การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในนาซีเยอรมนี นับว่าเป็นการรณรงค์งดสูบบุหรี่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 จนถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1940นาซีเยอรมนีเป็นชาติแรก ๆ ที่มีการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ได้เจริญขึ้นอย่างมากในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่ว่าประสบความสำเร็จน้อยมาก ยกเว้นในนาซีเยอรมนีซึ่งได้มีการรณรงค์อย่างแข็งขันที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคนาซี ผู้นำชาติสังคมนิยมได้คัดค้านการสูบบุหรี่ และวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจากการสูบบุหรี่อย่างเปิดเผย การวิจัยถึงบุหรี่และผลของการสูบบุหรี่ได้รับการสนับสนุนในยุคสมัยของพรรคนาซี และกลายเป็นงานวิจัยที่มีความสำคัญมากในสมัยนั้น ส่วนตัวของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เองแล้ว เขาเป็นคนเกลียดบุหรี่ และมีนโยบายในการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ และนโยบายดังกล่าวต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากลัทธิต่อต้านยิวและคตินิยมเชื้อชาติ
การรณรงค์งดสูบบุหรี่ในนาซีเยอรมนียังรวมไปถึง การห้ามสูบบุหรี่ในรถราง รถโดยสารประจำทางและรถไฟประจำเมือง การสนับสนุนวิชาสุขศึกษา การกำหนดการปันส่วนบุหรี่ในกองทัพบก การจัดการบรรยายเรื่องยาให้แก่ทหาร และการเพิ่มภาษีบุหรี่ พวกชาติสังคมนิยมยังกำหนดให้มีการจำกัดการโฆษณาบุหรี่และการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ รวมไปถึงการวางระเบียบร้านอาหารและบ้านกาแฟ การรณรงค์งดสูบบุหรี่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักในช่วงต้นของยุคนาซี และปริมาณการบริโภคบุหรี่ก็เพิ่มมากขึ้นในช่วง ค.ศ. 1933 ถึง ค.ศ. 1939 แต่การสูบบุหรี่โดยทหารลดลงในช่วงปี ค.ศ. 1939 ถึงปี ค.ศ. 1945 จนกระทั่งถึงตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 การรณรงค์งดสูบบุหรี่ในเยอรมนีหลังสงครามก็ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่ากับการรณรงค์ของนาซี
ความรู้สึกในการต่อต้านบุหรี่เริ่มเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีในช่วงตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1900 กลุ่มผู้วิจารณ์การสูบบุหรี่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านบุหรี่แห่งแรกของประเทศ ชื่อว่า "สมาคมผู้ต่อต้านการสูบบุหรี่เพื่อปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่แห่งเยอรมนี" (เยอรมัน: Deutscher Tabakgegnerverein zum Schutze der Nichtraucher) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1904 แต่ได้มีการดำเนินการเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น องค์การต่อต้านบุหรี่ถัดมา คือ สหพันธ์ผู้ต่อต้านบุหรี่ชาวเยอรมัน (เยอรมัน: Bund Deutscher Tabakgegner) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1910 ในเมืองเทราเตนาว แคว้นโบฮีเมีย องค์การต่อต้านบุหรี่อีกแห่งหนึ่ง ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1912 ในเมืองฮันโนเวอร์และเดรสเดิน ในปี ค.ศ. 1920 ได้มีการก่อตั้ง "สหพันธ์ผู้ต่อต้านบุหรี่ชาวเยอรมันในเชโกสโลวาเกีย" (เยอรมัน: Bund Deutscher Tabakgegner in der Tschechoslowakei) ขึ้นในกรุงปราก หลังจากประเทศเชโกสโลวาเกียได้แยกตัวออกจากประเทศออสเตรียภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มีการก่อตั้ง "สหพันธ์ผู้ต่อต้านบุหรี่ชาวเยอรมันในสาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย" (เยอรมัน: Bund Deutscher Tabakgegner in Deutsch?sterreich) ในเมืองกราซ ในปี ค.ศ. 1920
กลุ่มงดสูบบุหรี่ดังกล่าวได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนการงดสูบบุหรี่ หนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาเยอรมันฉบับแรก คือ "ผู้ต่อต้านบุหรี่" (เยอรมัน: Der Tabakgegner) ซึ่งได้ตีพิมพ์โดยองค์การในแคว้นโบฮีเมียระหว่างปี ค.ศ. 1912 ถึงปี ค.ศ. 1932 ส่วนหนังสือพิมพ์ "ผู้ต่อต้านบุหรี่ชาวเยอรมัน" (เยอรมัน: Deutsche Tabakgegner) ได้ตีพิมพ์ในเมืองเดรสเดน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 ถึงปี ค.ศ. 1935 และเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาสนับสนุนการงดสูบบุหรี่เป็นอันดับที่สอง องค์การต่อต้านการสูบบุหรี่เหล่านี้ยังรณรงค์ให้มีการงดการบริโภคแอลกอฮอล์อีกด้วย
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นคนสูบบุหรี่จัดในช่วงต้นของชีวิต เขาสูบบุหรี่ถึงวันละ 25-40 มวน แต่ในภายหลังก็เลิกเสีย โดยสรุปว่ามันเป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์ หลายปีต่อมา ฮิตเลอร์มองว่าการสูบบุหรี่เป็น "ความเสื่อม" และ "ความแค้นของพวกพื้นเมืองอเมริกันต่อชนผิวขาว และการแก้แค้นสำหรับสุรากลั่น" เขาเสียใจที่ว่า "คนที่เยี่ยมยอดจำนวนมากต้องเสียท่าต่อพิษภัยของบุหรี่" เขาไม่มีความสุขเลยที่อีวา บราวน์ และมาร์ติน บอร์แมนน์ เป็นคนติดบุหรี่ และเป็นกังวลต่อเฮอร์มานน์ เกอริง ซึ่งยังคงสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เขาโกรธมากที่มีการมอบหมายให้สร้างอนุสาวรีย์ของเกอริงขณะที่เขากำลังสูบบุหรี่อยู่ ฮิตเลอร์มักจะถูกมองว่าเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่สนับสนุนให้งดสูบบุหรี่
ฮิตเลอร์นั้นไม่พอใจที่เสรีภาพของทหารในการสูบบุหรี่ และในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้กล่าวในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1942 ว่า: "มันเป็นความผิดพลาด และความผิดที่มาจากผู้นำของกองทัพในเวลานั้น ในช่วงต้นของสงคราม" และ "เป็นการไม่ถูกต้องที่จะกล่าวว่าทหารไม่อาจจะอยู่ได้หากปราศจากบุหรี่" เขาได้ให้สัญญาว่า เขาจะยุติการสูบบุหรี่ในกองทัพหลังจากสงครามสงบแล้ว โดยส่วนตัวแล้ว ฮิตเลอร์สนับสนุนให้เพื่อนสนิทไม่ให้สูบบุหรี่และให้รางวัลหากสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ความไม่ชอบบุหรี่โดยส่วนตัวของฮิตเลอร์นั้นเป็นเพียงหนึ่งในเหตุผลที่ซ่อนอยู่หลังการรณรงค์งดสูบบุหรี่
นโยบายการสืบพันธุ์นั้นเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องหลังการรณรงค์งดสูบบุหรี่ สตรีที่สูบบุหรี่นั้นถูกมองว่ามีโอกาสที่จะสูงอายุก่อนวัยและสูญเสียความดึงดูดทางกาย ซึ่งพรรคนาซีเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นภรรยาหรือแม่ในครอบครัวชาวเยอรมัน เวอร์เนอร์ ฮัตติงแห่งสำนักงานนโยบายทางเชื้อชาติ (เยอรมัน: Rassenpolitisches Amt) ได้กล่าวว่าการสูบบุหรี่ทำให้น้ำนมมารดาปนเปื้อนสารนิโคติน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่พิสูจน์ได้จริงในการวิจัยสมัยใหม่ มาร์ติน สเต็มมเลอร์ แพทย์ผู้มีชื่อเสียงในนาซีเยอรมนี ออกความเห็นว่าการสูบบุหรี่โดยสตรีมีครรภ์ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงแท้งบุตร ความคิดเห็นดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากสตรีผู้สนับสนุนแนวคิดความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ อักเนส บลูฮ์ม ซึ่งเธอได้ออกความคิดเห็นในหนังสือของเธอซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1936 ในทิศทางเดียวกัน คณะผู้นำนาซีเยอรมนีเป็นกังวลกับเรื่องนี้เพราะว่าพวกเขาต้องการให้สตรีชาวเยอรมันสามารถสืบพันธุ์ได้ มีบทความหนึ่งในวารสารนรีเวชวิทยา ในปี ค.ศ. 1943 บอกว่า สตรีที่สูบบุหรี่ตั้งแต่สามมวนขึ้นไปต่อวัน ส่วนมากแล้วจะยังคงไม่มีบุตรต่อไปเมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่ได้สูบบุหรี่
การวิจัยและการศึกษาถึงผลของบุหรี่ต่อสุขภาพของประชากรนั้นมีความเจริญก้าวหน้าในนาซีเยอรมนีมากกว่าชาติอื่นใดในโลก ในสมัยที่พรรคนาซีเรืองอำนาจ การเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับโรคมะเร็งปอด สามารถพิสูจน์ได้ครั้งแรกในนาซีเยอรมนี ตรงกันข้ามกับนักวิทยาศาสตร์อเมริกันและอังกฤษที่ค้นพบเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1950 แนวคิดการสูบบุหรี่มือสอง (เยอรมัน: Passivrauchen) ก็ได้มีการริเริ่มในนาซีเยอรมนีเช่นกัน โครงการวิจัยหลายแห่งที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากรัฐบาลนาซีได้ค้นพบผลร้ายแรงที่มีต่อสุขภาพ นาซีเยอรมนียังสนับสนุนให้มีการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาถึงผลของการสูบบุหรี่ ฮิตเลอร์ยังได้ให้เงินสนับสนุนส่วนตัวให้แก่ สถาบันวิจัยภัยบุหรี่ (เยอรมัน: Wissenschaftliches Institut zur Erforschung der Tabakgefahren) ในมหาวิทยาลัยจีนา นำโดยคาร์ล อัสเทลอีกด้วย ซึ่งสถาบันดังกล่าวก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1941 และได้กลายเป็นสถาบันวิจัยต่อต้านบุหรี่ที่สำคัญที่สุดของนาซีเยอรมนี
ฟรานซ์ ฮา. มึลเลอร์ และ เอ. ไชเรอร์ได้ใช้ทฤษฎีการควบคุมตัวแปรทางระบาดวิทยาเพื่อศึกษาถึงโรคมะเร็งปอดในหมู่ผู้สูบบุหรี่เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1939 และปี ค.ศ. 1943 ตามลำดับ ในปี 1939 มึลเลอร์ได้ตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาในวารสารด้านโรคมะเร็งในเยอรมนี ซึ่งกล่าวอ้างว่าการสูบบุหรี่จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด มึลเลอร์ได้รับสมญานามว่า "บิดาแห่งวิชาระบาดวิทยาทดลองที่ถูกลืม" ได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะยานยนต์ชาติสังคมนิยมและพรรคนาซี การแสดงความคิดเห็นของมึลเลอร์ในปี 1939 นั้นเป็นการศึกษาด้านระบาดวิทยาภายใต้การควบคุมเป็นครั้งแรกของโลกในด้านความเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับโรคมะเร็งปอด จากการศึกษาโรคมะเร็งปอดพบว่ายังมีอีกหลายสาเหตุที่นำไปสู่โรคมะเร็งปอด อย่างเช่น ฝุ่นละออง ไอเสียจากรถยนต์ วัณโรค รังสีเอกซ์ และของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รายงานของมึลเลอร์ได้ชี้ว่า "การสูบบุหรี่ได้รับการผลักดันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นได้ทั่วไป"
บรรดาแพทย์ในนาซีเยอรมนียังเห็นด้วยว่า ผลจากการสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นผลที่ร้ายแรงที่สุดของการสูบบุหรี่ บางครั้ง ได้มีการพิจารณาว่านิโคตินเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากขึ้นในประเทศ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง นักวิจัยได้พิจารณาว่านิโคตินเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจโคโรนารี ซึ่งทหารเยอรมันในแนวรบด้านตะวันออกเป็นโรคนี้กันมาก ผู้ชำนาญด้านอายุรเวชประจำกองทัพบกเยอรมันได้ทำการตรวจสอบทหารหนุ่มจำนวนสามสิบสองนายที่เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเอกสารศึกษาในปี ค.ศ. 1944 ได้ระบุว่าพวกเขาเป็นคนที่สูบบุหรี่จัด เขาได้อ้างอิงจากความคิดเห็นของผู้ชำนาญอายุรเวชฟรานซ์ บุชเนอร์ที่ว่าบุหรี่นั้นเป็น "พิษของโคโรนารีขั้นแรก"
พรรคนาซีได้นำยุทธวิธีหลายแบบในที่สาธารณะมาใช้เพื่อทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศงดสูบบุหรี่ นิตยสารด้านสุขภาพที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ผู้มีสุขภาพดี (เยอรมัน: Gesundes Volk)สุขภาพประชาชน (เยอรมัน: Volksgesundheit) และ ชีวิตสุขภาพดี (เยอรมัน: Gesundes Leben) ซึ่งได้ตีพิมพ์คำเตือนเกี่ยวกับผลของการสูบบุหรี่ และยังมีโปสเตอร์แสดงผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่อีกด้วย รวมไปถึงการส่งข้อความการต่อต้านบุหรี่ไปยังสถานที่ทำงานของผู้ใหญ่ทุกแห่ง ด้วยการช่วยเหลือของยุวชนฮิตเลอร์และสันนิบาตเด็กสาวเยอรมัน การรณรงค์งดสูบบุหรี่ดำเนินการโดยรัฐบาลนาซี รวมไปถึงการส่งเสริมวิชาสุขศึกษาด้วย ในเดือนมิถุนายน 1939 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานต่อต้านภัยบุหรี่และแอลกอฮอล์ และสำนักงานเพื่อการกำจัดยาเสพติด (เยอรมัน: Reichsstelle f?r Rauschgiftbek?mpfung) ซึ่งได้มีส่วนช่วยในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ด้วย ได้มีการตีพิมพ์บทความที่สนับสนุนให้คนเลิกสูบบุหรี่ในนิตยสารหลายฉบับ อย่างเช่น เครื่องบำรุงหัวใจรังสรรค์ (เยอรมัน: Die Genussgifte) การคุ้มกัน (เยอรมัน: Auf der Wacht) และ อากาศบริสุทธิ์ (เยอรมัน: Reine Luft) นอกเหนือจากนิตยสารเหล่านี้ นิตยสาร ไรเนอ ลุฟต์ ได้เป็นนิตยสารหลักที่เคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ สถาบันวิจัยผลกระทบจากบุหรี่ของคาร์ล อัสเทลที่มหาวิทยาลัยจีนาได้สั่งซื้อและแจกจ่ายสำเนากว่าหลายร้อยเล่มจาก ไรเนอ ลุฟต์
หลังจากได้ทีการค้นพบผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพ ทำให้รัฐบาลนาซีได้ออกกฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ขึ้นมาหลายฉบับ ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 กฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาล ในปี ค.ศ. 1938 รัฐบาลได้กำหนดให้ลุควาฟเฟและไรชซโพสห้ามสูบบุหรี่ นอกจากจะมีการสั่งห้ามสูบบุหรี่ในสถานรักษาพยาบาลแล้ว ยังรวมไปถึงสถานที่สาธารณะจำนวนมากและในบ้านด้วย การสั่งห้ามหมอตำแยไม่ให้สูบบุหรี่ระหว่างการทำคลอด ในปี ค.ศ. 1939 พรรคนาซีกำหนดให้การสูบบุหรี่ในสำนักงานของพรรคเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเฮนริช ฮิมม์เลอร์ หัวหน้าหน่วยชุทซซทัฟเฟิล (หรือ หน่วยเอสเอส) ได้สั่งห้ามไม่ให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสสูบบุหรี่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และได้มีการสั่งห้ามในโรงเรียนอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1941 กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในรถรางได้ประกาศใช้ในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศกว่า 60 เมือง นอกจากนี้ ยังมีการสั่งห้ามการสูบบุหรี่ในหลุมหลบภัยทางอากาศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลุมหลบภัยบางแห่งมีห้องแยกต่างหากสำหรับสูบบุหรี่โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีความห่วงใยเป็นพิเศษในการห้ามสตรีสูบบุหรี่ ประธานสมาคมทางยาในเยอรมนีได้กล่าวว่า "สตรีชาวเยอรมันจะไม่สูบบุหรี่" สตรีมีครรภ์ สตรีที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีและสตรีที่มีอายุมากกว่า 55 ปีไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับการปันส่วนบุหรี่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการขายบุหรี่ให้แก่สตรีในการต้อนรับแขกและอุตสาหกรรมอาหารขายปลีก และยังได้มีการสร้างภาพยนตร์ต่อต้านบุหรี่โดยมีเป้าหมายไปยังกลุ่มสตรีในที่สาธารณะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ได้มีการอภิปรายถึงประเด็นการสูบบุหรี่และพิษภัยของบุหรี่ นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อออกมาควบคุมในการพิจารณาดังกล่าวและสำนักงานองค์การโรงงานอุตสาหกรรมชาติสังคมนิยมได้ประกาศออกมาว่าจะขับไล่สมาชิกสตรีออกจากการเป็นสมาชิกหากพบว่าสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ก้าวต่อไปในการรณรงค์งดสูบบุหรี่มาถึงในเดือนกรกฎาคม 1943 เมื่อกำหนดให้การที่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในปีต่อมา การสูบบุหรี่ในรถโดยสารประจำทางและรถไฟประจำเมืองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากฮิตเลอร์เกรงว่าสตรีที่ขึ้นรถโดยสารประจำทางและรถไฟประจำเมืองจะได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่มือสอง
รัฐบาลนาซียังกำหนดห้ามให้มีการโฆษณาสินค้าบุหรี่ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 1941 และได้รับการลงนามโดย เฮนริช ฮุนเคอ ประธานสภาโฆษณา โฆษณามักจะพรรณนาถึงบุหรี่ว่าเป็นสิ่งไร้พิษภัยหรือไม่ก็สิ่งที่แสดงถึงความเป็นชาย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้การพูดจาเยาะเย้ยนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านบุหรี่เป็นสิ่งผิดกฎหมายด้วย นอกจากนี้ การโฆษณาบุหรี่ทางโปสเตอร์โฆษณาตามรางรถไฟ ในพื้นที่เขตชนบท สนามกีฬาและสนามแข่งรถ รวมไปถึงการสั่งห้ามการโฆษณาผ่านทางลำโพงกระจายเสียงและจดหมายด้วย
การกำหนดการห้ามสูบบุหรี่ยังได้มีนำเข้ามาในกองทัพบกเยอรมันด้วย การปันส่วนบุหรี่ในกองทัพถูกจำกัดเหลือหกมวนต่อนายต่อวัน บุหรี่เพิ่มเติมสามารถจำหน่ายให้แก่ทหารได้ เมื่อยังไม่มีกำหนดการบุกหรือการถอนทัพในสนามรบ อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายบุหรี่เพิ่มเติมก็ถูกจำกัดไว้ที่ไม่เกินห้าสิบมวนต่อเดือน ทหารวัยรุ่นซึ่งอยู่ในกองพลเอสเอสแพนเซอร์ที่ 12 ฮิตเลอร์จูเกนด์ ได้รับแจกเสบียงขนมหวานแทนที่จะเป็นบุหรี่ สตรีในกองทัพบกเยอรมันได้รับการสั่งห้ามมิให้สูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด และได้มีการจัดการบรรยายทางยาขึ้นเพื่อชักชวนให้ทหารเลิกสูบบุหรี่ เทศบัญญัติแห่งวันที่ 3 พฤศจิกายน 1941 ได้ปรับอัตราภาษีบุหรี่ขึ้นอย่างน้อย 80-95% ของราคาขายปลีก ซึ่งนับว่าเป็นการขึ้นภาษีบุหรี่ที่สูงสุดมาจนกระทั่งถึงยุคสมัยเยอรมนีในอีก 25 ปีให้หลังจากยุคนาซี
นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า การรณรงค์ในช่วงแรก ๆ นั้นไม่ประสบความสำเร็จเลย และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 ถึงปี ค.ศ. 1937 จำนวนการบริโภคบุหรี่ในเยอรมนีมีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก อัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวสูงกว่าในฝรั่งเศส ที่ซึ่งมีการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ที่มีขนาดเล็กกว่าเสียอีก ระหว่างปี 1932 ถึงปี 1939 จำนวนการบริโภคบุหรี่ต่อหัวในเยอรมนีเพิ่มขึ้นจาก 570 มวน มาเป็น 900 มวนต่อปี ขณะที่ในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นจาก 570 มวน มาเป็น 630 มวนต่อปี
บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ในเยอรมนีได้พยายามที่จะขัดขวางความพยายามในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ พวกเขาได้ตีพิมพ์วารสารขึ้นมาใหม่และพรรณนาถึงการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ว่าเป็น "คนบ้า" และ "ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์" อุตสาหกรรมบุหรี่ยังพยายามที่จะตอบโต้การรณรงค์ของรัฐบาลในการห้ามไม่ให้ผู้หญิงสูบบุหรี่ และจ้างนางแบบให้สูบบุหรี่ในการโฆษณาของพวกเขา แม้ว่าจะมีการวางระเบียบจากรัฐบาล แต่ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ในเยอรมนีนั้นสูบบุหรี่ รวมไปถึงภรรยาของสมาชิกพรรคนาซีระดับสูง ยกตัวอย่างเช่น เม็กกา เกบเบิลส์ ซึ่งสูบบุหรี่แม้กระทั่งขณะตอนที่เธอกำลังได้รับการสัมภาษณ์จากนักหนังสือพิมพ์ ภาพสมัยนิยมแสดงภาพผู้หญิงกำลังสูบบุหรี่นั้นมักจะได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น "แฟชั่นเบเยอรส์สำหรับทุกคน" (เยอรมัน: Beyers Mode f?r Alle) และภาพปกของเพลงชื่อดัง ลีลี มาร์เลน ได้มีภาพของนักร้อง ลาเลอ แอนเดอร์เซน ขณะกำลังสูบบุหรี่อยู่ด้วย
รัฐบาลนาซีได้ส่งเสริมให้มีนโยบายควบคุมบุหรี่มากขึ้นในตอนปลายของคริสต์ทศวรรษ 1930 และในช่วงตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ปริมาณการบริโภคบุหรี่ก็ลดลงอย่างมาก และเนื่องจากมีการกำหนดมาตรการต่อต้านบุหรี่ในกองทัพ ทำให้ปริมาณการบริโภคบุหรี่ของทหารลดลงตั้งแต่ปี 1939 จนถึงปี 1945 ตามผลของการสำรวจที่จัดทำขึ้นในปี 1944 พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ในกองทัพบกเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ปริมาณการบริโภคบุหรี่โดยเฉลี่ยต่อหัวนั้นลดลงถึง 23.4% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง และจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 มวนต่อวัน ลดลงจาก 4.4% เหลือเพียง 0.3%
นโยบายการต่อต้านบุหรี่ของรัฐบาลนาซีกำหนดให้บางอย่างก็มีความขัดแย้งกันเอง ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย "สุขภาพประชากร" (เยอรมัน: Volksgesundheit) และนโยบาย "หน้าที่รักษาสุขภาพ" (เยอรมัน: Gesundheitspflicht) ได้มีผลในรูปแบบคู่ขนาน ซึ่งจะมีการแจกจ่ายบุหรี่ให้แก่บุคคลผู้พบเห็น "กลุ่มที่เป็นแบบอย่าง" สูบบุหรี่ (อย่างเช่น ทหารในแนวหน้า หรือสมาชิกของยุวชนฮิตเลอร์) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง "คนที่ไม่สมควร" หรือคนชั้นต่ำ อย่างเช่น ชาวยิวหรือนักโทษสงครามไม่ได้รับอนุญาตให้สูบบุหรี่เช่นกัน
นอกเหนือจากความกังวลจากเหตุผลทางด้านสาธารณสุขแล้ว การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ยังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดด้านเชื้อชาติของรัฐบาลนาซี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเผ่าพันธุ์นิยมและความบริสุทธิ์ทางสายเลือด ผู้นำระดับสูงของพรรคนาซีเชื่อว่าเชื้อชาติอันยิ่งใหญ่ไม่ควรจะสูบบุหรี่ และการบริโภคบุหรี่เท่ากับทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางเชื้อชาติ พรรคนาซีมองว่าบุหรี่เป็น "พิษภัยกำเนิด" นักเคลื่อนไหวผู้มีแนวคิดความบริสุทธิ์ทางสายเลือดก็ต่อต้านการสูบบุหรี่เช่นกัน ด้วยกลัวว่ามันจะ "กลืนกินรากเหง้าของความเป็นเยอรมนี" นักเคลื่อนไหวต่อต้านบุหรี่ของพรรคนาซีเองก็พยายามพรรณนาว่าบุหรี่เป็น "ชั้นรอง" ยิ่งกว่าพวกแอฟริกันที่ล้าหลังเสียอีก
พรรคนาซีกล่าวหาว่าชาวยิวมีส่วนรับผิดชอบนำมาซึ่งบุหรี่และพิษภัยของบุหรี่ คริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ในเยอรมนีได้ประกาศว่าการสูบบุหรี่อาจเป็นความเลวทรามที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพซึ่งมาจากพวกยิว โจฮันน์ ฟอน เลรส์ บรรณาธิการของ โลกนอร์ดิก (เยอรมัน: Nordische Welt) ได้กล่าวถึง "ลัทธิทุนนิยมชาวยิว" ว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดของบุหรี่ในทวีปยุโรป ระหว่างการเปิดงาน Wissenschaftliches Institut zur Erforschung der Tabakgefahren ในปี 1941 เขากล่าวว่าบุหรี่สามารถแพร่มายังเยอรมนีได้เพราะว่าพวกยิวเป็นคนนำมา และพวกเขาได้ควบคุมอุตสาหกรรมบุหรี่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม และเป็นจุดนำเข้า Nicotiana ของยุโรปที่สำคัญ
หลังจากการล่มสลายของนาซีเยอรมนีในตอนปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ชาวอเมริกันได้รีบเข้าแย่งชิงตลาดเยอรมนีทันที การลอบนำเข้าบุหรี่อย่างผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องปกติ และการรณรงค์งดสูบบุหรี่ของผู้นำนาซีในอดีตก็ถูกลืมเลือน ในปี ค.ศ. 1949 บุหรี่ปริมาณกว่า 400 ล้านมวนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่เยอรมนีอย่างผิดกฎหมายทุกเดือน ในปี ค.ศ. 1954 บุหรี่เกือบสองล้านมวนที่ผลิตในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้ทะลักเข้าสู่ตลาดเยอรมนีและอิตาลี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนมาร์แชลล์ สหรัฐอเมริกาจึงส่งมอบบุหรี่ฟรีให้แก่เยอรมนี บุหรี่ที่ส่งไปเยอรมนีในปี 1948 มีปริมาณ 24,000 ตัน และเพิ่มเป็น 69,000 ตันในปี 1949 รัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกค่าใช้จ่ายกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแผนการดังกล่าว ทำให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ในสหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล ปริมาณการบริโภคบุหรี่ต่อหัวต่อปีในเยอรมนีได้เพิ่มขึ้นจาก 460 มวนในปี 1950 เป็น 1,950 มวนในปี 1963 ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในเยอรมนีก็ไม่สามารถบรรลุถึงการรณรงค์อย่างจริงจังในยุคนาซีในปี 1939-1941 และการวิจัยเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในเยอรมนี ซึ่งบรรยายโดย โรเบิร์ต เอ็น. พรอกเตอร์ว่า "กลายเป็นใบ้"
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การรณรงค์งดสูบบุหรี่ในนาซีเยอรมนี