การป่าไม้ในเมือง (อังกฤษ: urban forestry) หมายถึงการดูแลและจัดการต้นไม้ใหญ่ (trees) ทั้งหลายที่ขึ้นอยู่ในเขตเมืองเพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองให้ดีขึ้น การป่าไม้ในเมืองเป็นสิ่งสนุบสนุนบทบาทของต้นไม้ในฐานะเป็นองค์ประกอบหลักของโครงสร้างพื้นฐานของเมือง นักการป่าไม้ในเมืองทำหน้าที่ปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ ใหการสนับสนุนการอนุรักษ์ต้นไม้และป่า ส่งเสริมให้มีการวิจัยและแสดงให้สาธารณชนเล็งเป็นคุณประโยชน์ของต้นไม้ที่มีอยู่มากมายแก่มนุษย์ การป่าไม้ในเมืองปฏิบัติโดยรุกขกร (arborist) ของเทศบาลหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและโดยรุกขกรภาคเอกชน รวมทั้งรุกขกรสาธารณูปโภค (utility arborists) นอกจากนี้ยังมีผู้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการรุกขกรรมหรือการป่าไม้ในเมืองอีกหลายฝ่ายได้แก่ ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม นักผังเมือง ที่ปรึกษา นักการศึกษา นักวิจัยและนักรณรงค์ในชุมชน
การป่าไม้ในเมืองเป็นวิชาชีพภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ใหญ่ การดูแลและการปกปักษ์รักษา รวมทั้งการจัดการโดยรวมในฐานะที่ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของชาติ สภาพแวดล้อมในชุมชนเมืองมีส่วนท้าทายทางรุกขกรรมด้วยข้อจำกัดของเนื้อที่สำหรับระบบรากและเนื้อที่สำหรับการแผ่กิ่งก้านสาขา คุณภาพของดินที่เลว น้ำและปริมาณของแสงสว่างที่มีจำกัด ความร้อน มลพิษ ความเสียหายที่จะมีต่อต้นไม้ทั้งทางกลและสารเคมี รวมทั้งอันตรายที่อาจเป็นอุปสรรคดำรงชีพของต้นไม้อีกนานับชนิด
ความท้าทายในด้านการจัดการยังรวมไปถึงการดูแลรักษาตัวต้นไม้ใหญ่และบริเวณที่ปลูกจะต้องมีการวางระบบระเบียนต้นไม้ จัดการให้ต้นไม้เกิดประโย ชน์สูงสุด ลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำสุด ประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ประชาชนให้การสนับสนุนและร่วมสร้างกองทุน ช่วยกันออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติหรือนโยบายส่งเสริมให้มีการปลูกและดูแลต้นไม้ใกญ่ทั้งในที่สาธารณะและที่ดินเอกชน
คุณประโยชน์ของต้นไม้ใหญ่ในเมืองนั้นมีมากมายซึ่งรวมถึงความสวยงาม การลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (urban heat island) การลดปริมาณการระบายน้ำฝนของเมือง การลดมลพิษทางอากาศ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานด้วยการเพิ่มเงาต้นไม้กำบังอาคารให้มากขึ้น การเพิ่มมูลค่าทางราคาแก่อสังหาริมทรัพย์ ช่วยเพิ่มที่พักพิงแก่สัตว์ต่างๆ ตลอดการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวมให้แก่เมืองได้มาก
ต้นไม้ใหญ่ให้สีสัน ผิวสัมผัสและความเปรียบต่างที่ทำให้สิ่งแข็งที่เป็นรูปเหลี่ยมทรงเรขาคณิตในภูมิทัศน์เมืองให้แลดูอ่อนนุ่ม ต้นไม้ใหญ่สามารถประกอบกันเป็นกรอบช่องมองวิวที่งดงามและอาจเป็นฉากบังวิวหรือสิ่งไม่น่าดูได้ด้วย ดอก สี เปลือก ลำต้น โครงสร้างของกิ่งก้านสาขาที่สง่างามสามารถกระตุ้นให้ผู้มองเกิดความปีติและน่าสนใจ การจัดวางต้นไม้อย่างมีแบบแผนจะช่วยส่งเสริมสัดส่วนของงานสถาปัตยกรรมและเสริมขนาดส่วนของเนื้อที่ใช้สอยภายนอกอาคารให้ดีขึ้น
การมีต้นไม้อยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดความเครียดแก่มนุษย์จากการทำงานประจำวันได้ เป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่าต้นไม้ให้คุณประโยชน์แก่สุขภาพและจิตใจแก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเมือง ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวอื่นๆ ในชุมชนเมืองคือสถานที่ที่มนุษย์ใช้เป็นที่พบปะสังสรรทางสังคมและเพื่อการพักผ่อน และก็เช่นเดียวกันการออกแบบจัดวางที่ดีและการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนอย่างมากในผลสำเร็จ
ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเป็นอาศัยพักพิงสำหรับนกทำรังกกไข่และเป็นที่อาศัยขยายพันธุ์และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์เมืองอีกหลายขนิด มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รวมตัวเป็นชมรมศึกษาเฝ้าดู ให้อาหาร ถ่ายภาพ และเขียนภาพต้นไม้ใหญ่และสัตว์ที่มีประจำตามต้นไม้ใหญ่ในชุมชน ต้นไม้ใหญ่ในเมืองและสัตว์ประจำถิ่นเมืองได้อาศัยพึงพาซึ่งกันและกันมายานจนอยู่ในสภาวะสมดุล
คุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจของต้นไม้ใหญ่ในเมืองได้รับการยอมรับมานานแล้ว แต่คุณประโยชน์ดังกล่าวเพิ่งจะได้รับการแจงนับเชิงปริมาณเมื่อเร็วๆ นี้เอง การแจงประโยชน์เชิงปริมาณของต้นไม้ใหญ่ในเมืองช่วยใหสาธารณชนชั่งใจและตัดสินใจให้ความเห็นชอบในด้านค่าใช้จ่ายหรือยอมให้จัดตั้งงบประมาณเพื่อการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในแง่เศรษฐกิจได้แก่การปลูกต้นไม้ใหญ่ประเภทผลัดใบที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอาคาร เงาของทรงพุ่มจะบังความร้อนจากแสงแดดที่ร้อนจัดในฤดูร้อน และเมื่อถึงฤดูหนาวต้นไม้ที่ทิ้งใบทั้งหมดจะปล่อยให้แสงแดดทลุมาปะทะผนังให้ความอบอุ่นแก่อาคารคิดเป็นเงินค่าประหยัดพลังงานได้มากมาย นอกจากนี้กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯ ยังได้รายงานผลการวิจัยว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองมีส่วนช่วยในธุรกิจเฟื่องฟูเนื่องจากคนจะใช้เวลาในการเดินจับจ่ายในมอลล์นานขึ้น อาคารอพาร์ตเมนต์ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่จะปล่อยเช่าได้หมดเร้วกว่าอพาร์ตเมนต์ที่แห้งแล้งปราศจากต้นไม้ นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เช่าอยู่นานขึ้น มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ร่มครึ้มสวยงามด้วยต้นไม้สูงกว่าที่แห้งแล้ง นอกจากนี้ยังพบว่าต้นไม้ใหญ่ยังมีส่วนช่วยให้นักธุรกิจตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในโครงการใหม่ได้เร็วขึ้น ผลกระทบทางกายภาพของต้นไม้ใหญ่อันได้แก่การให้ร่มเงา การควบคุมความชื้น การควบคุมทิศทางและความเร็วลม การควบคุมการชะล้างพังทลาย การให้ความเย็นจากการคายน้ำ การบรรเทาเสียงรบกวนและการบังสายตา การควบคุมการจราจร การดูดซับมลพิษ รวมทั้งการควบคุมหรือบรรเทาฝน ฯลฯ ผลกระทบต่างๆ ดังกล่าวนี้สามารถนับเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น
เมืองต่างๆ ในโลกกำลังดิ้นรนและพยายามอย่างมากที่จะทำให้อากาศในเมืองของตนมีคุณภาพได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามบทบาทและขีดความสามารถของต้นไม้ใหญ่ที่จะช่วยปัญหาเหล่านี้ได้ มลพิษที่เป็นอันตรายมากในบรรยากาศของเมืองได้แก่โอโซน ไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) ซัลฟูริกออกไซด์ (SOX) และอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นพิษ กาซโอโซนที่ระดับพื้นดินหรือหมอกควัน (smog) เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่าง Nox และสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยไว (volatile organic compounds -VOCs) เมื่อถูกแสงแดด นอกจากนี้ความร้อนที่เพิ่มยังช่วยเร่งปฏิกิริยานี้ให้เกิดเร็วขึ้น การปล่อยไอเสียของรถยนต์ ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอจากน้ำมันเบนซินและสารทำละลายเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งกำเนิดหลักของ NOX และ VOCs อนุภาคมลพิษหรืออนุภาคฝุ่น (PM10 และ PM25) เกิดจากสารแข็งหรือหยดของเหลวที่มีขนาดเล็กมากที่อยูในอากาศที่เราหายใจเข้าไปและตกค้างอยู่ตามเนื้อเยื่อในปอด อนุภาคเหล่านี้สร้างปัญหาด้านสุขภาพกี่ยวกับทางเดินหายใจแก่เรามากที่สุด อนุภาคมลพิษเริ่มจากควันไอเสียเครื่องยนต์เบนซินหรือเขม่าที่ออกจาเครื่องยนต์ดีเซล อนุภาคเหล่านี้เองที่สร้างปัญหาร้ายแรงแก่ผู้ที่เป็นโรคปอดอยู่แล้วทั้งยังเป็นต้นเหตุของโรคแก่ผู้ที่สูดอนุภาคเหล่านี้เข้าไปมาก จึงนับเป็นภัยต่อสุขภาพโดยรวมของประชาชนทั่วไป ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวนี้สามารถลดได้มากด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อดูดซับมลพิษในอากาศ ดักจับอนุภาคและปลดปล่อยออกซิเจนช่วยให้บรรยากาศดีขึ้นได้มาก
ด้วยการปลูกป่าในเมืองด้วยต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง งามและมีจำนวนมากพอจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของอากาศเมืองได้อย่างชัดเจน ต้นไม้ใหญ่สามารถลดอุณหภูมิและลด “ปรากฏการณ์เกาะความร้อน” ที่เกิดในเมืองใหญ่ การช่วยลดอุณหภูมิของบรรยากาศในเมืองลงไม่เป็นเพียงการช่วยประหยัดพลังงานเพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นการช่วยให้คุณภาพของอากาศในเมืองดีขึ้นจากการเกิดโอโซนที่น้อยลงเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำลง
การลดอุณหภูมิเป็นการลดการปลดปล่อยไอเสียในลานจอดรถได้มาก การลดอุณหภูมิลานจอดรดด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาสามารถลดการระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงของรถที่จอดใต้ร่มไม้ได้มาก ลานจอดรถที่ไม่มีร่มเงาเทียบได้กับ “เกาะความร้อนขนาดเล็ก” ที่อุณหภูมิในลานจอดจะสูงกว่าบริเวณอื่นโดยรอบ ทรงพุ่มของต้นไม้สามารถลดอุณหภูมิในบริเวณลานลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าการปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนส่วนใหญ่จะออกมาจากปลายท่อไอเสียก็จริง แต่จากการศึกษาพบว่าไฮโดรคาร์บอนระเหยออกมาจากระบบส่งจ่ายน้ำมันที่มีอยู่ในระบบเครื่องยนต์ในขณะตากแดดที่ร้อนจัดมากถึง 16% การระเหยแบบนี้ประกอบกับการระเหยจาการติดเครื่องยนต์ใน 2-3 นาทีแรกมีผลอย่างมากต่ออากาศระดับจุลภาคในบริเวณนั้น ดังนั้น ถ้ารถจอดในที่ร่มในลานจอด การระเหยและการปลดปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนจะลดลงได้มาก
องค์ประกอบส่วนระเหยได้ของยางมะตอยที่ใช้ลาดผิวพื้นลานจะระเหยน้อยในลานจอดรถหรือที่จอดริมถนนที่มีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ร่มเงาไม่เพียงแต่จะลดการปลดปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนแต่ยังช่วยลดการยือหดจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดและเย็นสลับกับซ้ำซากทำให้อายุการใช้งานลดลงมากด้วย การดูแลรักษาที่น้อยลงช่วยลดไอระเหยของยางมะตอยที่ต้องลาดซ่อมบ่อยๆ รวมทั้งการปลดปล่อยไอเสียของเครื่องกลหนักที่ใช้ในการนี้ หลักการเดียวกันนี้สามารถใช้กับหลังคาที่ทาด้วยสารยางมะตอย (ฟลิ้นต์โค้ต) ที่คลุมด้วยร่มไม้ใหญ่
ต้นไม้ใหญ่สามารถขจัดมลพิษออกจากบรรยากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ปากใบ (Stomata) ซึ่งเป็นรูที่มีอยู่ทั่วไปที่ด้านใต้ของใบไม้ดูดซับก๊าซมลพิษเข้าไปและละลายรวมไปกับน้ำที่มีอยู่ในใบ ต้นไม้บางชนิดอาจอ่อนไหวต่อก๊าซพิษบางชนืด ซึ่งอาจมีผลเจริญเติบโตบ้าง การพิจารณาคัดเลือกชนิดของพรรณไม้ที่สามารถดูดซับก๊าซพิษบางชนิดได้ดีกว่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ได้ทำไปทั่วย่านที่เป็นเขตปกครองของนครชิคาโกอย่างกว้างขวางในปี พ.ศ. 2534 พบว่าต้นไม้ใหญ่สามารถขจัดคาร์บอนโมนอกไซด์ (CO) ได้ 93 ตัน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ได้ 17 ตัน ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ได้ 98 ตันและโอโซน (O3) ได้มากถึง 210 ตันต่อปี
ในบางครั้ง ผู้จัดการป่าไม้ในเมืองจะให้ความสำคัญต่อปริมาณของธาตุคาร์บอนที่ถูกดึงออกจากบรรยากาศเข้าไปเก็บกักไว้ในป่าในรูปของเนื้อไม้โดยปลูกต้นไม้เพิ่มให้เท่ากับปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยจากการใช้เครื่องจักกลในการดูแลจัดการป้าไม้ในเมืองที่จะต้องใช้เชื้อเพลิงหรือไฟฟ้าที่มีต้นตอจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์
นอกจากการดูดซับก๊าซพิษบางชนิดแล้วต้นไม้ใหญ่ยังทำหน้าที่เป็นตัวกรองและดักจับอนุภาคที่เป็นอันตรายบางชนิดได้ด้วย อนุภาคจะถูกจับโดยผิวของต้นไม้และผิวของพุ่มใบ อนุภาคเหล่านี้จะเกาะติดตามผิวของต้นไม้ชั่วคราวและจะถูกชะล้างโดยน้ำฝนหรือถูกพัดปลิวออกไปโดยลมที่แรง หรือตกสู่พื้นพร้อมกับการร่วงของใบ แม้ต้นไม้จะเป็นตัวช่วยจับอนุภาคไว้ชั่วคราวก็จริง แต่ข้อดีของมันก็คือการลดปริมาณของอนุภาคมลพิษขนาดเล็กมากที่จะต้องล่องลอยในอากาศเข้าสู่ปอดของมนุษย์โดยตรง ยิ่งมีต้นไม้มากเท่าใดอนุภาคมลพิษที่ล่งลอยในอากาศก็จะลดและเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยลงเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งในการประเมินผลกระทบของการป่าไม้ในเมืองที่มีต่อคุณภาพของอากาศได้แก่การปล่อยสารระเหยที่เป็นสารประกอบอินทรีย์ (biogenic volatile organic compounds -BVOCs) นั่นคือสารเคมีบางชนิดที่ส่วนใหญ่คือ ไอโซพรีน (isoprene) และโมโนเทอร์พีนส์ (monoterpenes) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำมันหอมระเหยและยางไม้ รวมทั้งสารอินทรีย์อื่นที่ต้นไม้ใช้ล่อแมลงให้มาผสมเกษรหรือใช้สำหรับไล่แมลงหรือสัตว์บางชนิด จากการศึกษาพบว่าสารอินทรีย์ต่างๆ ที่ต้นไม้สังเคราะห์เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะดังกล่าวสามารถรวมตัวกับไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) กลายเป็นโอโซนที่เป็นตัวการทำให้เกิดหมอกควันได้ อย่างไรก็ดี การเกิดโอโซนโดยวิธีนี้นับว่าน้อยมาก โดยมากที่สุดจะไม่เกิน 10%
มีต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่มีผลเกิดโอโซนดังกล่าว ในสหรัฐฯ มีต้นไม้ที่สร้างสารไอโซพรีนมากได้แก่ต้นสน (Casuarina) ยูคาลิปตัส สวีทกัม (Liquidambar) แบล็กกัม (Nyssa) เพลนทรี (Platanus) ป็อบปลา โอ๊กหรือก่อ แบล็กโลคัส หรือพวกสีเสียด (Robinia) หลิว สำหรับประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการศึกษาวิจัยในด้านนี้ที่สามารถอ้างอิงได้
ต้นไม้ที่สามารถปรับตัวและตอบสนองขึ้นได้ดีในสภาพแวดล้อมนั้นๆ อยู่แล้วแต่มีการปล่อยสารระเหยอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโอโซนได้ดังกล่าวก็ไม่ควรด่วนโค่นหรือขุดย้ายไปที่อื่น การเอาต้นไม้ที่ปล่อยสารระเหยน้อยกว่ามาปลูกแทนอาจขึ้นไม่ได้ดีเท่าต้นเดิม การชั่งน้ำหนักจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการปล่อยสารระเหยอินทรีย์ไม่ได้มากและเป็นอันตรายเกินอัตราเมื่อเทียบกับสารที่ระเหยจากรถยนต์และจากยางมะตอยที่ตากแดด
ไม่ควรติดป้ายว่าต้นไม้เป็นตัวสร้างมลพิษทั้งนี้เนื่องจากคุณประโยชน์โดยรวมที่มันให้แก่สิ่งแวดล้อมมีมากกว่าข้อเสียในการมีส่วนสร้างโอโซนอันเล็กน้อยนั้น ปกติการเกิดโอโซนจากสารระเหย BVOCs นั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ร้อน ดังนั้น การปลูกต้นไม่ใหญ่ให้ร่มมากๆ จึงเป็นการลดอุณหภูมิ โอโซนจึงเกิดน้อยไปด้วย
ผลกระทบของการป่าไม้ในเมืองที่มีเกิดโอโซนเพิ่งถูกค้นพบและเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์เมื่อเร้วๆ นี้เอง การวิจัยยังคงต้องดำเนินการต่ออีกมากเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ได้มีการศึกษาที่ได้ข้อสรุปเชิงปริมาณเกี่ยวกับผลกระทบของการปลดปล่อยสารระเหย BVOC ที่มีผลเกิดโอโซนแล้วอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบที่จะเกิดโดยตรงป่าไม้ในเมืองยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปริมาณสารระเหยอินทรีย์จากต้นไม้มีปริมาณที่แน่ขัดเท่าใดที่จะทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์แล้วเกิดโอโซนที่จะทำให้เกิดหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมในชุมชนได้ ดังนั้นจึงควรรีบดำเนินการวิจัยต่อให้ทราบผลชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจโค่นต้นไม้ที่ปล่อยสารระเหยอินทรีย์ดังกล่าว
ในสหรัฐอเมริกา นโยบายของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการป่าไม้ในเมืองดูแลโดยกรมป่าไม้ เกระทรวงกษตราธิการ (USDA Forest Service) งานส่วนใหญ่ภาคสนามดำเนินการโดยกองทุนไม่แสวงกำไรที่ได้รับเงินจากการบริจาคของประชาชนทั่วไปร่วมกับการสมทบจากงบประมาณของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
นโยบายว่าด้วยการป่าไม้ในเมืองของสหรัฐนับว่ามีอุปสรรคน้อยได้รับการยอมรับจากทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมากพอสมควร ผิดกับนโยบายทรัพยากรการป่าไม้อื่นที่มีผลประโยชน์ที่แย่งชิงป่าไม้ของชาติที่ทาบซ้อนในพื้นที่ของรัฐต่างๆ
การรณรงค์ปลูกต้นไม้ในเมืองมีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถ์เลขาพระราชทานเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ทรงให้คำแนะนำและมีพระกระแสรับสั่งกำหนดชนิดต้นไม้และตำแหน่งปลูกรวมทั้งวิธีการปลูกโดยละเอียด ทรงรู้จักต้นไม้มากกว่า 90 ชนิด แต่การรณรงค์ของพระองค์มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่มรื่นสวยงาม ด้วยในยุคนั้นอากาศในกรุงเทพฯยังไม่มีมลพิษเท่าปัจจุบัน
หน้าที่การปลูกต้นไม้เป็นหน้าที่ของกรมนคราทรซึ่งต่อมาตกเป็นหน้าที่ของ กรุงเทพมหานคร ส่วนเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรตกเป็นหน้าที่ของเทศบาล ซึ่งการปลูกต้นไม้ในเมืองทั้งหมดเป็นการปลูกเพื่อความสวยงามและความร่มรื่นเป็นสำคัญ
ผลของการพัฒนาเมืองที่แออัดและการติดขัดของการจราจรทำให้เกิดปัญหามลพิษรุนแรงขึ้น การปลูกต้นไม้ใหญ่จึงเริ่มมามองในด้านการช่วยบรรเทามลพิษทางอาอาศและการจับฝุ่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมทั้งกรมป่าไม้ได้เริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับความสามารถของต้นไม้ในเชิงการดูดซับก๊าซพิษและโลหะหนักมากขึ้น
ปัจจุบัน กรมป่าไม้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและจัดตั้งหน่วยงานการป่าไม้เมืองขึ้นโดยขยายงานจากสำนักงานจัดการป่าชุมชนที่เน้นด้านเศรษฐกิจและสังคม มาเน้นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง