การเกณฑ์ทหารเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับการรับราชการทหารไว้ตั้งแต่การลงบัญชีทหารกองเกิน การรับหมายเรียก การตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการ การเรียกพล การระดมพล และการปลด
ชายไทยเริ่มเป็นทหารกองเกินนับแต่อายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์และได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ ทหารกองเกินอาจถูกเรียกไปรับการตรวจเลือกเพื่อเข้ากองประจำการได้เมื่ออายุครบยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินเมื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการครบกำหนด หรือ สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด หรือ มีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ จะถูกปลดเป็นทหารกองหนุน เมื่อเวลาผ่านไปหรืออายุครบตามที่กำหนดทหารกองหนุนก็จะถูกปลดพ้นราชการทหารต่อไป ในระหว่างที่เป็นทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนนั้น อาจถูกเรียกพลได้ตามที่กระทรวงกลาโหมเห็นสมควร และอาจถูกระดมพลได้หากมีพระราชกฤษฎีกา
ชายไทยจำนวนมากไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการเพราะผ่านการเรียนรักษาดินแดนครบสามปี หรืออาจมีเหตุได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันได้ตามที่กฎหมายกำหนดทำให้ไม่ต้องไปรับการตรวจเลือกหรือไปในวันตรวจเลือก แต่ถูกคัดออกเสียก่อน สำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนรักษาดินแดน หรือ เรียนไม่ครบหลักสูตรตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (ไม่จบชั้นปีที่ 3) หรือ ผ่อนผันครบกำหนดแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกเข้ากองประจำการเต็มขั้น โดยถูกจำแนกออกเป็นสี่จำพวกตามความสมบูรณ์ของร่างกาย หากมีผู้ประสงค์สมัครใจเข้ากองประจำการเต็มจำนวนที่รับแล้ว ก็จะไม่มีการจับสลาก ส่วนในกรณีที่มีผู้สมัครไม่พอและมีคนให้เลือกมากกว่าจำนวนที่ต้องการก็จะใช้วิธีจับสลากใบดำใบแดง ผู้จับได้ใบแดงจะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
แม้จะมีบทลงโทษที่ร้ายแรง ก็มีรายงานการช่วยให้พ้นจากการรับราชการทหารกองประจำการด้วยวิธีนานาประการอยู่เนืองๆ ซึ่งหลายครั้งก็เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม
ในเรื่องการรับราชการทหารมีวิธีนับอายุต่างออกไปจากวิธีการนับอายุตามกฎหมายอื่น โดยกำหนดให้ถ้าเกิดในพุทธศักราชใดให้ถือว่ามีอายุครบหนึ่งปีบริบูรณ์เมื่อสิ้นพุทธศักราชที่เกิดนั้น ส่วนการนับอายุต่อไปให้นับเฉพาะปีที่สิ้นพุทธศักราชแล้ว
ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี บริบูรณ์ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายในพุทธศักราชนั้น ที่อำเภอท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่โดยจะได้รับใบสำคัญ สด. ๙ เมื่อลงบัญชี ณ อำเภอใดแล้ว อำเภอนั้นจะเป็นภูมิลำเนาทหารของทหารกองเกินผู้นั้น ภูมิลำเนาทหารเป็นภูมิลำเนาเฉพาะไม่เกี่ยวข้องกับทะเบียนบ้านหรือสำมะโนครัว การจะย้ายภูมิลำเนาทหารต้องกระทำที่อำเภอแยกต่างหากจากการย้ายภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร ทหารกองเกินที่ย้ายทะเบียนราษฎร์จะย้ายภูมิลำเนาทหารด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่มีหน้าที่แจ้งต่อนายอำเภอทุกครั้งที่ไปอยู่ต่างถิ่นเป็นเวลาเกินกว่า 30 วัน หากไม่แจ้งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท
ภูมิลำเนาทหารมีความสำคัญต่อทหารกองเกินอย่างมากเพราะเป็นสถานที่ที่ทหารกองเกินต้องไปรับการตรวจเลือก ในแต่ละท้องที่ก็มีจำนวนทหารกองเกินและความต้องการของฝ่ายทหารที่กำหนดมาต่างกัน การอยู่ในภูมิลำเนาทหารที่ต่างกันจึงมีผลตรวจเลือกเข้ารับกองประจำการ และเป็นช่องทางให้มีผู้หลีกเลี่ยงการเป็นทหารใช้หลบเลี่ยงไปได้
ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น โดยจะได้รับหมายเรียก สด. ๓๕ เพื่อให้มารับการตรวจเลือกในปีถัดไป
ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ขึ้นบัญชีทหารกองเกินหรือไม่มารับหมายเรียกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่ยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด ผู้นั้นได้มาขอลงบัญชีทหารกองเกิน หรือ มารับหมายเรียกแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามกำหนดหมายนั้น ในวันตรวจเลือกนั้นนอกจากหลักฐานทางทหารและบัตรประจำตัวประชาชนแล้วให้นำหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย
ผู้ใดหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกหรือมาแต่ไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จเพื่อรับหลักฐานใบรับรองผลการตรวจเลือก (สด. ๔๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ผู้กระทำความผิดตามข้อนี้นี่เองที่มักเรียกกันว่า หนีทหาร
ผู้มาเข้ารับการตรวจเลือก หากไม่สามารถใช้สิทธิ์ผ่อนผัน จะถูกกรรมการตรวจเลือกแบ่งออกเป็น 4 จำพวก ได้แก่
ตามกฎกระทรวงดังกล่าวบุคคลที่จะรับราชการทหารได้ต้องมีขนาดรอบตัว 76 เซนติเมตรขึ้นไปเวลาหายใจออก และสูงตั้งแต่ 146 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ทางทหารจะได้ประกาศอีกครั้งในแต่ละปี ว่าจะคัดบุคคลที่มีขนาดใดขึ้นไป ซึ่งมักจะสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ในช่วงระยะเวลานั้นชายไทยที่อยู่ในอายุเกณฑ์ทหารอาจยังมิได้มีขนาดร่างกายเช่นในปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]
วิธีการคัดเลือกจะเลือกจากคนจำพวกที่ 1 ก่อน หากคนจำพวกที่ 1 ไม่พอให้เลือกจากคนจำพวกที่ 2 ด้วย หากคนจำพวกที่ 2 ไม่พอให้นำคนที่ผ่อนผันอยู่มาคัดเลือกด้วยตามขั้นตอนข้างต้น (แบ่งเป็น 4) จำพวก หากมีคนเกินกว่าจำนวนที่ทางทหารต้องการให้จับสลาก โดยแบ่งออกเป็นใบดำและใบแดงซึ่งเขียนแผนกของกองประจำการไว้ เป็นที่มาของการจับใบดำใบแดง ผู้จับได้ใบแดงต้องเข้ารับราชการทหารในกองประจำการ โดยจะได้หมายนัดเข้ารับราชการทหาร (สด. ๔๐)
คนจำพวกที่ 3 และ 4 ในการตรวจเลือกจะไม่ถูกส่งตัวเข้ากองประจำการ คนจำพวกที่ 3 ให้มาตรวจเลือกในคราวถัดไป เมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกแล้วยังเป็นคนจำพวกที่ 3 อยู่ 3 ครั้งให้งดเรียก คนจำพวกที่ 3 เมื่อมาตรวจเลือกจะได้ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 3 (สด. ๔) ส่วนคนจำพวกที่ 4 ได้รับใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (สด. ๕)
ทุกคนต้องได้รับใบรับรองผลการตรวจเลือก สด. ๔๓ ในวันตรวจเลือกจากกรรมการตรวจเลือกเท่านั้น หากได้รับในวันอื่นหรือจากบุคคลอื่นให้สันนิษฐานว่าเป็นของปลอม ผู้นำไปใช้มีความผิดตามกฎหมาย และถือว่าผู้นั้นไม่ได้มาเข้ารับการตรวจเลือกอย่างถูกต้อง
มีบุคคลบางจำพวกที่ไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติสามประเภท ได้แก่ บุคคลที่ได้รับการยกเว้น และบุคคลที่ไม่ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือก สองประเภทนี้ไม่ต้องไปรับการตรวจเลือกเลย ส่วนบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันต้องเข้ารับการตรวจเลือกทุกปี
พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์
พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน ซึ่งเป็นนักธรรมตามที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง
นักบวชศาสนาอื่นซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้
บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
ครูซึ่งประจำทำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่างๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้
ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วนให้ไปราชการอันสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง
ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ หรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรบหรือการสงคราม อันเป็นอุปกรณ์ในการรบหรือการสงครามและอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม
ป่วยไม่สามารถจะมาได้ โดยให้บุคคลซึ่งบลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก
กรณีตาม หรือ ต้องได้รับการผ่อนผันเฉพาะคราวจากรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดาซึ่งไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพหรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู แต่ถ้ามีบุตรหลายคนจะต้องเข้ากองประจำการพร้อมกัน คงผ่อนผันให้คนเดียวตามแต่บิดาหรือมารดาจะเลือก ถ้าบิดาหรือมารดาไม่สามารถจะเลือกได้ก็ให้คณะกรรมการตรวจเลือกพิจารณาผ่อนผันให้หนึ่งคน
บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรซึ่งมารดาตายหรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ และบุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงพี่หรือน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาซึ่งบิดามารดาตาย ทั้งนี้เมื่อบุตรหรือพี่หรือน้องนั้นหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู
ผู้อ้างสิทธิตาม หรือ แห่งมาตรานี้ ต้องร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอท้องที่ก่อนวันตรวจเลือกเข้ากองประจำการไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีพิเศษซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ร้องและผู้ร้องต้องร้องต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกตามมาตรา 30 อีกครั้งหนึ่ง นายอำเภอต้องสอบสวนหลักฐานไว้เสียก่อนวันตรวจเลือก เพื่อคณะกรรมการตรวจเลือกจะได้ตัดสินได้ทันที การขอผ่อนผันตาม ให้แจ้งผ่านทางสถานศึกษา
ถ้าไม่สามารถจะผ่อนผันพร้อมกันทั้งสามประเภทได้ เพราะจะทำให้คนไม่พอจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ ให้ผ่อนผันคนประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 รวมกันก่อน ถ้าคนยังเหลือจึงผ่อนผันคนประเภทที่ 3 ถ้าจำนวนคนในประเภทใดจะผ่อนผันไม่ได้ทั้งหมดต้องให้คนประเภทนั้นจับสลาก
หากทหารกองเกินซึ่งมีอายุยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ในปีที่จะเข้ากองประจำการไม่พอ ให้เรียกทหารกองเกินซึ่งมีอายุถัดจากอายุยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไปตามลำดับ โดยเรียกผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก ผู้หลีกเลี่ยงขัดขืน ผู้พ้นจากฐานะยกเว้นหรือผ่อนผัน ผู้ที่รับการผ่อนผันตามมาตรา 29 หรือ ผู้ถูกจัดเข้าเป็นคนจำพวกที่ ๓ มาตรวจเลือกอีก
บุคคลที่ตรวจเลือกเข้ามาเพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ โดยปกติมีระยะเวลาสองปี แต่สำหรับผู้มีคุณวุฒิต่างๆ อาจมีระยะเวลาเข้ารับราชการกองประจำการน้อยกว่าสองปีได้
นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3 , ชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และ นำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ และถือว่าเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพแล้ว ทางราชการมีสิทธิ์เรียกพลเพื่อตรวจสอบสภาพ , ตรวจสอบบัญชีรายชื่อ หรือ เพื่อฝึกวิชาทหาร ได้ทุกเวลา ซึ่งถ้ามีการเรียกพล ทางอำเภอจะส่งหมายเรียกไปที่บ้านของผู้นั้น เพื่อนัดวัน เวลา และ สถานที่ ซึ่งผู้ถูกเรียกพล ต้องมารายงานตัวตาม วัน เวลา และ สถานที่ที่กำหนดไว้ โดยมีกำหนดการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร 10 ปี ตามเงื่อนไขของระบบการกำลังพลสำรอง ซึ่งการเรียกพลจะกระทำจนถึงอายุ 29 ปีบริบูรณ์ ถ้าหากทหารกองหนุนท่านใดหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษ ตาม พ.ร.บ. การรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
ทหารกองหนุนท่านใดที่กำลังเรียนรักษาดินแดนต่อในชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 สามารถขอผ่อนผันการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหารได้ โดยต้องนำ สด.8 (สมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ 1) และ เอกสารขอผ่อนผันมายื่นที่อำเภอให้เรียบร้อยอย่างถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามวิธีการผ่อนผันที่ถูกต้อง จะถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้สำเร็จนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ที่ไม่ได้ผ่อนผันการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร แต่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกพลเช่นกัน
ทหารกองประจำการเมื่ออยู่ในกองประจำการจนครบกำหนดแล้วแล้วให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1
นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1
ผู้ถูกปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ในสองกรณีข้างต้นจะได้รับหนังสือสำคัญ สด. 8 (สมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ 1) โดยเป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 1 เจ็ดปี ทหารกองหนุนชั้นที่ 2 สิบปี ทหารกองหนุนชั้นที่ 3 หกปี ตามลำดับก่อนที่จะพ้นราชการทหารประเภทที่ 1
ทหารกองเกิน ที่ไม่ได้เรียนนักศึกษาวิชาทหาร (รด) หรือ เรียนวิชาทหาร แต่ไม่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 แต่จับฉลากได้ใบดำ ก็คือไม่ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ หรือ ทหารกองประจำการที่กระทำความผิดจนกระทั่งมีโทษถึงติดคุก รอลงอาญา เมื่อมีอายุครบกำหนดปลดแล้ว ให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ตามลำดับ คือ อายุสามสิบปีบริบูรณ์เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 2 อายูสี่สิบปีบริบูรณ์เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 3 ตามลำดับ และเมื่ออายุสี่สิบหกปีบริบูรณ์ให้พ้นราชการทหารประเภทที่ 2
ทหารกองหนุนไม่ต้องรับหมายเรียกเพื่อตรวจเลือกเข้ากองประจำการ แต่อาจถูกเรียกพลหรือระดมพลได้
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ทาง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ ให้แก้ไขระบบกำลังพลสำรอง โดย ชายไทยเพศที่สาม ต้องเข้ามารับการเรียกพลเพื่อตรวจสอบยอด , ฝึกวิชาทหาร , ทดลองความพรั่งพร้อม หรือ ระดมพล ในแต่ละกรณี และ กำลังพลสำรอง ทั้งที่มาจากนายทหารประทวนกองหนุน (ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3) , นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน (ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 5) , ทหารกองประจำการ ที่รับราชการในกองประจำการครบกำหนด และ ปลดเป็นทหารกองหนุนตามกฎหมายแล้ว หรือ ทหารกองหนุนประเภทที่ 2 จะต้องถูกสุ่มเพื่อเข้ารับการเรียกพลในแต่ละปี โดยจะเน้นเรียกผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการ และ ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 แล้ว มาเข้ารับการฝึก โดยนายจ้างต้องอนุญาตให้ลูกจ้าง ที่เป็นกำลังพลสำรอง มาเข้ารับการฝึก และ ต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ มิฉะนั้น จะมีความผิดตามกฎหมาย และ ต้องรับโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ ทางกองทัพบก จะทำการสุ่มเรียกกำลังพลสำรอง จำนวน 2.5 % จาก กำลังพลสำรองทั้งหมด มาเข้ารับการฝึกกำลังสำรองเป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยผู้ที่ไม่ต้องเข้ารับการเรียกพล จะต้องมีเหตุจำเป็นเท่านั้น ผู้ใดหลีกเลี่ยง จะต้องรับโทษตามกฎหมาย
แม้ว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่มีขบวนการทำการสนับสนุนให้ผู้ทหารกองเกินหลบเลี่ยงการรับราชการทหารกันอย่างแพร่หลาย โดยสัสดีอำเภอเป็นตัวการสำคัญ โดยมีวิธีการต่างๆ ดังนี้
สำหรับวิธีการตามข้อ 1 นั้น จะไม่ปรากฏต้นขั้วที่กระทรวงกลาโหม เมื่อมีการตรวจสอบก็จะพบว่าบุคคลนั้นหนีทหารและถูกดำเนินคดีได้ ส่วนวิธีการในข้อ 2-3 เป็นการใช้ช่องว่างของกฎหมายและข้อมูลภายในที่สัสดีมีอยู่ ผู้ผ่านการตรวจเลือกจะได้รับใบตรวจเลือกของจริง ถูกต้องตามกฎหมาย ตามข่าวที่ปรากฏในปี พ.ศ. 2547พบว่าสัสดีเรียกรับเงินจากผู้ไม่ต้องการรับราชการทหารเป็นหลักพันบาทสำหรับวิธีการในข้อ 1 และหลักหมื่นบาทสำหรับวิธีการในข้อ 2-3
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่หลบหนีไม่เข้ารับการตรวจเลือกซึ่งมักจะถูกสัสดีแจ้งความดำเนินคดี ผู้ที่หลบหนีนั้นต้องรอให้พ้นจากอายุที่ต้องรับราชการทหารคือ 30 ปีและรอให้คดีความหมดอายุความก่อนจึงจะกลับมาปรากฏตัวต่อสาธารณชนได้ มิฉะนั้นอาจถูกจับกุมและดำเนินคดีได้ อายุความในดคีหนีทหารทั่วไปมีกำหนด 10 ปี
การทำร้ายร่างกายตัวเองหรือผู้อื่นเพื่อไม่ให้ต้องรับราชการทหารมีระวางโทษจำคุกหนึ่งปีถึงแปดปี เป็นโทษที่หนักที่สุดในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร และเป็นโทษเดียวในพระราชบัญญัตินี้ที่มีอายุความถึง 15 ปี