การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้
การประกันจักต้องผ่านกระบวนการพิจารณารับประกัน (Underwriting) เพื่อผู้รับประกันจักประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าของ บุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สิน นั้นๆ พร้อมกำหนด รายละเอียดความคุ้มครอง และค่าเบี้ยประกัน ผู้รับประกันอาจรับประกัน โดยแบ่งความเสี่ยงมาส่วนหนึ่ง หรือ ปฏิเสธ หากความเสี่ยงนั้นไม่อาจรับได้ หรือ ผู้รับประกันอาจรับประกันโดยเพิ่มอัตราเบี้ยพิเศษ เพื่อให้สามารถครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การทำประกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคู่สัญญาต่างมีหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบต่อกัน ผู้รับประกันจักต้องคุ้มครองผู้เอาประกันตามรายละเอียดในสัญญาเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยชดเชยตามรายละเอียดความคุ้มครอง ผู้เอาประกันก็มีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันตามที่ระบุในสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
การทำประกันจุดประสงค์แท้จริงเพื่อแบ่งเบาความเสี่ยง จากบุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สินนั้น ๆ ออกเป็นส่วนโดยร่วมกันชดเชยเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ และการทำประกันมิใช่สัญญาเพื่อค้ากำไร
มีเรื่องปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับโจเซฟและความอดอยากในประเทศอียิปต์ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการประกันภัยอันแรกเท่าที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เล่ากันว่า คืนวันหนึ่ง ฟาโรห์ทรงพระสุบินว่า มีวัวอ้วนเจ็ดตัวกำลังถูกวัวผอมเจ็ดตัวกัดกิน โจเซฟทำนายฝันว่าประเทศอียิปต์จะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เป็นเวลาเจ็ดปี และต่อจากนั้นจะเกิดความแห้งแล้ง ประชาชนจะอดอยากปากแห้งเป็นเวลาเจ็ดปี ดังนั้น จึงทูลเสนอต่อกษัตริย์ฟาโรห์ให้สะสมธัญญาหารในปีที่สมบูรณ์ไว้สำหรับเลี้ยงประชาชนในปีที่ข้าวยากหมากแพง วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นหลักประกันภัยพื้นฐาน กล่าวคือ เก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อไว้ใช้ในอนาคตซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้
ในประเทศจีน ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวจีนได้พัฒนาวิธีการประกันภัยขึ้นสำหรับการขนส่งสินค้าตามลำน้ำแยงซี ซึ่งมีสายน้ำที่เชี่ยวกราก และเรื่อบรรทุกสินค้ามักอับปางลงอยู่เสมอ เนื่องจากมีหินใต้น้ำและเกาะแก่งที่คดเคี้นว ซึ่งเป็นอันตรายตาอการเดินเรือ มีปรากฏอยู่เสมอว่าพ่อค้าบางคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะสินค้าได้รับความเสียหายหมด ดังนั้น ด้วยความกลัว พ่อค้าเหล่านั้นจึงหาวิธีการกระจายความเสี่ยงภัยออกไป โดยนำสินค้าของตนบรรทุกไว้ในเรือลำอื่นหลายลำ เฉลี่ยกันไปจนครบหีบห่อสินค้า ซึ่งถ้าเรือลำใดลำหนึ่งจมลง ก็หมายความว่า สินค้าของพ่อค้าแต่ละคนสูญเสียเพียงคนละ 1 หีบห่อเท่านั้น ซึ่งวิธีการเช่นนี้เป็นที่มาของการประกันภัยในปัจจุบัน ราวก่อนศตวรรษที่ 13 และปรากฏว่ามีการประกันภัยทางทะเลกันอย่างแพร่หลายตามเมืองต่าง ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน สัญญาการประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลฉบับแรกของโลกเท่าที่มีปรกฎเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบันนี้ คือ แบบลงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1347 ออกให้ ณ เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี
ส่วนสัญญาประกันภัยฉบับแรกของอังกฤษ เท่าที่ปรากฏตามหลักฐานซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้ถึงปัจจุบัน คือ "Broke Sea Insurance Policy" ปี ค.ศ. 1547 วิธีทำประกันภัยสมัยนั้นคือเจ้าของเรือ หรือพ่อค้าที่ต้องการซื้อประกันภัย จะทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จะบรรทุกลงเรือ ใต้รายการเหล่านี้ นายธนาคารหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ประสงค์จะรับประกันภัยจะลงชื่อพร้อมกับระบุจำนวนเงินที่ตนจะรับเสี่ยงแล้วลงลายมือชื่อไว้ (และนี่คือที่มาของคำว่า Underwriter) และเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการเข้ารับเสี่ยงภัย ผู้ลงนามข้างใต้ (Underwriter) แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทน เรียกว่า เบี้ยประกันภัย
ในช่วงเวลานั้น สัญญาประกันภัยส่วนมากเป็น สัญญาประกันภัยทางทะเล ต่อมาก็ขยายออกไปคุ้มครองถึงการเสียชีวิตของนายเรือและลูกเรือ รวมทั้งพ่อค้าที่คุมสินค้าไปกับเรือ ตลอดจนคุ้มครองจำนวนเงินที่จะเป็นค่าไถ่ตัวเมื่อถูกโจรสลัดจับตัวด้วย
บริษัทที่รับประกันอัคคีภัยในรูปแบบสมัยใหม่ มีจุดกำเนิดจากการเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในนครลอนดอนในราวเดือนกันยายน ค.ศ. 1666 เพลิงไหม้ครั้งนั้นทำให้อาคารบ้านเรือนเกือบสามในสี่ของนครลอนดอนต้องพินาศลง
จากเหตุไฟไหม้ข้างต้น ในปีถัดมา ดร.นิโคลาส บาร์บอน รับหุ้นส่วนเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าเฉลี่ยความเสี่ยง ซึ่งแต่เดิมตนเป็นผู้รับภาระอยู่คนเดียว สามปีต่อมาคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งชื่อ " The Friendly ? ทั้งสองแห่งนี้ออกกรมธรรม์รับประกันอัคคีภัย และจัดพนักงานดับเพลิงไว้สำหรับผจญเพลิงที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้
สำนักงานที่รับประกันอัคคีภัยในสมัยนั้น ไม่อาจเรียกว่าเป็น " บริษัท ? ในความหมายของบริษัทรับประกันภัยในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาดใหญ่โตและมีผู้ถือหุ้นจำนวนมากได้ เพราะในสมัยนั้นสำนักงานที่รับประกันภัยเป็นธุรกิจของรายบุคคลหรือหุ้นส่วนกลุ่มน้อย ซึ่งจำกัดการรับประกันภัยเฉพาะอาคารที่อยู่อาศัยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1710 มีการจัดตั้งบริษัทรับประกันอัคคีภัยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ The Sun Insurance Office Of London ซึ่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ตราบจนทุกวันนี้ในชื่อของ Royal & Sun Insurance Plc.
ในเวลาเดียวกันการประกันภัยทางทะเลและการประกันชีวิตก็เข้าสู้ระยะของการเติบโตอย่างรวดเร็วก่อนปี ค.ศ. 1699 ธุรกิจประกันภัยส่วนใหญ่มักใช้ร้านกาแฟในนครลอนดอนเป็นที่ติดต่อธุรกิจกัน ร้านกาแฟกลายเป็นสถานทีที่คนนิยมไปพบปะกันเพื่อกระจายหรือรับข่าวสารประจำวัน
หนึ่งในจำนวนร้านกาแฟเหล่านี้ เป็นของ Mr. Edward Lloyd ตั้งอยู่บนถนนลอมบาร์ค ที่ร้านนี้เป็น สถานที่ที่พ่อค้า นักธุรกิจและนายเรือ ตลอดจนผู้สนใจในการประกันภัยมักจะมาพบปะพูดคุยรับฟังข่าวสารต่าง ๆ เช่นเรื่องเรือที่มาเทียบท่า เรือ ที่กำลังเดินทางมาใกล้ถึงที่หมาย เรือที่อับปาง รวมทั้งเป็นที่ตกลงทำสัญญาประกันภัยกันด้วย ในที่สุดก็กลายเป็นที่มาของสมาคมผู้รับประกันภัยแห่งลอยด์ หรือลอยด์แห่งลอนดอน ( Lloyds Of London ) ซึ่งเป็นสถาบันประกันภัยที่มีความสำคัญระดับนานาชาติจวบจนทุกวันนี้
ในปี ค.ศ. 1720 บริษัทอังกฤษสองแห่ง ได้ซื้อรอยัลชาร์เตอร์ด้วยเงินจำนวนมาก เพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยทางทะเล ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในนามบริษัท ลอนดอน แอนด์ รอยัลเอกซ์เชนจ์ ( London & Royal Exchange ) และนับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการประกอบธุรกิจการประกันภัยขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ในปีถัดมาบริษัทนี้ได้รับอนุญาตให้รับประกันชีวิตด้วย
การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดความต้องการในด้านการรับประกันอุบัติเหตุ และทำให้มีการก่อตั้งบริษัทรับประกันใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เครื่องจักรใหม่ ๆ ที่นำมาติดตั้งกับโรงงาน และหัวรถจักรสมัยใหม่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตของบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมาก การประกันภัยนอกจากจะช่วยให้การคุ้มครองอุบัติเหตุเหล่านี้ในด้านการเงินแล้ว ยังงมีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยและมีส่วนช่วยในการกำหนดกฎระเบียบในการรักษาความปลอดภัยด้วย
ก่อนปี ค.ศ. 1880 เมื่อลูกจ้างได้รับบาดเจ็บในขณะปฏิบัติงาน นายจ้างมักมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายทำให้พ้นผิด ไม่ต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้าง แต่ครั้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความรับผิดของนายจ้างในปี ค.ศ. 1880 ( Employer's Liability Act 1880 ) บรรดาข้อต่อสู้ทางกฎหมายเหล่านั้น ก็ถูกลบล้างออกไปโดยกฎหมายฉบับนี้ ยังผลให้เกิดความต้องการประกันภัย " ความรับผิดชอบของนายจ้าง ? ขึ้น และในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ลูกจ้างก็ยิ่งได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินทดแทนแรงงาน ( Workers'Compensation Act )
ประเภทของความคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์มี 7 ประเภท ได้แก่ 1) ประกัน พ.ร.บ. 2) ความคุ้มครองความเสียหายกับรถจากการชน 3) ความคุ้มครองรวม 4) ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล 5) ความคุ้มครองส่วนบุคคลในกรณีบาดเจ็บ 6) ความคุ้มครองอื่นๆ เช่น กรณีเปลี่ยนรถใหม่ และ 7) การคุ้มกันผู้ต้องหา