การรบที่เมืองคัง เป็นผลมาจากการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์พม่า ทำให้เจ้าประเทศราชไทยใหญ่กระด้างกระเดื่องต่อพม่า พม่าต้องการปราบปรามเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ประเทศราชอื่น ๆ พระเจ้านันทบุเรงทรงต้องการให้มีการแข่งขันในการรบ จึงทรงจัดให้เจ้านายพม่าและพระนเรศวรเข้าตีเมืองคังคนละวัน เจ้านายพม่าทั้งสองไม่สามารถเข้าตีเมืองได้ จนถึงวันที่สาม พระนเรศวรทรงใช้เส้นทางลับเข้าตีเมืองจนสำเร็จ
กองทัพพระมหาอุปราชา ทำการเข้าตีวันแรกก็ถูกฝ่ายข้าศึกผลักก้อนศิลาลงมาทับผู้คนล้มตายเป็นอันมาก มิอาจจะเข้าตีต่อไปได้ ในที่สุดต้องถอยทัพกลับลงมายังค่ายเชิงเขา
กองทัพพระสังกะทัต ทำการเข้าตีวันที่สอง เกิดการรบพุ่งกันเป็นสามารถ แต่ฝ่ายข้าศึกอยู่บนที่สูง ชัยภูมิมั่นได้ผลักก้อนศิลาลงมาถูกรี้พลพระสังกะทัตล้มตายเป็นอันมาก จะขึ้นหักเอามิได้ ก็ต้องถอยทัพกลับลงมาเช่นกัน
กองทัพพระนเรศวร ในระหว่างกองทัพพม่าเข้าตีสองวันแรก พระนเรศวร ได้นำทหารออกสำรวจภูมิประเทศรอบ ๆ เมืองคัง และสังเกตผลการรบของกองทัพพม่าจนกระทั่งพบเส้นทางลับด้านหลังเมืองคัง ซึ่งสามารถเข้าตีเมืองคังได้ง่ายกว่า โดยดำเนินการใช้กลยุทธในการเข้าตี พระนเรศวรแบ่งกำลังพลออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งทำการเข้าตีทางด้านหน้าระดมยิงปืนนกสับขึ้นไปอย่างแน่นหนา ในขณะที่ข้าศึกกำลังสาละวนผลักก้อนศิลา และทำการยิงโต้ตอบทางด้านหน้า พระนเรศวรทรงนำทหารจำนวนหนึ่งจู่โจมเข้าตีกระหนาบทางด้านหลังทำให้ข้า ศึกพะว้าพะวัง พระองค์ทรงนำทหารเข้าตีโดยมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ใช้กำลังส่วนน้อยเข้าตีลวงข้าศึกเมืองคังด้านหน้า แล้วใช้กำลังส่วนใหญ่เข้าตีทางด้านหลังเมืองคังและสามารถเข้ายึดเมืองคังได้เป็นผลสำเร็จ
กองทัพอยุธยาสามารถเข้าตีเมืองคังได้ ทำให้พระนเรศวรมีชื่อเสียงเกรียงไกรไปทั่วทุกสารทิศ เมื่อพระเจ้านันทบุเรงได้ประจักษ์ในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการรบของพระนเรศวรก็ทรงดำริว่า อันพระนเรศวรนั้น ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ มีพระสติปัญญามั่นคงกล้าหาญ ละไว้นานจะเป็นอันตรายต่อกรุงหงสาวดี จึงคิดอุบายเพื่อนำตัวขึ้นมาสำเร็จโทษที่กรุงหงสาวดี เพื่ออำนาจกรุงหงสาวดีจะได้แผ่ไพศาลโดยไม่ต้องระแวงภัยจากกรุงศรีอยุธยา แต่ฝ่ายสมเด็จนเรศวรทรงทราบความก่อน จึงได้ยกกองทัพกลับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา