ฮอโลคอสต์, โฮโลคอสต์ (อังกฤษ: The Holocaust) หรือรู้จักในอีกชื่อว่า haShoah (ภาษาฮีบรู: ?????), Churben (ภาษายิดดิช: ?????) เป็นพันธุฆาตชาวยิวในยุโรปประมาณ 6 ล้านคนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โครงการฆาตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐโดยเยอรมนี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซี ทั่วทั้งดินแดนที่เยอรมนียึดครอง จากชาวยิว 9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปก่อนฮอโลคอสต์ ประมาณสองในสามถูกสังหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กชาวยิวกว่า 1 ล้านคนถูกสังหารในฮอโลคอสต์ เช่นเดียวกับหญิงชาวยิวประมาณ 2 ล้านคน และชายชาวยิว 3 ล้านคน
นักวิชาการบางส่วนเสนอว่า นิยามของฮอโลคอสต์ยังควรรวมถึงพันธุฆาตประชากรกลุ่มอื่นอีกหลายล้านคนของนาซี รวมทั้งชาวโรมานี นักคอมมิวนิสต์ เชลยศึกโซเวียต พลเรือนโปแลนด์และโซเวียต พวกรักเพศเดียวกัน ผู้ทุพพลภาพ พยานพระยะโฮวา และคู่แข่งทางการเมืองและศาสนาอื่น ๆ ไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์เยอรมันหรือไม่ก็ตาม นิยามนี้เป็นนิยามที่สามัญที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดจนถึงคริสต์ทศวรรษ 1960 หากใช้นิยามนี้ จำนวนเหยื่อฮอโลคอสต์ทั้งสิ้นอยู่ระหว่าง 11 ถึง 17 ล้านคน เฮนรี ฟีแลนเดอร์นิยามฮอโลคอสต์ว่า "การสังหารหมู่มนุษย์ เพราะพวกเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มที่นิยามทางชีวภาพ" หมายความว่า "พวกนาซีใช้นโยบายการกำจัดที่คงเส้นคงวาและครอบคลุมเฉพาะกับมนุษย์สามกลุ่ม ผู้พิการ ชาวยิวและพวกยิปซี"
การเบียดเบียนและพันธุฆาตมีการดำเนินแบ่งเป็นขั้น มีกฎหมายหลายฉบับที่ดึงชาวยิวออกจากประชาสังคม ที่เห็นชัดที่สุดคือ กฎหมายเนือร์นแบร์ก ซึ่งใช้บังคับในเยอรมนีหลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้น มีการสร้างค่ายกักกันซึ่งผู้ถูกกักกันถูกบังคับให้ใช้แรงงานทาสกระทั่งเสียชีวิตด้วยการหมดแรงหรือโรค ที่ใดที่เยอรมนียึดครองดินแดนใหม่ในยุโรปตะวันออก หน่วยเฉพาะที่เรียกว่า ไอน์ซัทซกรุพเพน จะฆาตกรรมยิวและคู่แข่งทางการเมืองในการยิงหมู่ ผู้ยึดครองกำหนดให้ชาวยิวและโรมานีถูกจำกัดอยู่ในเกตโตที่แออัดยัดเยียดก่อนถูกขนส่งโดยรถสินค้าไปยังค่ายมรณะ ที่ซึ่ง หากพวกเขารอดชีวิตจากการเดินทาง จะถูกสังหารไปโดยมากในห้องรมแก๊ส
คำว่า การล้างชาติ ในภาษาอังกฤษคือ "holocaust" มีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีกว่า hol?kauston ซึ่งแยกได้เป็นสองคำ คือ (holos) "อย่างสิ้นซาก" และ (kaustos) "เผา" ซึ่งมีความหมายถึงการบูชายัญต่อพระเจ้า ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 คำดังกล่าวได้ถูกใช้ในภาษาละตินว่า holocaustum ใช้บรรยายถึงการสังหารหมู่ชาวยิวโดยเฉพาะ และเมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า holocaust ใช้ในความหมายว่า ความหายนะหรือความล่มจม
ส่วนคำในพระคัมภีร์ไบเบิล คำว่า Shoah (????) (หรืออาจจะสะกดว่า Sho'ah และ Shoa) หมายถึง "ความหายนะใหญ่หลวง" เป็นคำในภาษาฮีบรูที่ใช้บรรยายถึงการล้างชาติโดยนาซีในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 ชาวยิวได้ใช้คำว่า Shoah ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกันรวมไปถึงใจความของคำว่า "holocaust" ที่มีความหมายไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเป็นการบรรยายถึงวัฒนธรรมนอกรีตของชาวกรีกโบราณ
คำว่า holocaust ได้เริ่มปรากฏการใช้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ในความหมายถึง "การตายของคนกลุ่มใหญ่อย่างรุนแรง" ยกตัวอย่างเช่น นายวินสตัน เชอร์ชิลล์และเหล่านักเขียนในยุคก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สองได้ใช้คำดังกล่าวในการบรรยายถึงการพันธุฆาตชาวอาร์เมเนียนในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่หลังจากคริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา คำดังกล่าวถูกจำกัดวงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ คำดังกล่าวเป็นคำวิสามานยนามที่ใช้อธิบายถึงการล้างชาติโดยนาซีเท่านั้น
คำว่า holocaust เป็นการแปลความหมายมาจากคำว่า Shoah ซึ่งเป็นคำในภาษาฮีบรูในความหมายว่า เหตุหายนะใหญ่หลวง ความฉิบหาย มหันตภัยและการทำลายล้าง ซึ่งปรากฏในหนังสือที่มีชื่อว่า Sho'at Yehudei Polin ในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งต่อมาได้แปลเป็น การล้างชาติโดยนาซีต่อชาวยิวในโปแลนด์ ส่วนก่อนหน้านั้น คำว่า Shoah เป็นคำที่ใช้บรรยายถึงพรรคนาซีว่าเป็นความหายนะใหญ่หลวง
พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซ์ฟอร์ด เห็นพ้องต้องต้องกันว่า คำว่า holocaust หมายความถึง ลักษณะการกระทำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่มีต่อชาวยิวในปี พ.ศ. 2485 ความหมายนี้ยังไม่ได้ถูกยอมรับอ้างอิงจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1970 จึงเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำคำนี้จะแปลโดยสามัญว่าเป็นการฆ่าล้างชาติที่กระทำโดยพรรคนาซี แต่คำว่า holocaust ก็แปลได้หลายทางเช่นกัน
ขบวนการล้างชาติของพรรคนาซี มีสาเหตุมาจากการแบ่งแยกเชื้อชาติระหว่างพวกชนชาติเชื้อสายอารยันและพวกที่ไม่มีเชื่อสายอารยันโดยมุ่งเป้าหมายหลักไปยังชาวยิวที่อยู่อาศัยในทวีปยุโรป การทำลายล้างชนชาติยิวเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อพรรคนาซีได้ขึ้นนำประเทศเยอรมันเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นปกครองประเทศโดยชอบธรรมตามกฎหมายในปีค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์โยนความผิดและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในเยอรมันในเวลานั้นว่าเป็นความผิดของชาวยิว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ เหตุการณ์ไฟไหม้ การที่เยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และปัญหาต่างๆอีกร้อยพันประการ
ชาวยิวในเวลานั้นถูกกดขี่ข่มเหงในทุกรูปแบบ พรรคนาซีออกกฎหมายกว่า 400 มาตราเพื่อริดรอนสิทธิชาวยิว เช่นชาวยิวไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินเพาะปลูกในเยอรมันได้ กิจการร้านค้าของชาวยิวโดนรัฐบาลเยอรมันสั่งปิด นอกจากนี้นาซียังออกกฎหมายสั่งปลดประชากรเชื้อสายที่ไม่ใช่ชาวอารยันออกจากงาน ในเวลานั้นชาวยิวหลายคนที่อยู่ผิดที่ผิดเวลาโดนทุบตีทำร้ายจนบางครั้งถึงเสียชีวิต ชาวยิวจำนวนหนึ่งอพยพหนีความรุนแรงกลับไปยังปาเลสไตน์
ท้ายที่สุดพรรคนาซีสร้างไล่ต้อนชาวยิวให้ไปอยู่อาศัยในเกตโต (The Ghettos) พวกเขาโดนใช้งานหนักในโรงงานที่ถูกสร้างขึ้นข้างๆรั้วของบริเวณกักกันเพื่อให้ชาวเยอรมันได้รับผลประโยชน์จากแรงงานชาวยิวโดยไม่เสียเงิน ชาวยิวมากมายในสถานกักกันตายเพราะความหิวโหย เนื่องจากปริมาณอาหารที่รัฐบาลหยิบยื่นให้นั้นมีไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร รวมทั้งโรคระบาดและความหนาวได้คร่าชีวิตประชากรชาวยิวมากมายในบริเวณกักกัน ชาวยิวที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องมารับเคราะห์โดยที่ไม่รู้ว่าพวกนาซีต้องการอะไรกันแน่ ชาวยิวบางคนฆ่าตัวตายเพราะความหมดหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไปในสถานที่ที่เปรียบเสมือนนรก
ในช่วงแรกๆนั้น ชาวยิวตายวันหนึ่งมีจำนวนน้อยเกินไปนอกจากนั้นวิธีการ จึงได้มีการใช้ก๊าซพิษหลากชนิด ตั้งแต่ไซคลอน บี (เป็นสารไซยาไนต์แบบระเหยได้) ในช่วงแรก ไปจนถึงซารินที่ร้ายแรงกว่ามาก
เด็กนั้นได้เสียชีวิตจาการสังหารหมู่จำนวนกว่า 1 ล้าน5แสนคน หนึ่งในจำนวน 7 ล้านคนที่ถูกสังหารกว่า จากการสังหารหมู่จากก๊าสพิษและการทดลองที่โหดร้ายที่สุดของดร.โจเซฟ แมงเกเล
นาซีนั้นได้ให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์กับร่างกายของชาวยิวและอื่นๆโดยไม่ได้คำนึงถึงศีลธรรมและมนุษยธรรมเลยเพื่อนำการทดลองนำไปใช้ประโยชน์ในทางการทหารและอื่นๆเช่น การทดลองแก๊สมัสตาร์ด การกินน้ำทะเล เป็นต้น มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากไปในการทดลองโดยอย่างโหดร้ายและอำมหิต
จำนวนที่แน่นอนของผู้ที่เสียชีวิตจากน้ำมือของนาซีอาจจะไม่มีใครล่วงรู้ แต่เชื่อว่ามีจำนวนผู้เคราะห์ร้าย ดังนี้[ต้องการอ้างอิง] :
รูล ฮิลเบิร์ก เจ้าของผลงานหนังสือ The Destruction of the European Jews (การสังหารชาวยุโรปเชื้อสายยิว) คาดว่ามีชาวยิวทั้งหมด 5.1 ล้านคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การล้างชาติของนาซี จากสถิติกล่าวไว้ว่า มากกว่า 8 แสนคน เสียชีวิตจากบริเวณเกท-โทและความขาดแคลน, 1.4 ล้านคนเสียชีวิตเพราะถูกยิงทิ้งกลางแจ้ง และมากกว่า 2.9 ล้านคน เสียชีวิตอยู่ในค่ายกักกันนั้นเอง ฮิลเบิร์กประมาณการว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตในประเทศโปแลนด์เป็นจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขที่ฮิลเบิร์กนำมาพิจารณานี้ได้มาจากบันทึกเท่าที่หาได้ จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ
หลายๆ คนอาจคิดว่า เป็นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์แต่โดยความจริงแล้ว เรื่องนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะตอนที่ฮิตเลอร์ยังเรียนอยู่ ก็มีขบวนการต่อต้านยิวอยู่แล้ว
ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศแรกที่ได้ริเริ่มทำการฮอโลคอสต์ขึ้น เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ว่าชุมชนยิวในเยอรมนีเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังตั้งแต่การปราศรัยและงานเขียนแรก ๆ ของฮิตเลอร์ อุดมการณ์นาซีวางกฎเข้มงวดเกี่ยวกับว่าใครเป็นหรือไม่เป็นสายเลือด "อารยัน" บริสุทธิ์ มีการกำหนดการปฏิบัติเพื่อทำให้เชื้อชาติอารยันบริสุทธิ์ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นหนึ่งเดียวกับเชื้อชาตินอร์ดิก ตามด้วยเชื้อชาติรองที่เล็กกว่าของเชื้อชาติอารยันเพื่อเป็นตัวแทนของเชื้อชาติปกครองที่เป็นอุดมคติและบริสุทธิ์ ผลของนโยบายสังคมนาซีในเยอรมนีแบ่งแยกระหว่างผู้ที่ถูกมองว่าเป็น "อารยัน" กับ "มิใช่อารยัน" ยิว หรือส่วนหนึ่งของกลุ่มชนกลุ่มน้อยอื่น สำหรับเชื้อชาติอารยัน การดำเนินโยบายสังคมจำนวนมากที่เอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มนี้โดยระบอบนาซีเพิ่มขึ้นตามกาล รวมถึงการคัดค้านการสูบบุหรี่โดยรัฐ การล้างมลทินแก่เด็กอารยันที่เกิดแก่บิดามารดานอกสมรส เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครอบครัวเยอรมันอารยันที่ให้กำเนิดบุตร วันที่ 1 เมษายน 1933 ฮิตเลอร์ประกาศคว่ำบาตรสถานประกอบธุรกิจยิวทั้งประเทศ ครอบครัวยิวจำนวนมากเตรียมตัวออกนอกประเทศ แต่อีกหลายครอบครัวหวังว่าการดำรงชีพของพวกตนและทรัพย์สินจะปลอดภัย เพราะตนเป็นพลเมืองเยอรมัน
พรรคนาซีดำเนินนโยบายเชื้อชาติและสังคมผ่านการเบียดเบียนและการสังหารผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่สังคมไม่พึงปรารถนาหรือ "ศัตรูของอาณาจักร" ที่ตกเป็นเป้าพิเศษ คือ ชนกลุ่มน้อยเช่น ยิว โรมานี (หรือยิปซี) ผู้นับถือพยานพระยะโฮวาห์ ผู้ที่มีความพิการทางจิตหรือทางกาย และพวกรักร่วมเพศ ในคริสต์ทศวรรษ 1930 แผนเพื่อโดดเดี่ยวและกำจัดยิวอย่างสมบูรณ์ในเยอรมนีท้ายสุด เริ่มจากการก่อสร้างเกตโต ค่ายกักกัน และค่ายใช้แรงงาน โดยมีการก่อสร้างค่ายกักกันดาเชาเป็นแห่งแรกในปี 1933 เมื่อไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์อธิบายอย่างเป็นทางการว่าเป็น "ค่ายกักกันศัตรูทางการเมืองแห่งแรก"
ช่วงปีหลังนาซีเถลิงอำนาจ ยิวหลายคนถูกกระตุ้นให้เดินทางออกนอกประเทศและทำเช่นนั้น ในปี 1935 มีการตรากฎหมายเนือร์นแบร์กขึ้น มีใจความเพิกถอนสัญชาติเยอรมันของยิว และปฏิเสธการจ้างงานภาครัฐ ขณะนี้ชาวยิวส่วนมากที่ชาวเยอรมันว่าจ้างเสียตำแหน่งงาน ซึ่งถูกแทนที่โดยชาวเยอรมันที่ว่างงาน นอกจากนี้ การสมรสระหว่างยิวกับอารยันถูกห้าม ยิวสูญเสียสิทธิเพิ่มขึ้นในช่วงอีกไม่กี่ปีถัดมา ยิวถูกแยกออกไปจากหลายวิชาชีพ และมิให้จับจ่ายซื้อของในร้านค้าจำนวนมาก หลายเมืองติดป้ายห้ามมิให้ยิวเข้า ที่โดดเด่น คือ ความพยายามของรัฐบาลในการส่งชาวยิวเยอรมันที่มีเชื้อสายโปแลนด์ 17,000 คนกลับประเทศโปแลนด์ จนทำให้ในเดือนพฤศจิกายน 1938 แฮร์เชล กรึนซพัน ชายหนุ่มชาวยิวในกรุงปารีส ลอบสังหารแอร์นสท์ ฟอม รัท เอกอัครราชทูตเยอรมัน เพื่อเป็นการประท้วงการปฏิบัติต่อครอบครัวของเขาในเยอรมนี พรรคนาซีใช้ความพยายามดังกล่าวปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังชุมชนยิวในเยอรมนี เป็นบริบทของโพกรมเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1938 ซึ่งเจาะจงธุรกิจยิวเป็นพิเศษ เอสเอได้รับมอบหมายให้โจมตีสุเหร่ายิวและทรัพย์สินของยิวทั่วประเทศเยอรมนี ระหว่างคริสทัลล์นัคท์ ("คืนกระจกแตก" หรือความหมายตามตัวอักษรว่า คืนคริสตัล) เหตุที่ใช้การเกลื่อนคำดังกล่าวเพราะหน้าต่างที่แตกจำนวนมากทำให้ถนนมองดูเหมือนปกคลุมด้วยคริสตัล เหตุการณ์นี้ทำให้มีชาวยิวเยอรมันเสียชีวิตอย่างน้อย 91 คน และทรัพย์สินยิวถูกทำลายถ้วนหน้า การกีดกันระยะนี้ทำให้เป็นที่ชัดเจนมากว่ายิวในเยอรมนีจะเป็นเป้าหมายในอนาคต เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ชุมชนยิวถูกปรับหนึ่งล้านมาร์คและได้รับการบอกกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ได้รับเงินตอบแทนจากความสูญเสีย จนถึงเดือนกันยายน 1939 ยิวกว่า 200,000 คนเดินทางออกนอกประเทศเยอรมนี โดยรัฐบาลยึดทรัพย์สินใด ๆ ที่พวกเขาทิ้งไว้เบื้องหลัง
ในปี 1941 เยอรมนีตัดสินใจทำลายชาติโปแลนด์อย่างสมบูรณ์และผู้นำเยอรมันตัดสินใจว่าในอีก 10 ถึง 20 ปี ชาวโปแลนด์ในรัฐโปแลนด์ภายใต้การยึดครองของเยอรมนีจะถูกกวาดล้างอย่างสมบูรณ์ และให้ผู้อยู่ในนิคมชาวเยอรมันเข้าไปตั้งถิ่นฐานแทน นาซีมองว่ายิว ชาวโรมานี ชาวโปแลนด์อยู่ในกลุ่มเดียวกับชนสลาฟ เช่น ชาวรัสเซีย ชาวยูเครน ชาวเช็ก และอีกหลายเชื้อชาติที่มิใช่ "ชาวอารยัน" ตามศัพทวิทยาเชื้อชาตินาซีร่วมสมัยเป็นอุนแทร์เมนเชน ("ต่ำกว่ามนุษย์") แม้ชนสลาฟจำนวนมากจะถูกมองและได้รับการยอมรับว่าเป็นชาวอารยัน นาซีใช้เหตุผลตัดสินว่าชาวอารยันมีสิทธิทางชีววิทยาในการแทนที่ กำจัดและจับผู้ที่ด้อยกว่าเป็นทาส หลังสงคราม ภายใต้ "แผนใหญ่" เจเนรัลพลันโอสท์ (เยอรมัน: Generalplan Ost) คาดการณ์การเนรเทศประชากรที่ไม่สามารถถูกแผลงเป็นเยอรมัน (non-Germanizable) 45 ล้านคนจากยุโรปตะวันออกไปยังไซบีเรียตะวันตกล่วงหน้า และราว 14 ล้านคนจะยังอยู่ แต่จะถูกปฏิบัติเหมือนทาส ส่วนชาวเยอรมันจะตั้งถิ่นฐานแทนที่ในเลเบนสเราม์ที่ต่อขยายไปของอาณารจักรพันปี
แฮร์แบร์ท บาเคอเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังแผนความหิว (Hunger Plan) ซึ่งเป็นแผนให้ชนสลาฟหลายสิบล้านคนอดอยากเพื่อประกันเสบียงอาหารแก่ประชาชนและทหารเยอรมัน ในระยะยาว นาซีต้องการกำจัดชนสลาฟราว 30–45 ล้านคน ตามข้อมูลของมิคาเอล ดอร์แลนด์ "ดังที่นักประวัติศาสตร์เยล ทีโมธี ซไนเดอร์เตือนเรา หากนาซีประสบความสำเร็จในสงครามกับรัสเซีย การนำอีกสองมิติของฮอโลคอสต์ไปปฏิบัติ แผนความหิวและเจเนรัลพลันโอสท์ จะนำไปสู่การกำจัดคนอีก 80 ล้านคนในเบลารุส รัสเซียเหนือและสหภาพโซเวียตผ่านความอดอยาก"
ต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ทางการเยอรมนีในเจเนรัลกออูแวร์เนเมนท์ในโปแลนด์ที่ถูกยึดครองสั่งให้ยิวทุกคนถูกบังคับใช้แรงงาน และผู้ที่ด้อยสมรรถภาพทางกาย เช่น หญิงและเด็ก ถูกกักกันอยู่ในเกตโต สำหรับนาซีแล้ว มีหลายแนวคิดปรากฏขึ้นว่าจะตอบ "ปัญหาชาวยิว" อย่างไร วิธีหนึ่ง คือ การบังคับเนรเทศยิวขนานใหญ่ อดอล์ฟ ไอชมันน์เสนอให้ยิวถูกบังคับอพยพไปยัง]ปาเลสไตน์ ฟรันซ์ ราเดมาแคร์เสนอให้ยิวถูกเนรเทศไปยังมาดากัสการ์ ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนโดยฮิมม์เลอร์ และมีการถกโดยฮิตเลอร์และผู้เผด็จการอิตาลี เบนิโต มุสโสลินี แต่ภายหลังล้มเลิกไปเพราะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติเมื่อปี 1942 ความคิดการเนรเทศต่อเนื่องไปยังโปแลนด์ที่ถูกยึดครองถูกผู้ว่าการ ฮันส์ ฟรังค์แห่งเจเนรัลกออูแวร์เนเมนท์ ปฏิเสธ เพราะแฟรงค์ปกิเสธจะยอมรับการเนรเทศยิวมาเพิ่มยังดินแดนที่มียิวจำนวนมากอยู่แล้ว ในปี 1942 ที่การประชุมวันน์เซ เจ้าหน้าที่นาซีตัดสินใจกำจัดยิวทั้งหมด ดังที่อภิปราย "การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย" ค่ายกักกันเช่นเอาชวิทซ์ ถูกแปลงและใช้ห้องรมแก๊สเพื่อสังหารยิวให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ จนถึงปี 1945 ค่ายกักกันจำนวนหนึ่งถูกกองทัพสัมพันธมิตรปลดปล่อย และพวกเขาพบว่าผู้รอดชีวิตขาดอาหารอย่างรุนแรง ฝ่ายสัมพันธมิตรยังพบหลักฐานว่า นาซีค้ากำไรจากการสังหารหมู่ยิวไม่เพียงแต่โดยยึดทรัพย์สินและสิ่งของมีค่าส่วนบุคคลแล้ว แต่ยังโดยแยกสารอุดฟันทองคำจากร่างของยิวบางคนที่ถูกขังในค่ายกักกันด้วย
ชาวยิวในประเทศบัลแกเรีย หรือแม้แต่พลเรือนและทหารที่อยู่ในเขตการปกครองของประเทศมาซิโดเนียและทางตอนเหนือของประเทศกรีซ ก็ถูกเนรเทศเข้าสู่ประเทศบัลแกเรียของเยอรมนี ประเทศบัลแกเรียก็ไม่ได้ขัดขวางการเนรเทศผู้คนของเยอรมนี ซึ่งชาวยิวที่ถูกเนรเทศเหล่านี้จะถูกนำตัวไปยังค่ายกักกัน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อิตาลีปกครองด้วยระบอบเผด็จการแบบฟาสซิสต์ นำโดยเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำจอมเผด็จการ ซึ่งร่วมกับพรรคนาซีในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองชาวยิว ส่งผลให้กลุ่มชนชาวยิวมีฐานะตกต่ำลง ลดฐานะเป็นพลเมืองชั้นรอง ถึงแม้ว่ามุสโสลินีจะไม่เคยเนรเทศชาวยิวไปยังค่ายกักกัน แต่หลังจากที่มุสโสลินีหมดอำนาจลงแล้ว อิตาลีก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ชาวยิวที่รอดมาจากค่ายกักกันได้กว่าพันคนก็กลับเข้ามาสร้างค่ายเล็กๆ มากมายในอิตาลีเรียกกันว่า ริเซียราดิซันซาบบา (Risiera di San Sabba) เป็นสถานที่ปลงศพชาวยิว 2,000 ถึง 5,000 คนที่ถูกสังหารที่นั่น
ประเทศโรมาเนียภายใต้การปกครองของลอน อันโตเนสโค (Lon Antonescu) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีชาวยิวเสียชีวิตระหว่าง 280,000 - 380,000 คน และมีรายการจากคณะรัฐบาลโรมาเนียว่า
"ในบรรดาพันธมิตรของนาซีเยอรมันทั้งหมด โรมาเนียต้องแบบภาระความรับผิดชอบในการตายของชาวยิวมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมกับเยอรมัน ทั้งการสังหารใน การสังหารหมู่ไอซี่ (Iasi pogrom) , โอเดสซา (Odessa) , บ็อกดานอฟก้า (Bogdanovka) , โดมานอฟก้า (Domanovka) และเปซิโอรา (Peciora) เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พวกที่น่าขยะแขยงมากที่สุดและจะปฏิบัติเช่นนี้อีกกับยิวทุกแห่งหนจนกว่าจะถึงการฆ่าล้างชาติ"
จากการเป็นสมาชิกในการช่วยเหลือทางการทหารให้กับเยอรมนีและยูเครน โรมาเนียได้สังหารชาวยิวร้อยละ 10 ที่เมืองเบสซาราเบีย ทางตอนเหนือของเมืองบูโกวินาและเมืองทรานสนิสเตรีย ส่วนการสังหารครั้งใหญ่มีอีกหลายครั้ง อาทิ ชาวยิว 54,000 ศพที่บ็อกดานอฟก้า ชุนนุมชาวโรมาเนียที่ค่ายบั๊ก ริเวอร์ เมืองทรานสนิสเตรีย ระหว่างวันที่ 21-31 ธันวาคม พ.ศ. 2484, ชาวยิวเกือบ 100,000 ศพที่อาศัยในเมืองโอเดสซา , มากกว่า 10,000 ศพในเมืองไอซี่ พ็อกรอม และมีการสังหารชาวยิวจำนวนมากที่เมืองโดมานอฟก้าและค่ายกักกันอัคเมตเชตก้า (Akhmetchetka) อีกด้วย
ประเทศฮังการีในยุคของมิกโลช ฮอร์ตีเป็นผู้นำ มีการเนรเทศชาวยิวไปทั้งสิ้น 20,000 คนจากโรงเรือนใหญ่ของกองกำลังยูเครนในปี พ.ศ. 2484 ไปที่คาเมียเนส-โพดิสกี้ (Kamianets-Podilskyi) ในไรชส์คอมมิสซาเรียทยูเครน เพื่อให้พวกพันธมิตรของเยอรมันสังหาร โดยยิงเป้า กองทัพ, ทหารและตำรวจฮังการีได้ทำการสังหารชาวยิวและชาวเซิร์บกว่าพันคนที่เมืองโนวี่ แซด (Novi Sad) เมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2485 อย่างไรก็ตามฮอร์ตีก็ยังขัดขวางความต้องการของเยอรมนีที่ให้เนรเทศชาวยิวในฮังการี (ประมาณ 725,000 คน) และส่วนใหญ่ก็มีชีวิตอยู่รอดถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2487 ซึ่งนาซีได้เข้าครอบครองฮังการี ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2487 ชาวยิวครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 381,661 คน) ในฮังการีถูกกวาดไปอยู่ที่ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2487 รัฐบาลฮังการีภายใต้การเป็นรัฐหุ่นเชิดของนาซี ชาวยิวก็ถูกกวาดต้อนกลับมายังบ้านเกิด แต่นี่ก็แค่ชั่วคราวเท่านั้น ต่อมาชนชาวยิวก็กลับมาถูกกลั่นแกล้งดังที่เป็นมา
ฮอร์ตีกลับมาอีกครั้งในนามพรรคแอร์โรวครอส (Arrow Cross Party : Arrow แปลว่า ลูกศรหรือ ลูกดอก , Cross แปลว่า กากบาท) ก่อตั้งโดยเฟอเรนซ์ สซาเลซี่ (Ferenc Sz?lasi) ในช่วงปลายสงครามซึ่งสัญญาณความพ่ายแพ้ของเยอรมนีเริ่มปรากฏ ทั้งนี้กองกำลังของฮังการีมีอยู่ในกองกำลังเอสเอสของนาซีมากมายไม่น้อย ซึ่งกองกำลังนี้ได้ไล่ล่าชาวยิวเพื่อนำตัวเข้าสู่ค่ายกักกันซึ่งเป็นสถานที่สังหารชาวยิวกว่า 437,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น ชาวยิวในกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของประเทศฮังการี 20,000 คนถูกยิงทิ้งที่แม่น้ำดานูบโดยคำสั่งของพรรคแอร์โรวครอส นอกจากนี้ฮังการีภายใต้อิทธิพลของพรรคนาซีได้นำชาวยิว 70,000 คนข้ามไปยังประเทศออสเตรีย กว่าพันคนตายเพราะถูกยิง อีกกว่าพันคนตายเพราะความอดอยากและอื่นๆ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การล้างชาติพันธุ์โดยนาซี