การรวมราชบัลลังก์ (อังกฤษ: Union of the Crowns; แกลิกสกอตแลนด์: Aonadh nan Cr?intean; สกอต: Union o the Crouns) คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2146 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ และรวมการปกครองแผ่นดินของทั้งสามราชอาณาจักรไว้ภายใต้พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ภายหลังจากที่พระญาติของพระเจ้าเจมส์ พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ทิวดอร์) เสด็จสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท
การรวมราชบัลลังก์ทำให้เกิดการรวมราชวงศ์และรัฐร่วมประมุขขึ้นใหม่ โดยราชบัลลังก์แห่งสกอตแลนด์ยังคงแยกต่างหากออกมาจากราชบัลลังก์แห่งอังกฤษ แม้ว่าพระเจ้าเจมส์จะทรงพยายามอย่างมากในการสถาปนา ราชบัลลังก์แห่งบริเตนใหญ่ ขึ้นมาใหม่ก็ตาม ทำให้อังกฤษและสกอตแลนด์ยังคงดำรงสถานะเป็นรัฐอธิปไตยต่อไป รวมทั้งมีพระประมุขร่วมกับราชอาณาจักรไอร์แลนด์ (ทั้งสามอาณาจักรมีสมัยไร้กษัตริย์ร่วมกันระหว่างปี พ.ศ. 2192 - 2203 หรือในสมัยเครือจักรภพแห่งอังกฤษและสมัยรัฐในอารักขา) ไปจนกระทั่งการผ่านร่างพระราชบัญญัติสหภาพ พ.ศ. 2250 โดยรัฐสภาอังกฤษและรัฐสภาสกอตแลนด์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระราชินีนาถแอนน์ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สจวต
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2046 พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ทิวดอร์ พระธิดาองค์โตในพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ อันนับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ดังที่ปรากฏในบทกลอน เดอะทริสซิลแอนด์เดอะรอยซ์ โดยวิลเลียม ดันบาร์ การอภิเษกสมรสดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากสนธิสัญญาสันติสุขตลอดกาล พ.ศ. 2045 (Treaty of Perpetual Peace (1502)) ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วเป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ที่ดำเนินมานามร่วมศตวรรษ ทั้งยังรวมลำดับการสืบราชสมบัติสายราชวงศ์สจวตเข้ากับสายราชวงศ์ทิวดอร์แห่งอังกฤษ แม้ว่าในขณะนั้นการเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งอังกฤษโดยเจ้าชายสกอตแลนด์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ขุนนางฝ่ายอังกฤษจำนวนมากต่างวิตกกังวลถึงผลที่ตามมาจากการรวมราชวงศ์ผ่านการเสกสมรสในครั้งนี้ รวมถึงสมาชิกสภาองคมนตรีแห่งอังกฤษบางคนด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการตอบโต้ความหวาดระแวงนี้ พระเจ้าเฮนรีที่ 7 จึงมีพระราชดำรัสตอบอันโด่งดังว่า
หากแต่ว่าสันติสุขนั้นไม่ได้ยืนยาวตลอดกาล สนธิสัญญาถูกเพิกถอนในปี พ.ศ. 2056 เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 พระมหากษัตริย์อังกฤษและเจ้าแห่งไอร์แลนด์ ผู้สืบทอดราชสมบัติต่อจากพระบิดาเมื่อสี่ปีก่อน ประกาศสงครามต่อฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงตอบโต้ด้วยการใช้สิทธิ พันธมิตรเก่า (Auld Alliance) อันเป็นสายสัมพันธ์กับสกอตแลนด์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ส่งผลให้พระเจ้าเจมส์รุกรานตอนเหนือของอังกฤษและนำไปสู่สมรภูมิฟลอดเดน
หลายทศวรรษต่อจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์ตกอยู่ในสภาวะโกลาหล ตามมาด้วยปัญหาการสืบราชสมบัติที่เริ่มบานปลาย เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ครองราชย์มาได้ครึ่งค่อนรัชกาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2046 ปัญหาดูเหมือนจะไม่มีสาระสำคัญอะไร จึงเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่าเป็นเพราะภาวะการเจริญพันธุ์ของสมาชิกราชวงศ์ทิวดอร์เริ่มเสื่อมถอยจนนำไปสู่สภาวะแย่งชิงอำนาจทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นรัชทายาททิวดอร์สายพระราชินีมาร์กาเร็ต (พระเชษฐภคนีในพระเจ้าเฮนรีที่ 8) ถูกกันออกจากลำดับสืบราชสมบัติอังกฤษ แม้กระทั่งในรัชกาลของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ก็ยังมีกระแสวิตกกังวลขึ้นมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามช่วงทศวรรษสุดท้ายในรัชกาลของพระนางเจ้าเอลิซาเบธ เป็นที่กระจ่างชัดแก่ทุกคนแล้วว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ พระปนัดดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 4 กับพระราชินีมาร์กาเร็ต คือรัชทายาทเพียงพระองค์เดียวที่สามารถยอมรับได้
จากปี พ.ศ. 2144 ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 นักการเมืองอังกฤษจำนวนหนึ่ง เช่น เซอร์โรเบิร์ต เซซิล เอกรัฐมนตรีของพระนาง ยังคงติดต่อเป็นการลับกับพระเจ้าเจมส์เพื่อให้การสืบราชสมบัติที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างราบรื่น เซซิลถวายคำชี้แนะแก่พระเจ้าเจมส์ว่ามิควรเร่งเร้าประเด็นการสืบราชบัติกับสมเด็จพระราชินีนาถ แต่ทรงควรที่จะถวายความเมตตาและความเคารพแด่สมเด็จพระราชินีนาถต่อไป ท่าทีดังล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล เมื่อพระนางเจ้าเอลิซาเบธทรงพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าเจมส์ว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์มิได้เคลือบแคลงพระทัย หากแต่พระราชหัตถเลขาฉบับท้ายสุดของพระองค์ ข้าพเจ้ารับมันไว้ด้วยความปิติ จนข้าพเจ้ามิอาจเพิกเฉยต่อความรู้สึกขอบคุณเฉกเช่นเดิมได้อีกต่อไป" ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2146 เป็นที่ชัดเจนว่าพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จวนที่จะเสด็จสวรรคตแล้ว เซซิลดำเนินการร่างคำประกาศอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษของพระเจ้าเจมส์ มีการยกระดับการเฝ้าระวังตามป้อมปราการสำคัญ ๆ ส่วนที่กรุงลอนดอนต่างเต็มไปด้วยทหารราชองครักษ์ พระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคตไม่นานหลังจากล่วงเข้าสู่วันที่ 24 มีนาคม ภายในระยะเวลาแปดชั่วโมงนับจากนั้น พระเจ้าเจมส์ก็ได้รับการประกาศให้เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่ ณ กรุงลอนดอน ในขณะที่ข่าวสารการเสด็จขึ้นครองราชย์เผยแพร่ไปทั่วโดยปราศจากความวุ่นวายหรือการประท้วงต่อต้าน
ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2146 พระเจ้าเจมส์เสด็จฯ ออกจากเอดินบะระมุ่งสู่ลอนดอน ทรงให้คำมั่นว่าจะเสด็จฯ นิวัตสกอตแลนด์ทุก ๆ สามปี (คำมั่นที่มิทรงสามารถรักษาได้สำเร็จ เนื่องจากเสด็จฯ นิวัตสกอตแลนด์เพียงครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2160 นับเป็นระยะเวลาสิบสี่ปีหลังจากเสด็จฯ ออกจากสกอตแลนด์) การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า จากอีกเมืองสู่อีกเมืองหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เสด็จฯ ถึงลอนดอนพอดีกับที่พระราชพิธีศพของพระนางเจ้าเอลิซาเบธเสร็จสิ้นลงพอดี ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน บรรดาเจ้านายและขุนนางท้องถิ่นถวายการต้อนรับพระองค์อย่างดีเยี่ยม เฉกเช่นเดียวกับพสกนิกรมากมายต่างพากันแห่แหนมาเข้าเฝ้าพระองค์ ทำให้ทรงคลายความกังวลที่ว่าการสืบราชสมบัติของพระองค์จะจุดชนวนความไม่สงบหรือสงครามขึ้น ต่อมาขณะที่กำลังเสด็จฯ เข้าสู่กรุงลอนดอน ฝูงชนจำนวนมหาศาลหลั่งไหลกันมาชื่นชมพระบารมี ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งถึงกับบรรยายเอาไว้ว่า "ท้องทุ่งอันงดงามถูกแทนที่ด้วยมวลมหาชน แก่งแย่งกันเพื่อชื่นชมพระพักต์กษัตริย์ของตน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย" พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเจมส์จัดขึ้นวันที่ 25 กรกฎาคม พร้อมกับคำกล่าวสรรเสริญเชิงอุปมาอุปไมยโดยกวีชาวอังกฤษผู้เลื่องชื่ออย่าง โธมัส เดกเคอร์ และเบน โจนสัน แม้ว่างานเฉลิมฉลองจะถูกจำกัดเนื่องจากการแพร่ระบาดของกาฬโรคก็ตาม ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้คนจำนวนมากต่างก็ยังคงออกมาร่วมเฉลิมฉลองทั่วกรุงลอนดอน ดังเช่นที่เดกเคอร์บรรยายเอาไว้ว่า "พื้นของท้องถนนแปรสภาพไปราวกับถูกปูด้วยฝูงชน ชั้นวางของแทนที่จะเต็มไปด้วยเครื่องตกแต่งราคาแพง กลับถูกแทนที่ด้วยพวกเด็ก ๆ บานหน้าต่างเองก็เต็มไปด้วยสตรีผู้เฝ้าดูการเฉลิมฉลอง"
และแม้ว่าความวิตกกังวัลที่ว่าชาวสกอตกำลังปกครองอังกฤษจะยังคงหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม แต่การเสด็จฯ มาถึงของพระเจ้าเจมส์ได้ปลุกเร้าชาวอังกฤษให้คาดหวังเอาไว้สูง เนื่องจากช่วงท้ายรัชกาลของพระนางเจ้าเอลิซาเบธสร้างความผิดหวังให้กับประชาชนจากคำถามและความกังวัลเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์ที่บั่นท้อนประเทศชาติให้ตกอยู่ในวังวนของปัญหาอยู่หลายสิบปี พร้อมกับการมาถึงของกษัตริย์พระองค์ใหม่ บุคคลผู้รักครอบครัวและมีรัชทายาทของพระองค์อยู่แล้ว แต่ช่วงเวลาอันสวยหรูของกษัตริย์พระองค์ใหม่นั้นช่างแสนสั้น เนื่องจากพระราโชบายในช่วงต้นจะสร้างผลตอบรับที่ออกมาในเชิงลบ และเปลี่ยนพระเจ้าเจมส์จากพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ผู้ประสบความสำเร็จไปสู่พระมหากษัตริย์อังกฤษผู้น่าผิดหวัง หนึ่งในเหตุผลที่เด่นชัดและใหญ่หลวงมากที่สุดนั่นก็คือข้อกังขาถึงพระราชสถานะและพระอิสริยยศของพระองค์ พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามที่จะใช้พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ แต่ขวากหนามชิ้นใหญ่ที่ขัดขวางความพยายามนี้ก็คือทัศนคติในรัฐสภาอังกฤษ
พระราชดำรัสแรกที่ทรงมีต่อรัฐสภาแห่งอาณาจักรทางตอนใต้ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2146 ระบุชัดเจนถึงพระราชปณิธานของพระองค์ ดังนี้
รัฐสภาอาจจะเห็นด้วยกับพระเจ้าเจมส์ที่ไม่ทรงยอมรับการมีมเหสีสององค์ แต่หากเปรียบการรวมราชอาณาจักรอังกฤษกับราชอาณาจักรสกอตแลนด์เป็นการเสกสมรสดังเช่นที่พระเจ้าเจมส์ทรงเปรียบเปรย ในมุมมองของรัฐสภาอังกฤษ การเสกสมรสดังกล่าวก็คงจะเป็นการเสกสมรสกับสตรีผู้มีศักดิ์ต่ำกว่า ความพยายามของพระเจ้าเจมส์ได้รับเสียงตอบรับที่เฉื่อยชา ขณะที่สมาชิกรัฐสภาคนแล้วคนเล่าต่างพากันลุกขึ้นมาปกป้องชื่อนามและราชอาณาจักรอังกฤษอันเก่าแก่ของตน การคัดค้านด้วยเหตุผลด้านข้อกฎหมายถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างหลายประการ เช่น กฎหมายทุกฉบับที่เคยประกาศใช้จะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณใหม่ หรือสนธิสัญญาทุกฉบับที่เคยทำไว้กับนานาประเทศจะต้องถูกนำขึ้นมาเจรจาใหม่ เป็นต้น สำหรับพระเจ้าเจมส์ผู้คุ้นชินกับระบบกึ่งรัฐสภากึ่งศักดินาที่มีขั้นตอนการปกครองชัดเจนของสกอตแลนด์ เมื่อต้องมาเผชิญกับความทะนงตนและความดื้อรั้นของระบบรัฐสภาอังกฤษที่เคยต่อกรกับกษัตริย์ผู้ร้ายกาจหลายพระองค์ในอดีตแล้วนั้น นับเป็นความตกตะลึงครั้งใหญ่หลวงของพระองค์ ทรงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยการสมมติพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียวตาม คำประกาศว่าด้วยพระราชฐานันดรศักดิ์ของพระราชา (Proclamation concerning the Kings Majesties Stile) ณ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2147 ที่ประกาศว่าทรง "สมมติตนด้วยราชสิทธิ์อันบริสุทธิ์ ภายใต้พระนามและพระราชฐานันดรศักดิ์ของ พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ ผู้พิทักษ์แห่งศรัทธา" หากแต่ยิ่งสร้างความบาดหมางให้เพิ่มมากขึ้น แม้แต่ในสกอตแลนด์เองความพยายามนี้ก็ได้รับความสนใจเพียงน้อยนิด ซึ่งแม้ว่ารัฐสภาของทั้งสองประเทศยินยอมที่จะนำวาระดังกล่าวไปพิจารณาแล้วก็ตาม แต่การพิจารณากลับใช้เวลาหลายสิบปีและไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด
ในสกอตแลนด์ หลายคนเห็นสัญญาณบ่งชี้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้อาจเปรียบได้กับ "ปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็ก" ดังเช่นที่พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ได้ตรัสเอาไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้ก่อนหน้านี้ก็คือไอร์แลนด์ ราชอาณาจักรแต่เพียงในนาม หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วแท้จริงก็คือรัฐบริวารนั่นเอง (นับตั้งแต่ พ.ศ. 2144) นักเขียนและนักกฎหมายอย่างจอห์น รัสเซล ได้ถวายฎีกา การรวมเป็นสหภาพอันปีติและศักดิ์สิทธิ์ระหว่างราชอาณาจักรโบราณแห่งสกอตแลนด์และอังกฤษ (the happie and blissed Unioun betuixt the tua ancienne realmes of Scotland and Ingland) เตือนพระเจ้าเจมส์ว่า
ความหวาดกลัวนี้ยิ่งถูกแผ่ขยายออกไปโดยรัฐสภาสกอตแลนด์ สมาชิกรัฐสภากล่าวต่อพระเจ้าเจมส์ด้วยความมั่นใจว่าแผนการรวมเป็นสหภาพของพระองค์จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อกฎหมายและเสรีภาพอันเก่าแก่ของสกอตแลนด์ แต่หากว่าเกิดผลกระทับดังกล่าวขึ้น "ระบอบราชาธิปไตยแบบเสรีคงมิอาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป" พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามให้พสกนิกรชาวอังกฤษของพระองค์มั่นใจว่าการรวมเป็นสหภาพจะไม่แตกต่างจากการเป็นสหภาพระหว่างอังกฤษและเวลส์ และว่าหากสกอตแลนด์เลือกที่จะปฏิเสธแผนการดังกล่าวแล้ว "ก็จะทรงบีบบังคับให้พวกเขายินยอม" ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2147 รัฐสภาของทั้งสองประเทศผ่านร่างพระราชบัญญัติในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ถึงการรวมเป็น "สหภาพที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น" โดยพระเจ้าเจมส์มีพระราชดำรัสปิดการพิจารณาร่างฯ ดังกล่าวในวาระสุดท้ายด้วยการต่อว่าฝ่ายที่ต่อต้านสหภาพในสภาสามัญชนว่า "ณ สถานที่แห่งนี้ ... ท่านผู้มีบุญญานุภาพได้ฝั่งร่างของตนลง ณ ก้นเหวแห่งท้องทะเล ด้วยใคร่พินิจแต่การแบ่งแยกสหภาพซึ่งพระเจ้าได้ทรงประสานเอาไว้"
คณะกรรมการว่าด้วยการรวมเป็นสหภาพดังกล่าวปฏิบัติงานตามพันธกิจของตนได้เพียงน้อยนิด โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างสองชาติ อาทิเช่น ความบาดหมางในประเด็นเส้นเขตแดน การค้า และสถานภาพของพลเมือง มีการถกเถียงถึงแนวคิดการเปิดการค้าเสรีกันอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับประเด็นสิทธิอันเท่าเทียมตามกฎหมาย ความหวาดกลัวและวิตกกังวลว่าชาวสกอตแลนด์ผู้ยากจนจะแย่งงานไปจากชาวอังกฤษจนหมดถูกแสดงออกกันอย่างเปิดเผยในรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ พวกเขากังวลว่าชาวสกอตแลนด์จำนวนมากจากอาณาจักรยากจนทางตอนเหนือ "จะล้นทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจจะนำความอดอยากและความตายตามมาด้วย" ส่วนประเด็นสถานภาพพลเมืองของบุคคลที่เกิดหลังการรวมราชบัลลังก์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2146 นั้นยังไม่ได้รับการชี้ชัดโดยรัฐสภา แต่ถูกชี้ชัดจากฝ่ายตุลาการด้วยคำพิพากษาใน คดีแคลวิน พ.ศ. 2151 ที่ตัดสินให้พสกนิกรใต้อาณัติของพระมหากษัตริย์ (ที่เกิดหลังการรวมราชบัลลังก์) ทุกคนอยู่ภายใต้ระบอบกฎหมายจารีต (คอมมอนลอว์) ของอังกฤษ ไม้เว้นแม้กระทั่งบุคคลซึ่งเกิดในสกอตแลนด์
อภิสิทธิ์ชนชาวสกอตและผู้โหยหาอำนาจต่างพากันมุ่งสู่กรุงลอนดอน หวังแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งอันใหญ่โตในรัฐบาล หลายปีต่อมาเซอร์แอนโธนี เวลดอน เขียนไว้ว่า
ในสุขนาฏกรรมเรื่อง อีสต์เวิร์ดโฮ (Eastward Ho) ซึ่งเป็นการรังสรรค์ร่วมกันระหว่างเบน โจนสัน, จอร์จ แชปแมน และจอห์น มาร์สตัน มีการคาดการณ์ถึงชีวิตอันแสนสุขสบาย ณ อาณานิคมเวอร์จิเนียไว้ว่า
จากบทละครนั้นเอง กระแสความไม่พอใจและต่อต้านอังกฤษแพร่กระจายไปทั่ว และในปี พ.ศ. 2152 พระเจ้าเจมส์ผ่านร่างพระราชบัญญัติที่พิจารณาบทลงโทษอันร้ายแรงต่อนักเขียน นักประพันธ์ หรือผู้ครอบครอง งานเขียนเชิงเสียดสี งานเขียนเชิงดูหมิ่น บทเพลง เรื่องเล่าเชิงขบขัน ตลก และคำประกาศใดก็ตามที่บ่อนทำลายและดูหมิ่นประเทศและรัฐชาติแห่งอังกฤษ
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2148 เอกอัครราชทูตเวนิสประจำกรุงลอนดอนบันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้ามั่นใจได้ว่าข้อถกเถียงเรื่องการรวมเป็นสหภาพจะตกไป ฝ่าพระบาท (พระเจ้าเจมส์) ทรงตระหนักได้อย่างถ่องแท้แล้วว่ามิสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทั้งสองฝ่ายล้วนแต่แสดงความดื้อรั้นออกมาเสียจนไม่มีที่ว่างสำหรับความปรองดอง ฉะนั้นแล้ว ในตอนนี้ฝ่าพระบาทก็ทรงทำได้แต่เพียงปล่อยวางประเด็นดังกล่าว คอยหวังว่ากาลเวลาจะช่วยกลบกลืนตลกร้ายเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป"
พระเจ้าเจมส์ทรงประดิษฐ์ตราอาร์ม เครื่องแบบ เหรียญกษปาณ์ และอื่น ๆ ขึ้นเสียใหม่ ส่วนธงชาติใหม่ก็นำมาซึ่งการถกเถียง เนื่องจากฝ่ายนึงยอมรับและชื่นชมรูปแบบของธงที่มีลักษณะดูหมิ่นฝ่ายที่เหลือ จนในที่สุดพระเจ้าเจมส์จึงประกาศใช้ธงสหภาพในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2149 ชาวสกอตผู้เห็นกางเขนนักบุญจอร์จซ้อนทับลงบนกางเขนนักบุญแอนดรูว์รู้สึกไม่พอใจ และพยายามที่จะประดิษฐ์ธงสหภาพในแบบของตนด้วยการให้กางเขนนักบุญแอนดรูว์ซ้อนทับลงบนกางเขนนักบุญจอร์จแทน (ธงสหภาพแบบสกอตแลนด์นี้ถูกใช้งานในสกอตแลนด์จนกระทั่งปี พ.ศ. 2250) ส่งผลให้กองเรือของทั้งสองรัฐต่างฝ่ายต่างใช้ธงสหภาพในแบบของตนเป็นเวลาหลายสิบปี แม้จะมีพระราชโองการประกาศใช้ธงสหภาพตามแบบที่ถูกต้องออกมาก็ตาม กว่าธงสหภาพจะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายและทั่วไป เวลาก็ล่วงเลยเข้าสู่สมัยรัฐในอารักขาที่ปกครองโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เสียแล้ว
ตราดอกกุหลาบทิวดอร์แห่งอังกฤษกับดอกทิสเซิลแห่งสกอตแลนด์ พระเจ้าเจมส์ทรงใช้ตราอาร์มนี้เป็นตราลัญจกร