การประหารทารกผู้วิมล (อังกฤษ: Massacre of the Innocents) เป็นมหาทารกฆาตอันกษัตริย์เฮโรด พระเจ้ากรุงเยรูซาเลม รับสั่งให้ประหารทารกเพศชายผู้ไร้มลทินทั้งนครเบธเลเฮม ในวาระที่พระเยซูประสูติ เพื่อกันมิให้พระองค์ต้องทรงเสียพระราชบัลลังก์ไปให้แก่พระเยซูผู้ทรงได้ชื่อว่าเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว”
เหตุการณ์นี้มีบันทึกในพระวรสารนักบุญมัทธิว (อังกฤษ: Gospel of Matthew) บทที่ 2 ข้อ 13-16 ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลงานการประพันธ์ของนักบุญมัทธิว ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ (อังกฤษ: Matthew the Evangelist) และพระวรสารนักบุญเจมส์เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 2 แต่เนื่องจากไม่ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ คัมภีร์ไบเบิล และพระวรสารหรือพระกิตติคุณอื่นเลย พระอัตชีวประวัติส่วนใหญ่ของกษัตริย์เฮรอดจึงไม่นับเหตุการณ์ประหารทารกผู้วิมลว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตามประวัติศาสตร์ แต่ถือเป็นตำนานอภินิหารเฉกเช่นบรรดาชีวประวัตินักบุญมากกว่า
สำหรับทารกที่ถูกประหารนั้น เชื่อกันว่ามีจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นราย กระนั้น ฝ่ายหัวอนุรักษนิยมเชื่อว่าไม่ได้มากมายถึงเพียงนี้ อย่างไรก็ดี คริสตจักรคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์ถือว่าทารกผู้ถูกประหารเหล่านี้เป็นนักบุญ จึงทำการฉลองทุกปีในวันที่ 28 ธันวาคมสำหรับชาวคาทอลิก และวันที่ 29 ธันวาคมสำหรับชาวออร์ทอดอกซ์ โดยในโอกาสดังกล่าวมีการอธิษฐานและอวยพรเป็นพิเศษแก่ทารกตั้งแต่เจ็ดขวบลงมา เพื่อให้ได้รับความดูแลคุ้มครองจากเหล่านักบุญทารกผู้วิมล
พระวรสารนักบุญมัทธิว (อังกฤษ: Gospel of Matthew) เป็นเอกสารที่คริสต์ศาสนิกนิรนามรายหนึ่งเขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 80-85 เพื่อใช้เล่าพระธรรมให้ชาวยิวฟัง สองบทแรกของพระวรสารว่าด้วยพระประสูติกาลและช่วงทรงพระเยาว์ของพระเยซู แต่กลับเป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในพระคริสต์ธรรมใหม่เลย
ตามพระวรสารนักบุญมัทธิว ความว่า มีโหราจารย์ (อังกฤษ: Magi) กลุ่มหนึ่ง เพื่อสืบหาผู้มีบุญซึ่งมาเกิดเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว” ครองโลกไปนิรันดร ได้รอนแรมตามดวงดาวจากทางตะวันออกมาถึงกรุงเยรูซาเลม และคอยไต่ถามหาผู้มีบุญดังกล่าวไปทั่ว ข่าวนี้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่ กษัตริย์เฮโรด พระเจ้ากรุงเยรูซาเลม อย่างยิ่ง เพราะเวลานั้นไม่มีราชโอรสเกิดใหม่ในพระราชวงศ์ เช่นนั้นจะเป็นผู้ใดเล่า ก็ทรงเรียกประชุมบรรดาธรรมาจารย์และปุโรหิตเพื่อค้นดูว่า บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว” ผู้นั้นบังเกิดที่แห่งหนตำบลใด ได้ความว่า เกิด ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในนครเบธเลเฮ็ม แคว้นยูเดีย ด้วยความที่ทรงเกรงว่า “กษัตริย์ของชาวยิว” นี้จะเป็นภยันตรายคุกคามความมั่นคงแห่งพระราชบัลลังก์ในภายภาคหน้า ก็มีพระราชประสงค์จะประหารทารกนั้นเสีย จึงทรงออกอุบายชี้แนะให้คณะโหราจารย์ไปสืบดูที่นครเบธเลเฮ็มแล้วขอให้กลับมาบอก เพื่อที่พระองค์จะได้เสด็จไปนมัสการทารกนั้นด้วยพระองค์เอง ฝ่ายคณะโหราจารย์เมื่อพบและถวายเครื่องนมัสการที่เตรียมมาแด่ทารกน้อยเยซูแล้ว เทวทูตองค์หนึ่งได้มาปรากฏในความฝันและเตือนมิให้กลับไปเฝ้ากษัตริย์เฮโรดอีกเป็นอันขาด พวกเขาจึงใช้เส้นทางอื่นกลับสู่มาตุภูมิ
เมื่อคณะโหราจารย์กลับไปแล้ว เทวทูตองค์หนึ่งมาปรากฏแก่โยเซฟในความฝัน แจ้งให้โยเซฟพาพระเยซูกุมารพร้อมมารดาหนีไปยังประเทศอียิปต์โดยไม่ชักช้า และให้คอยอยู่ที่นั่นจนกว่าพระเจ้าจะแจ้งให้ทราบว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพราะว่ากษัตริย์เฮโรดกำลังแสวงหาพระกุมารเพื่อประหารเสีย ดังนั้น โยเซฟจึงนำพาพระกุมารและมารดาหลบหนีไปในเวลากลางคืนโดยรอดปลอดภัย
ฝ่ายกษัตริย์เฮโรดทรงรอท่าโหราจารย์อยู่นาน ก็ไม่กลับมาหาพระองค์สักที ก็ทรงพระโกรธนัก มีพระราชโองการให้เจ้าหน้าที่ไปจับเด็กชายทุกคนในนครเบธเลเฮ็มและปริมณฑลที่อายุตั้งแต่สองปีลงมาประหารเสียให้สิ้น กษัตริย์เฮโรดทรงธำรงอยู่ในพระราชบัลลังก์ต่อมาอีกไม่นานก็เสด็จสวรรคต อาร์เคลาอัส (อังกฤษ: Archelaus) พระราชโอรส ก็ครองราชย์สืบต่อมา
“ครั้นเขาไปแล้วก็มีทูตองค์หนึ่งของพระเป็นเจ้าได้มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันแล้วบอกว่า จงลุกขึ้นพากุมารกับมารดาหนีไปประเทศอียิปต์ และคอยอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกเจ้า เพราะว่าเฮโรดจะแสวงหากุมารเพื่อจะประหารชีวิตเสีย ในเวลากลางคืนโยเซฟจึงลุกขึ้นพากุมารกับมารดาไปยังประเทศอียิปต์ และได้อยู่ที่นั่นจนเฮโรดสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้าซึ่งได้ตรัสไว้โดยผู้เผยพระวจนะว่า เราได้เรียกบุตรของเราให้ออกมาจากอียิปต์
ครั้นเฮโรดเห็นว่าพวกโหราจารย์หลอกท่าน ก็กริ้วโกรธยิ่งนัก จึงใช้คนไปฆ่าเด็กผู้ชายทั้งหลายในบ้านเบธเลเฮ็มและที่ใกล้เคียงทั้งสิ้น ตั้งแต่อายุ 2 ขวบลงมา ซึ่งพอดีกับเวลาที่ท่านได้ทราบจากพวกโหราจารย์นั้น