ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำมาก โดยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ในปี 2557 แนวโน้มการว่างงานในประเทศไทยไม่เปลี่ยนไปมากวัฏจักรธุรกิจตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไป เพราะโครงสร้างสังคมของไทยทำให้ผู้ว่างงานหางานทำใหม่ได้โดยเร็ว ส่งผลให้คนไทยวัยทำงานกว่าครึ่งประเทศประกอบอาชีพที่ไม่มั่นคง (งานรับจ้างทั่วไปและการช่วยงานครอบครัวโดยไม่มีรายได้ตอบแทน) คนวันทำงานกว่าร้อยละ 60 ประกอบอาชีพอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ผู้ที่มีงานทำเข้าไม่ถึงการให้บริการประกันสังคมและไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อัตราการว่างงานที่ต่ำนี้ทำให้ตัวเลขดังกล่าวนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์ของประเทศไม่ได้ เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การจ้างงานต่ำระดับ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าอัตราการว่างงานในไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.56 ในปี 2558 ซึ่งสวนกระแสโลกที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ต่ำลง วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอัตราการว่างงานในไทยที่ต่ำนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ อนึ่ง ประเทศไทยมีระบบประกันสังคมที่ไม่เข้มแข็งและน้อยคนจะสามารถเข้าถึงการประกันการว่างงาน ทำให้ผู้ทำงานไม่สามารถจะทิ้งระยะห่างหลังจากตกงานได้นาน ประเทศไทยยังเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำให้ผู้ที่ตกงานในเขตเมืองสามารถเลือกกลับไปทำไร่ทำนาได้โดยง่าย โดยผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมนี้มีมากถึงร้อยละ 40 ของแรงงาน[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ ประเทศไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำมาก[ต้องการอ้างอิง] ทำให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเริ่มทำให้ไม่มากในแต่ละปี แต่มีผู้เกษียณอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีแรงงานไม่เพียงพอและอัตราการว่างงานต่ำลงโดยธรรมดา
โครงการวิจัยการทำงานต่ำระดับในไทยปี 2547 พบว่าคนไทยทำงานไม่เต็มเวลาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังทำงานต่ำระดับทั้งในด้านรายได้ เวลา และการศึกษา ผลวิจัยพบว่าผู้ที่ทำงานต่ำระดับมากที่สุดประกอบด้วยผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ช่วยงานครอบครัว หรือผู้ที่ประกอบธุรกิจเอง ส่วนผู้ที่ทำงานต่ำระดับทางการศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ดีและประกอบอาชีพที่มีผลตอบแทนดี