ชัยชนะของชาวนอร์มันต่ออังกฤษ หรือ การรุกรานของชาวนอร์มัน (ภาษาอังกฤษ: Norman conquest of England) เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1066 โดยรุกรานราชอาณาจักรอังกฤษที่นำโดยดยุคแห่งนอร์มังดี และชัยชนะที่ได้รับที่ศึกเฮสติงส์ (Battle of Hastings) ผลของสงครามคือการปกครองของชาวนอร์มันในอังกฤษ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ หลายอย่างในประวัติศาสตร์อังกฤษ ชัยชนะของชาวนอร์มันทำให้อังกฤษเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างอังกฤษและผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรปโดยนำเจ้านายนอร์มันเข้ามาปกครองบริหารอังกฤษซึ่งทำให้ลดอิทธิพลจากสแกนดิเนเวียลง ชัยชนะทำให้เกิดราชวงศ์ที่มีอำนาจมากที่สุดราชวงศ์หนึ่งในยุโรปรวมทั้งการก่อตั้งระบบการปกครองที่มีระเบียบแบบแผน และชัยชนะเปลี่ยนแปลงภาษาและวัฒนธรรมอังกฤษและเป็นพื้นฐานของความเป็นคู่แข่งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสที่ต่อเนื่องกันมาเป็นพักๆ ร่วมพันปี
นอร์มังดีเป็นบริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน ก่อนปี ค.ศ. 1066 ไวกิงเป็นจำนวนมากเดินทางมาตั้งถิ่นฐานในนอร์มังดี ในปี ค.ศ. 911 สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ซิมเปิล (Charles the Simple) แห่งราชวงศ์คาโรลิงเกียนทรงอนุญาตให้ชาวไวกิงกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของโรลโลแห่งนอร์มังดี (Rollo of Normandy) ตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของฝรั่งเศส โดยทรงหวังว่าไวกิงจะช่วยป้องกันดินแดนทางริมฝั่งทะเลจากการรุกรานของชาวไวกิงกลุ่มอื่นในอนาคตซึ่งก็ได้ผล ชาวไวกิงที่มาตั้งถิ่นฐานรู้จักกันว่า “Northmen” (ชาวเหนือ) ซึ่งมาเพี้ยนเป็น “Normandy” (นอร์มังดี) ต่อมา นอกจากนั้นชาวไวกิงก็ยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่นและละทิ้งความเชื่อลัทธิเพกัน และเปลื่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา และเริ่มใช้ภาษาเอยล์ (Langues d'o?l) ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มแกลโล-โรมานซ์ที่พูดกันในท้องถิ่นแทนภาษานอร์สซึ่งกลายมาเป็นภาษานอร์มัน การยอมรับวัฒนธรรมรวมไปถึงการแต่งงานกับชนท้องถิ่น และยังใช้ดัชชีที่ได้รับมาเป็นฐานในการขยายเขตแดนไปทางตะวันตกผนวกดินแดนที่รวมทั้งเบส์แซง และแหลมโคเต็งแตง และหมู่เกาะแชนเนล (ปัจจุบันเป็นของอังกฤษ)
ในระยะเวลาเดียวกันในอังกฤษ การโจมตีของไวกิงเริ่มขึ้นอีกครั้งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 และในปี ค.ศ. 991 พระเจ้าเอเธลเรดที่ 2ทรงตกลงที่จะเสกสมรสกับเอ็มมาแห่งนอร์มังดีธิดาของดยุคแห่งนอร์มังดีซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในการช่วยยุติการโจมตีของไวกิง เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1066 โดยไม่มีรัชทายาทจึงทำให้เกิดการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์จากหลายฝ่าย ในจำนวนผู้อ้างสิทธิก็มีที่สำคัญๆ อยู่สามคน
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน