การเดินขบวน (อังกฤษ: demonstration) เป็นรูปแบบหนึ่งของการเคลื่อนไหวโดยปราศจากความรุนแรง (nonviolent) ของกลุ่มบุคคลเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรืออื่น ๆ ซึ่งปรกติมักมีการเดินรณรงค์เป็นขบวน และมีการชุมนุมพูดจาปราศรัย และบางทีก็อาจมีการปิดล้อม (blockade) และการยึดพื้นที่ประท้วง (sit-in) ด้วย ซึ่งการเดินขบวนจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งในลัทธิกิจกรรมนิยม (activism) อันเป็นความนิยมกระทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายทางการเมืองของกลุ่มตน
การเดินขบวนอาจมีขึ้นเพื่อแสดงมุมมองเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองด้านบวกก็ดี ด้านลบก็ดี และประเด็นเช่นว่ามักเกี่ยวกับการร้องทุกข์หรือความอยุติธรรมทางสังคม แต่บางครั้งก็เกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดยผู้เดินขบวนมักเห็นว่ากิจกรรมของตนจะประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นถ้ามีผู้ร่วมกิจกรรมมากขึ้น
ในภาษาอังกฤษ คำ "demonstration" เพิ่งเริ่มใช้ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อแทนที่ "monster meeting" อันหมายความว่า "การชุนนุมของอมนุษย์" ซึ่งคำ "demonstration" นั้นบัญญัติขึ้นโดยกลุ่มผู้ประท้วงในไอร์แลนด์ที่ได้รับอิทธิพลในการชุมนุมจากนักการเมือง แดเนียล โอคอนเนล (Daniel O'Connell)
การเดินขบวนบางคราเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และบางคราก็เป็นการเคลื่อนไหวที่วางแผนหรือชั้นเชิงไว้เรียบร้อยแล้ว โดยปรกติมักเกิดขึ้นในที่สาธารณะ แต่การเดินขบวนในที่เอกชนก็อาจเป็นไปได้ เช่น เพื่อจูงใจบุคคลกลุ่มเล้ก ๆ นอกจากนี้ การเดินขบวนมักเป็นการกระทำทางกายภาพ แต่การเดินขบวนเสมือนจริงและการเดินขบวนออนไลน์ก็มีได้ดุจกัน
การเดินขบวนภายในความอำนวยการของรัฐบาล (government-organized demonstration) เป็นการเดินขบวนที่รัฐบาลจัดขึ้น เช่น ใน อิหร่าน,จีน,คิวบา, และ สหภาพโซเวียต
บางครั้งบางครา เวลาที่เดินขบวนมักเกี่ยวข้องกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม เช่น การเวียนมาบรรจบ (anniversary) ของเหตุการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในการเดินขบวน
ส่วนสถานที่เดินขบวนมักได้รับการเลือกด้วยเหตุผลว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเช่นว่า เช่น จะเรียกร้องเกี่ยวกับต่างประเทศ อาจไปเดินขบวนที่สถานทูตของประเทศนั้น
การเดินขบวนนั้น ปรกติถือว่าเป็นยุทธการอันปราศจากความรุนแรงโดยปรกติ แต่ก็อาจบานปลายไปสู่ความรุนแรงกลายเป็นการจลาจล (riot) หรือ ฝูงชนวุ่นวาย (mob) เพื่อต่อต้านวัตถุบางอย่าง เช่น รถยนต์ ธุรกิจ ผู้มุงดูเหตุการณ์ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ได้
ในการควบคุมความรุนแรงข้างต้น เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ว่าทหารหรือตำรวจ มักใช้ "กำลังไม่ถึงตาย" (non-lethal force) กล่าวคือ ใช้วิธีการที่ไม่ก่ออันตราย เช่น ปืนกระตุ้นด้วยกระแส แต่บางที ความรุนแรงเช่นนี้อาจเป็นผลมาจากการใช้อาวุธดังว่าจนเกินพอดี และนำไปสู่การปลุกเร้าความขัดแย้ง
ตาม "พระราชบัญญัติความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ซึ่งกระทำเป็นองค์กรและการตำรวจ ค.ศ. 2005" (Serious Organised Crime and Police Act 2005) และ "พระราชบัญญัติการก่อการร้าย ค.ศ. 2006" (Terrorism Act 2006) "พื้นที่ต้องห้าม" (protected site) เป็นท้องที่ที่ห้ามประชาชนเข้าไป เดิมได้แก่ กรมกองทหารและคลังแสงนิวเคลียร์ ต่อมาได้ร่วมท้องที่ทางการเมือง เช่น ถนนดาวนิง (Downing Street) พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) เป็นต้น เข้าไปด้วย
ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก (First Amendment of the United States Constitution) ได้อนุญาตให้เดินขบวนและชุมนุมอย่างสันติ โดยเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อปลดเปลื้องความเดือดร้อนสาธารณะ