การประชุมสันติภาพแวร์ซาย
การประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 เป็นการประชุมของฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพื่อตั้งเงื่อนไขสันติภาพแก่ฝ่ายมหาอำนาจกลางผู้แพ้หลังการสงบศึกเมื่อ ค.ศ. 1918 การประชุมมีขึ้นในกรุงปารีส ใน ค.ศ. 1919 และมีนักการทูตจากประเทศและชาติกว่า 32 ประเทศเข้าร่วม พวกเขาพบปะและถกทางเลือกต่าง ๆ และพัฒนาชุดสนธิสัญญา ("สนธิสัญญาสันติภาพกรุงปารีส") สำหรับโลกหลังสงคราม สนธิสัญญาเหล่านี้เปลี่ยนแปลงแผนที่ยุโรปด้วยพรมแดนและประเทศใหม่ ๆ และกำหนดความรับผิดในอาชญากรรมสงครามตลอดจนบทลงโทษทางการเงินที่เข้มงวดต่อเยอรมนี จักรวรรดิอาณานิคมของฝ่ายมหาอำนาจกลางผู้แพ้ในแอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก จะถูกแบ่งระหว่างและให้อยู่ในอาณัติของจักรวรรดิอาณานิคมฝ่ายชนะ ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาในอดีตที่ต่างกัน และการสถาปนาสันนิบาตชาติ ผู้นำของสี่ "มหาอำนาจ" เป็นศูนย์กลางแห่งกระบวนพิจารณา ได้แก่ ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จแห่งสหราชอาณาจักร ประธานาธิบดีจอร์จ คลูมองโซแห่งฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีวิตโตริโอ ออร์ลันโดแห่งอิตาลี ท้ายสุดออร์ลันโดได้ถอนตัวออกจากการประชุมและไม่มีบทบาทในร่างสุดท้ายของสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีและคอมมิวนิสต์รัสเซียมิได้รับเชิญให้เข้าร่วม แต่อีกหลายชาติส่งตัวแทนเข้าร่วม ซึ่งแต่ละประเทศก็มีวาระแตกต่างกัน พระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศพร้อมกลุ่มที่ปรึกษาติดต่อนักข่าวและนักวิ่งเต้นด้วยเหตุผลร้อยแปด ตั้งแต่เอกราชของประเทศเซาท์คอเคซัสไปจนถึงความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การประชุมสันติภาพแวร์ซาย
|