูกเลิกไปแล้ว ประเทศไทยปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นประมุขแห่งรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากการถ่วงดุลอำนาจ ฝ่ายบริหารมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติของไทยอยู่ในระบบสภาคู่ แบ่งออกเป็นวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายตุลาการ มีศาลเป็นองค์กรบริหารอำนาจ
ส่วนใหญ่ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองเป็นระบบหลายพรรค กล่าวคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างเด็ดขาด จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมปกครองประเทศ
ตั้งแต่โบราณกาล ราชอาณาจักรไทยอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ประเทศไทยจึงอยู่ภายใต้การปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนฉบับแรกถูกร่างขึ้น อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยยังมีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองระหว่างอภิชนหัวสมัยเก่าและหัวสมัยใหม่ ข้าราชการ และนายพล ประเทศไทยเกิดรัฐประหารหลายครั้ง ซึ่งมักเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารชุดแล้วชุดเล่า จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและกฎบัตรรวมแล้ว 19 ฉบับ (นับรวมฉบับปัจจุบัน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างสูง หลังรัฐประหารแต่ละครั้ง รัฐบาลทหารมักยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว
ก่อนหน้าการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญใช้ในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์และประมุขฝ่ายบริหาร ในปี พ.ศ. 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร โดยคาดว่าจะเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในการปกครองประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นระหว่างกลุ่มมีอิทธิพล จึงได้เกิดรัฐประหารขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2477 รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการฉบับแรกของประเทศถูกยกเลิก และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
กฎบัตรและรัฐธรรมนูญทั้งหมดของประเทศไทยรับรองว่าประเทศปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่มีสมดุลของการแบ่งแยกอำนาจแตกต่างกันมาก รัฐบาลไทยส่วนใหญ่ปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญบางฉบับถูกเรียกว่าเป็นเผด็จการ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2500 ประเทศไทยได้เคยใช้ทั้งระบบสภาเดี่ยวและสภาคู่ และสมาชิกรัฐสภามีทั้งแบบเลือกตั้งและแต่งตั้ง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเช่นกัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ได้มีการประกาศใช้หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (พ.ศ. 2535) อย่างไรก็ตาม มีการอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นต้นเหตุของความยุ่งยากทางการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความโดดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับความเป็นประชาธิปไตยในตัวกฎหมาย นอกจากนี้ยังบัญญัติให้สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีการรับรองสิทธิมนุษยชนจำนวนมากตามกฎหมาย และมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถูกยกเลิก คณะรัฐประหารได้ประกาศกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นปกครองประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาให้คณะรัฐประหารมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารถูกบีบให้ยินยอมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและเทศบาลเป็นปกติในปี พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีการประกาศใช้หลังลงประชามติ โดยเนื้อหามีจุดเด่นด้านการเพิ่มสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน[ต้องการอ้างอิง] และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านองคกรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาจากคณะรัฐประหารปี 2549 ทั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาจากการสรรหา
ภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2556-2557 เกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ภายใต้การควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ปัจจุบัน คณะกรรมการชุดต่าง ๆ จากการสรรหาและแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รัฐบาลไทยมีบทบาทขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยรัฐชาติอันสถานปนาขึ้นครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังทรงผนวกดินแดนและอาณาจักรภายใต้ปกครองของอาณาจักรสยามขึ้นเป็นสยามประเทศ แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นองค์กรบริหารอำนาจนิติบัญญัติ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกินสองร้อยยี่สิบคนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน รวมกันไม่เกิน 36 คน ส่วนศาลไทยเป็นองค์กรบริหารอำนาจตุลาการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
นโยบายการต่างประเทศของไทยรวมไปถึงการสนับสนุนอาเซียน เน้นเสถียรภาพในภูมิภาค และให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพอันยาวนานกับสหรัฐอเมริกา
ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทเต็มในองค์กรทั้งระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ โดยได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีการจัดการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเศรษฐกิจทุกปี ความร่วมมือในภูมิภาคกำลังดำเนินการทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมืองและวัฒนธรรม ประเทศไทยยังได้ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก, อัฟกานิสถาน, อิรัก, บุรุนดี และปัจจุบัน ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน อีกด้วย
ณ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 มีพรรคการเมืองจดทะเบียนในประเทศไทยทั้งหมด 53 พรรคและยังมีสถานะเป็นพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
ขณะนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมหรือทำกิจกรรมใด ๆ ทางการเมืองตามกฎอัยการศึก และประกาศที่ 57/2557 นอกจากนั้น กิจกรรมทางการเมืองของประชาชนถือเป็นสิ่งต้องห้าม ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2557 ทางกกต.ทำหนังสือแจ้งพรรคการเมืองให้คืนเงินจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง เนื่องจากไม่มี พ.ร.บ.พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้สิ้นสุดไปแล้ว หลังจากหลายพรรคการเมืองออกมาขอให้ยกเลิกโดยให้พรรคการเมืองสามารถประชุมพรรคเพื่อการมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทางพล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวาณิช คณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ ได้พูดว่า "ทุกพรรคการเมืองจะให้ความร่วมมือ เพราะทุกพรรคคงต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะติดในเรื่องของห้วงเวลาที่อาจต้องขอเลื่อนออกไปบ้าง เพื่อการเตรียมความพร้อม ส่วนข้ออ้างของพรรคการเมือง ที่ระบุว่ายังไม่พร้อมให้ความเห็น เพราะไม่สามารถประชุมกรรมการบริหารพรรคได้ เนื่องจากติดคำสั่งห้ามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น เรื่องนี้พรรคการเมืองสามารถทำหนังสือถึง คสช. เพื่อขอประชุมกรรมการบริหารพรรคตามเงื่อนไขได้"
ในอดีต ประเทศไทยเคยมีระบบหลายพรรคการเมือง กล่าวคือ มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว การจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคที่เรียกว่า "รัฐบาลผสม"
ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สร้างระบบการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งใช้ระบบเลือกตั้งแบบเขตละคน ส่งผลให้พรรคใหญ่ได้เปรียบในการเลือกตั้ง
สังศิต พิริยะรังสรรค์แสดงความเห็นว่า "รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็มีจุดอ่อนบางประการที่เป็นที่รับรู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้วคือ รัฐธรรมนูญมีอคติที่ส่งเสริมพรรคการเมืองขนาดใหญ่มากกว่าพรรคการเมืองขนาดเล็ก นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ ส.ส. ในสภาฯ ตรวจสอบการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี และ รมต. ได้ค่อนข้างยาก เมื่อประกอบกับการที่นักการเมืองมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นและการมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างรุนแรง การเมืองไทยจึงตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่ระบบการเมืองไม่สามารถเยียวยา แก้ไขตัวเองได้ด้วยตนเอง จนนำไปสู่การต่อต้านของภาคประชาชน และจบลงด้วยการรัฐประหารของคณะทหาร"
ระบบสองพรรคในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น สมัยที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภาจนไม่จำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาล นอกจากนี้ พรรคไทยรักไทย (ต่อมาคือ พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย) และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสองพรรคการเมืองใหญ่สุด
การเลือกตั้งของประเทศไทย เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศไทย อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย, วุฒิสภาไทย, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วยการให้ประชาชนออกเสียงเลือกบุคคลที่เห็นสมควร
ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 25 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา โดยครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557
สำหรับประเทศไทย การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ และตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา อำนวยการโดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ
ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น คนไทยรวมตัวกันอยู่ในลักษณะนครรัฐ โดยยกตัวอย่างเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ถึงแม้ว่าจะมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการปกครอง แต่ก็ยังคงมีอำนาจภายในกลุ่มแคว้นต่าง ๆ เช่น สุพรรณบุรี ลพบุรี สุโขทัย เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ซึ่งหากกลุ่มอำนาจใดที่ครองอำนาจอยู่ในเมืองหลวงเพลี่ยงพล้ำให้แก่กลุ่มอื่น ๆ แล้วก็สามารถถูกชิงอำนาจไปได้เช่นกัน เช่น ราชวงศ์อู่ทองถูกแคว้นสุพรรณบุรีชิงอำนาจไปในสมัยขุนหลวงพะงั่ว
อย่างไรก็ตาม อาณาจักรอยุธยาสามารถรวบรวมอำนาจบางกลุ่มผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับตนได้สำเร็จ โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงใช้กุศโลบายต่าง ๆ ทั้งความสัมพันธ์เครือญาติ การปฏิรูปการปกครองไปจนถึงการใช้กำลังทหาร เพื่อผนวกเอาแคว้นสุโขทัยมาเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา สมัยดังกล่าวยังมีการปกครองที่เป็นปึกแผ่นมากขึ้น กระทั่งการล่มสลายอย่างสิ้นเชิงก็ไม่สามารถทำลายความรู้สึกของผู้คนตามไปด้วยได้ จึงนำไปสู่การเกิดใหม่ของกรุงศรีอยุธยาเป็นกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
การปกครองของไทย ในสมัยสุโขทัยเป็นแบบพ่อปกครองลูก ในสมัยอยุธยาเป็นแบบเทวราชา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นธรรมราชาจากอิทธิพลของศาสนาพุทธเมืองการปกครอง ซึ่งใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ท่ามกลางภัยคุกคามลัทธิอาณานิคมของยุโรป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการปรับปรุงบ้านเมืองโดยสร้างรัฐชาติ อันเป็นการยกระดับจากชุมทางแห่งอำนาจมาเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจบนดินแดนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแทน ซึ่งได้พัฒนาต่อมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ การก่อตั้งกระทรวงเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างทันสมัย และการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ระหว่างการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้มีการยกเลิกเจ้าเมืองท้องถิ่นตามหัวเมืองเพื่อประโยชน์ของการกระชับอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง นอกจากประโยชน์เพื่อป้องกันการเป็นเมืองขึ้นชาติอื่นแล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้ได้เปลี่ยนความสัมพันระหว่างขุนนางและพระมหากษัตริย์ไทย โดยทำให้พระมหากษัตริย์ไทยมีอำนาจมากขึ้น ตามความเห็นของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รูปแบบความสัมพันธ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 นอกจากแนวคิดแบบตะวันตกเรื่องการรวมศูนย์อำนาจและชาติรัฐแล้ว แนวคิดด้านการเลิกทาสได้เข้ามาในไทยด้วยเช่นกันซึ่งได้ส่งผลให้มีการเลิกทาส ในระยะหลังเริ่มมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เข้ามาจากการติดต่อกับตะวันตกเช่นกัน
ต่อมาได้มี การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพฤตการณ์ "ชิงสุกก่อนห่าม" ในขณะที่บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นช้าเกินไป อันเป็นสาเหตุของ "วงจรอุบาทว์" เพราะเกิดช้าเกินกว่าที่ประชาธิปไตยจะพัฒนาไปอย่างมั่นคงในประเทศไทย อีกทั้งการปฏิวัติด้วยมือของคณะทหารทำให้การเมืองเป็นลูกไล่ของทหารและข้าราชการ
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พลังของชนชั้นกลางเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าเขตชนบทจะให้คะแนนเสียงส่วนใหญ่มาจัดตั้งรัฐบาล แต่เสถียรภาพของรัฐบาลจะมาจากประชาชนในเขตเมือง