การเจริญเรตินาขึ้นมาทดแทน (อังกฤษ: Retinal regeneration) เป็นการคืนสภาพหน้าที่ของเรตินาในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรตินา ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร "Proceedings of the National Academy of Sciences (รายงานการประชุมของบัณฑิตสถานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ[ประเทศสหรัฐอเมริกา])" กลุ่มนักวิจัยของ Nuffield Laboratory of Ophthalmology (แล็บจักษุวิทยานัฟฟิลด์) นำโดย ดร. รอเบิร์ต แม็คลาเร็นของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด คืนการเห็นให้กับหนูตาบอดสนิทโดยฉีดเซลล์รับแสงเข้าไปในตา เดิมหนูไม่มีเซลล์รับแสงในเรตินา และไม่สามารถแม้จะบอกว่าอยู่ในที่สว่างหรือที่มืด นอกจากนั้นแล้ว ผลที่น่าพอใจใช้วิธีรักษาแบบเดียวกันก็ปรากฏด้วยกับหนูที่ตาบอดกลางคืน (night-blind) แม้ว่าจะยังมีคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของการเห็นที่ได้คืนมา วิธีการรักษานี้ให้ความหวังกับคนไข้ที่มีปัญหาในการเห็นและคนไข้โรคตาเสื่อมเช่นโรคอาร์พี (retinitis pigmentosa)
วิธีการรักษาใช้การฉีดเซลล์ตั้งต้นของเซลล์รูปแท่งที่ได้เกิดสภาพเป็น "ชั้น outer nuclear layer ที่มีสรีรภาพที่เฉพาะเจาะจงและสามารถเกิดสภาพ polarization ได้ตามสมควร" (ดูเพิ่มที่เรตินา) และหลังจากนั้น 2 อาทิตย์เรตินาก็คืนสภาพการเชื่อมต่อและการเห็น เป็นข้อพิสูจน์ว่า เป็นไปได้ที่จะสร้างชั้นเรตินาไวแสงทั้งชั้นขึ้นมาใหม่ นอกจากนั้นแล้ว นักวิจัยที่โรงพยาบาลจักษุมัวร์ฟิลด์ส (Moorfields Eye Hospital) ได้ใช้เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ที่อยู่ในระยะเอ็มบริโอเพื่อทดแทนชั้น pigmented layer ของเรตินาในคนไข้โรค Stargardt's disease
อีกอย่างหนึ่ง ยังมีนักวิจัยที่คืนการเห็นให้กับคนไข้ตาบอดด้วยเรตินาเทียมซึ่งทำงานโดยกระบวนการเดียวกันคือทดแทนการทำงานของเซลล์รับแสงในเรตินา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติการวางตลาดเรตินาเทียมคือ Argus II Retinal Prosthesis System ซึ่งเป็นระบบแรกที่ได้รับการอนุมัติเพื่อรักษาโรคจอตาเสื่อม ซึ่งสามารถช่วยผู้ใหญ่โรคอาร์พีที่ได้สูญเสียการรับรู้รูปร่างสัณฐานและการเคลื่อนไหว เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดียิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การเจริญเรตินาขึ้นมาทดแทน