รัฐประหาร (ฝรั่งเศส: coup d'?tat กูเดตา) เป็นการใช้กำลังยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างฉับพลันและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปกติเกิดจากสถาบันของรัฐที่มีอยู่เดิมขนาดเล็กเพื่อโค่นรัฐบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วเปลี่ยนเป็นองค์การปกครองใหม่ ไม่ว่าเป็นพลเรือนหรือทหาร รัฐประหารพิจารณาว่าสำเร็จแล้วเมื่อผู้ยึดอำนาจสถาปนาภาวะครอบงำ รัฐประหารไม่จำเป็นต้องเกิดความรุนแรงหรือเสียเลือดเนื้อ ศาลฎีกาตีความว่า รัฐประหารมิได้ขัดต่อกฎหมาย เพราะ "กฎหมายคือคำสั่งคำบัญชาของรัฏฐาธิปัตย์"
คำว่า coup d'?tat มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหากแยกพิจารณาจากการสนธิคำ จะแปลตรงตัวได้ว่า การล้มล้างอย่างเฉียบพลัน (coup = blow of) ต่อรัฐ (d'?tat = on state) โดยในพจนานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Britannica Concise Encyclopedia) นิยามว่าเป็นการยุบเลิกรัฐโดยฉับพลัน (stroke of state) การเข้ามาเถลิงอำนาจโดยเฉียบพลัน มักจะเกิดด้วยความรุนแรง การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกลุ่มก่อการ (a group of conspirators) มักจะเกิดกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง หรือมีในระดับต่ำ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐประหารมักไม่ประสบความสำเร็จ
ส่วนพจนานุกรมศัพท์ทางการทหารของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Companion to Military History) อธิบายว่า เป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือคณะปกครองด้วยกำลัง โดยมักเกิดจากกองทัพ พจนานุกรมศัพท์ทางทหารอเมริกันของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of the US Military) นิยามว่า เป็นการเข้ามาเถลิงอำนาจในรัฐบาลอย่างรวดเร็วรุนแรงและผิดกฎหมาย พจนานุกรมศัพท์ทางการเมืองของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of Politics) กล่าวว่า เป็นการยุบเลิกรัฐบาลอย่างกะทันหันด้วยกำลังที่ผิดกฎหมายมักกระทำการโดยกองทัพหรือส่วนหนึ่งของกองทัพ โดยมักจะเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เห็นชอบของประชาชน หรือไม่ก็มักเป็นปัญหากับประชาชนบางส่วน ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง หรือไม่ก็ด้วยความร่วมมือของพรรคการเมือง หรือกลุ่มทางการเมือง
โดยสรุป รัฐประหารหมายถึง การเปลี่ยนแปลงประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลโดยเฉียบพลันด้วยกำลัง ความรุนแรง และผิดกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง (regime)
คณะรัฐประหารของไทยที่ก่อการสำเร็จ มักจะเรียกตนเองหลังก่อการว่า "คณะปฏิรูป" หรือ "คณะปฏิวัติ" เพื่อให้มีความหมายไปในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่าการ "ปฏิวัติ" หรือ "อภิวัฒน์" (revolution) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองนั้น เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงครั้งเดียว จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่ความเห็นอีกด้านหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะผสมผสาน ระหว่างการปฏิวัติกับการรัฐประหาร เนื่องจากมีการใช้กำลังทหาร ในการควบคุมบังคับ เพื่อระงับอำนาจของรัฐบาล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[ต้องการอ้างอิง]
ผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ล้วนแต่มาจากฝ่ายทหารบกทั้งสิ้น[ต้องการอ้างอิง] ส่วนทหารเรือเคยพยายามก่อรัฐประหารมาแล้ว ในกรณีกบฏวังหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2492 และกบฏแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่กระทำการไม่สำเร็จ แล้วหลังจากนั้น ทหารเรือก็เสียอำนาจในการเมืองไทยไป[ต้องการอ้างอิง]
ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง[ต้องการอ้างอิง]