ระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เป็นระบบการรับบุคคลที่จบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งสถาบันของรัฐและเอกชน โดยระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดสอบกันเอง มาเป็นระบบที่ใช้การสอบคัดเลือกซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า "การสอบเอ็นทรานซ์" ซึ่งจัดการสอบโดยทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) แล้วมาเปลี่ยนอีกครั้งเป็นระบบกลาง (Admissions) ซึ่งใช้จนถึงปัจจุบัน
แต่เดิมมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นมหาวิทยาลัยปิดจะใช้การจัดสอบเอง กระทั่งในปีการศึกษา 2504 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ร่วมกันเข้าสู่ระบบกลางเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ยังถือเป็นมหาวิทยาลัยส่วนน้อยที่มีการจัดสอบในระบบกลาง ส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีที่แต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดสอบเอง จนในปีต่อมาที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้าร่วมเพิ่มเติม จนกระทั่งปีการศึกษา 2516 ทบวงมหาวิทยาลัยรับโอนงานสอบคัดเลือกจากสภาสถานศึกษาแห่งชาติ การสอบระบบกลางในสมัยนั้นสามารถเลือกคณะหรือสถาบันการศึกษาได้ 6 อันดับ แนวทางดังกล่าวใช้ต่อกันมาจนถึงปีการศึกษา 2542
ในปีการศึกษา 2542 ทบวงมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกและได้เสนอรูปแบบการคัดเลือกระบบใหม่ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ดังนี้
ทั้งนี้ระบบดังกล่าวทำให้นักเรียนเกิดความเครียดจากการที่ต้องสอบถึงสองครั้ง และโรงเรียนต้องเร่งสอนเนื้อหาให้จบเร็วขึ้นซึ่งส่งผลเสียต่อระบบการเรียนการสอนปกติ
ภายหลังเกิดความไม่พึงประสงค์จากการใช้ระบบคัดเลือกแบบเดิม ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้พิจารณาระบบการรับเข้าบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อลดการสอบแข่งขัน แล้วมาใช้ระบบการพิจารณาผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และการสอบวัดผลในหลักสูตร จึงเกิดระบบการรับเข้าบุคคลเข้าศึกษาระบบกลาง หรือ ระบบแอดมิชชันส์ (Admissions) เป็นระบบการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่นำมาใช้แทนระบบเอ็นทรานซ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 (ปีการศึกษา 2548) โดยระบบนี้ให้น้ำหนักกับผลการเรียนตลอดช่วงชั้นที่ 4 (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) มาพิจารณาเพิ่มขึ้น และไม่เน้นการใช้ผลคะแนนสอบเป็นหลักเหมือนกับระบบเอ็นทรานซ์
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ทว่ายังคงมีเสียงวิจารณ์อยู่โดยชี้ไปที่ข้อเสียของการนำผลการเรียนมาคิดพิจารณารวมเนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีคุณภาพและมาตรฐานการคิดคะแนนที่ต่างกันทำให้การพิจารณาอาจไม่มีความเป็นธรรม ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจึงได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขซึ่งมีผลออกมาเป็นการให้พิจารณาจากผลการเรียนเฉลี่ยตลอดการศึกษาช่วงชั้นที่ 4 (GPAX) ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ผลการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และผลการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) แทนที่ระบบเดิม
การสอบเอ็นทรานซ์ เป็นระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาสถาบันอุดมศึกษาที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยใช้ผลการสอบวัดความรู้เป็นหลักในการคัดเลือก จัดสอบโดย สำนักทดสอบกลาง ทบวงมหาวิทยาลัย ต่อมาคือ สำนักทดสอบกลาง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
การคิดคะแนน คงขึ้นอยู่กับแต่ละคณะ แต่ภายหลังได้มีการรวมผลการเรียนสะสมในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ GPA และค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ไทล์ หรือ GPR เข้าไปด้วย
ระบบคัดเลือกระบบนี้ เป็นระบบใหม่ โดยเน้นไปที่การพิจารณาผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษา และผลการสอบวัดความรู้พื้นฐาน และวัดความรู้ขั้นสูง การคัดเลือกจะดำเนินการเป็นระบบกลาง คือมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบ ทั้งการจัดการสอบ การจัดการคัดเลือก ในระยะเริ่มต้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จะเป็นผู้รับผิดชอบ และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ซึ่งเป็นองค์การมหาชน จะเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการทดสอบวัดความรู้พื้นฐาน
ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) คือผลการเรียน (เกรด) เฉลี่ยของทุกวิชาที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (หรือเทียบเท่า) ในปีการศึกษา 2548 (พ.ศ. 2549) จะนำมาใช้ 10% จากองค์ประกอบในการรับทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป
ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (GPA กลุ่มสาระฯ) คือผลการเรียน (เกรด) เฉลี่ยของวิชาพื้นฐาน (หลัก) และวิชาเพิ่มเติม (เลือก) ที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย เฉพาะในสาระการเรียนรู้นั้น ได้แก่
เช่น หากได้เรียนวิชาฟิสิกส์เพิ่มเติม ก็จะนำผลการเรียนไปคิดอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ หากเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ก็จะนำผลการเรียนไปคิดอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ หรือหากเรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานและวิชาภาษาเยอรมัน ก็จะนำผลการเรียนไปคิดอยู่ในกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
แต่ละคณะจะกำหนดกลุ่มสาระและค่าน้ำหนัก (เป็น %) ของกลุ่มสาระที่จะนำ GPA มาพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับสาขาที่จะศึกษาต่อ โดยส่วนใหญ่จะนำ GPA ของวิชาภาษาไทย สังคมศึกษาฯ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มาใช้ แต่คณะสาขามนุษยศาสตร์ก็มักจะไม่นำ GPA คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพิจารณาคัดเลือก
เมื่อนักเรียนจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ช่วงชั้นที่ 4) จะได้รับใบแสดงผลการเรียน (ปพ.) ซึ่งบอกทั้ง GPAX และ GPA กลุ่มสาระอยู่แล้ว จึงไม่ต้องคำนวณเองจากคะแนนเฉลี่ยแต่ละภาคเรียน
การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต (Ordinary National Education Test: O-NET) เป็นการวัดความรู้ที่เรียนมาตลอดช่วงชั้นที่ 4 (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) โดยจะสอบเมื่อเรียนจบปีที่ 3 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6) เพียงครั้งเดียว และคะแนนที่ได้ก็จะติดตัวตลอดไป
การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการทดสอบ ข้อสอบ O-NET ออกเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ไม่มีการแยกแผนการเรียน นักเรียนจะได้เรียนเนื้อหาที่ออกสอบซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานทั้งหมด จึงต้องสอบทุกคน วิชาที่จัดสอบและเนื้อหาตามสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ คือ
ข้อสอบ O-NET 1 ฉบับจะมีคำถาม 75-100 ข้อ เฉพาะในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์จะเป็นข้อสอบที่มีทั้งปรนัย (ตัวเลือก) และอัตนัย (เขียนตอบ) มีประมาณ 10% เป็นการให้เขียนคำตอบสั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นข้อความหรือตัวเลขจากการคำนวณ โดยจะมีคะแนนแตกต่างไปตามระดับความยากง่ายของคำถาม
การทดสอบทางการศึกษาการแห่งชาติขั้นสูง หรือ เอเน็ต (Advanced National Education Test: A-NET) เป็นข้อสอบที่มีระดับความยากและความซับซ้อนมากกว่าข้อสอบ O-NET โดยวัดความรู้ เน้นการคิด การวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ โดยจะสอบกี่ครั้งก็ได้ และคะแนน A-NET จะใช้ได้ครั้งละ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม นักเรียนสามารถสมัครสอบทุกวิชา บางวิชา หรือไม่ต้องสอบก็ได้ ขึ้นอยู่กับคณะและสาขาที่สนใจเข้าศึกษาต่อนั้นต้องการคะแนน A-NET วิชาใดบ้าง หรือไม่ต้องใช้ในการคัดเลือกเลย (เช่น นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์) วิชาที่จัดสอบ A-NET ได้แก่
ข้อสอบ A-NET 1 ฉบับจะมีคำถาม 75-100 ข้อ เฉพาะในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์จะเป็นข้อสอบที่มีทั้งปรนัย (ตัวเลือก) และอัตนัย (เขียนตอบ) มีประมาณ 20% เป็นการให้เขียนคำตอบสั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นข้อความหรือตัวเลขจากการคำนวณ โดยจะมีคะแนนแตกต่างไปตามระดับความยากง่ายของคำถาม
วิชาเฉพาะมีลักษณะเดียวกับ A-NET คือไม่จำเป็นต้องสอบ ขึ้นอยู่กับว่าคณะนั้น ๆ ต้องการใช้คะแนนส่วนนี้ในการคัดเลือกหรือไม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
สำหรับปีการศึกษา 2548 สถาบันการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้จัดสอบวิชาเฉพาะ (ภาษาต่างประเทศ) พร้อมกับการสอบ O-NET และ A-NET ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ. 2549
สำหรับปีการศึกษา 2548 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เป็นผู้จัดสอบวิชาเฉพาะ (ความถนัด) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548
ในปัจจุบันนั้น พุทธศักราช 2552 เป็นปีสุดท้ายที่มีการใช้ A-NET ในปี พุทธศักราช 2553 เป็นต้นไป นั้นได้ใช้ ความถนัดทั่วไป (GAT) และ ความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) แทนในระบบ
ระบบนี้ ทางสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ จะใช้ระเบียบกติกาตามที่สถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ กำหนด โดยไม่ใช้กฎเกณฑ์ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดขึ้น ระบบนี้ทางสถาบันนั้น ๆ มีจุดประสงค์เพื่อต้องการบุคคลที่มีความสามารถเฉพาะอย่างแท้จริง รวมถึงเปิดโอกาสกลุ่มบุคคลที่ต้องการศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ ให้เข้าศึกษาต่อได้มากยิ่งขึ้น เป็นทางเลือกใหม่ของผู้ที่สนใจศึกษาต่อในสถาบันนั้น ๆ ทั้งนี้โดยทั่วไปสถาบันนั้น ๆ อาจพิจารณารับเข้าได้จากหลายเกณฑ์เช่น จากผลคะแนนสอบตรงที่สถาบันนั้น ๆ จัดขึ้น จากความสามารถพิเศษเช่นทางด้านกีฬา ดนตรี เป็นต้น
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา