การประหารชีวิตด้วยช้าง เป็นวิธีการทั่วไปในการประหารชีวิตในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย เป็นเวลานานนับหลายพันปีมาแล้ว ช้างเอเชียถูกใช้ในการเหยียบ ตัดแขนขา หรือทรมานนักโทษในการประหารชีวิตต่อสาธารณะ ช้างที่จะถูกใช้ในการประหารชีวิตถูกฝึกและสามารถใช้งานได้หลายอย่าง ทั้งสามารถสังหารนักโทษได้ในทันทีหรือทรมานอย่างช้า ๆ เป็นเวลานาน ช้างถูกใช้โดยพระมหากษัตริย์ จึงถูกใช้เป็นเครื่องแสดงของทั้งอำนาจสมบูรณ์ของผู้ปกครองของพระปรีชาสามารถที่ควบคุมสัตว์ป่าได้
ภาพของการประหารชีวิตนักโทษด้วยช้างดึงดูดความสนใจของนักเดินทางชาวยุโรปซึ่งมักรู้สึกหวาดกลัว และได้บันทึกไว้ในบันทึกประจำวันและเรื่องราวชีวิตในเอเชียร่วมสมัย การปฏิบัติดังกล่าวถูกยับยั้งในภายหลังโดยจักรวรรดิยุโรปที่ยึดดินแดนในภูมิภาคเป็นอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วการปฏิบัตินี้จะมีในเอเชีย แต่บางครั้งอำนาจตะวันตกก็ได้นำไปปรับใช้บ้าง เช่น โรมและคาร์เธจ โดยเฉพาะกับทหารที่เป็นกบฏ
ความฉลาด ความเลี้ยงง่ายและความสามารถหลายของช้างทำให้พวกมันมีข้อดีหลายประการเหนือว่าสัตว์ป่าชนิดอื่น เช่น สิงโตและหมี ในการใช้เป็นเพชฌฆาตโดยชาวโรมัน ช้างเป็นสัตว์ควบคุมง่ายกว่าม้า ขณะที่ม้าสามารถถูกฝึกให้เข้าตีข้าศึกได้ในการรบ แต่มันจะไม่เต็มใจกระทืบทหารข้าศึก แต่จะย่ำเดินข้ามไปแทน แต่ช้างจะเหยียบทหารข้าศึกด้วย จึงทำให้ช้างศึกได้รับความนิยมจากแม่ทัพอย่างฮันนิบาล ช้างสามารถถูกฝึกให้ประหารชีวิตนักโทษได้หลายวิธี และสามารถถูกฝึกสอนให้ยืดเวลาแห่งความทรมานของเหยื่อได้โดยทำให้เหยื่อตายอย่างช้า ๆ โดยทรมาน หรือฆ่าเสียอย่างรวดเร็วโดยเหยียบที่ศีรษะ
ตามประวัติศาสตร์ ช้างอยู่ภายใต้การควบคุมของควาญตลอดเวลา และเปิดช่องให้ผู้ปกครองบรรเทาโทษในนาทีสุดท้ายและแสดงออกซึ่งความเมตตากรุณา การปฏิบัติซึ่งความเมตตานี้ได้ถูกบันทึกไว้ในหลายราชอาณาจักรในเอเชีย พระมหากษัตริย์ไทยทรงฝึกช้างให้กลิ้งผู้ที่ถูกลงโทษนั้น "ไปกับพื้นค่อนข้างช้า เพื่อที่ว่าผู้นั้นจะได้ไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก" ว่ากันว่าจักรพรรดิอักบาร์มหาราชแห่งจักรวรรดิโมกุลได้ทรง "ใช้เทคนิคนี้ลงโทษ 'กบฏ' แต่ในตอนสุดท้าย นักโทษ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าได้รับการสั่งสอนไปมากแล้ว จะได้รับการไว้ชีวิต" ในโอกาสหนึ่ง มีบันทึกว่าอักบาร์ทรงให้โยนชายคนหนึ่งไปทรมานห้าวันด้วยวิธีการดังนี้ก่อนจะพระราชทานอภัยโทษชายผู้นั้น บางครั้งช้างยังได้ถูกใช้ในการพิจารณาโดยใช้วิธีทรมาน (trial by ordeal) อย่างหนึ่ง ซึ่งนักโทษจะถูกปล่อยตัวหากเขาสามารถหนีช้างได้
การใช้ช้างในวิธีการนี้เป็นการแสดงถึงสิทธิอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการกำหนดชีวิตและความตายได้ เป็นเวลายาวนานที่ช้างได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจ (และยังคงใช้อยู่ในบางประเทศ อย่างเช่น ประเทศไทย ซึ่งช้างเผือกเป็นที่เคารพนับถือกัน) การใช้ช้างเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐส่งข้อความว่าผู้ปกครองสามารถที่จะควบคุมเหนือสิ่งมีชีวิตอันทรงพลังอย่างยิ่งให้อยู่ภายใต้คำสั่งอย่างเด็ดขาดได้ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงถูกมองว่าคงไว้ซึ่งศีลธรรมและความเหนือกว่าทางจิตวิญญาณเหนือสัตว์ป่าทั้งหลาย อันเป็นการเพิ่มอำนาจและความขลัง
การประหารชีวิตด้วยช้างนั้นเคยปฏิบัติกันในหลายส่วนของโลก ทั้งจักรวรรดิตะวันตกและเอเชีย บันทึกเก่าแก่ที่สุดของการใช้วิธีประหารชีวิตแบบนี้ย้อนกลับไปถึงสมัยคลาสสิก อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติดังกล่าวมีรากฐานอย่างมั่นคงแล้วในเวลานั้นและใช้สืบเนื่องมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19