การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (อังกฤษ: Climate change denial) หรือ การปฏิเสธปรากฏการณ์โลกร้อน (อังกฤษ: global warming denial) เป็นการปฏิเสธ การไม่ให้ความสำคัญ หรือการสงสัยอย่างไร้เหตุผล เรื่องมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอัตราและขอบเขตของปรากฏการณ์โลกร้อน ขอบเขตของปรากฏการณ์ที่มีเหตุมาจากมนุษย์ ผลกระทบของปรากฏการณ์ต่อธรรมชาติและสังคมมนุษย์ และโอกาสที่การกระทำของมนุษย์จะสามารถลดผลกระทบเหล่านั้น ส่วน วิมตินิยมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (อังกฤษ: Climate change skepticism) และการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่มีองค์คาบเกี่ยวกัน และมักจะมีคุณลักษณะคล้าย ๆ กัน กล่าวคือ ทั้งสองปฏิเสธมติปัจจุบันส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ไม่มากก็น้อย การปฏิเสธสามารถทำโดยปริยาย คือเมื่อบุคคลหรือกลุ่มต่าง ๆ ทางสังคมยอมรับวิทยาศาสตร์ แต่หันไปสนใจเรื่องที่ง่าย ๆ กว่า แทนที่จะหาทางแก้ไข มีงานศึกษาทางสังคมศาสตร์หลายงานที่วิเคราะห์จุดยืนต่าง ๆ เหล่านี้ว่าเป็นรูปแบบของ denialism (การเลือกที่จะปฏิเสธความจริง เพื่อหลีกเลี่ยงความจริงที่ทำให้ไม่สบายใจ)
ในการโต้เถียงเรื่องปรากฏการณ์โลกร้อน มีการเรียกการรณรงค์เพื่อทำลายความเชื่อถือของมวลชนในวิทยาศาตร์ภูมิอากาศว่า "กลการปฏิเสธ" ของกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการเมือง และกลุ่มอุดมคติต่าง ๆ โดยได้การสนับสนุนจากสื่ออนุรักษ์นิยม และนักบล็อกวิมตินิยม เพื่อสร้างความไม่แน่ใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์โลกร้อน ในการอภิปรายของชาวตะวันตกในที่สาธารณะ คำเช่นว่า climate skepticism (วิมตินิยมเกี่ยวกับภูมิอากาศ) ใช้โดยความหมายเหมือนกับคำว่า climate denialism (ปฏิเสธนิยมเกี่ยวกับภูมิอากาศ) ซึ่งเป็นป้ายชื่อที่ก็เป็นเรื่องโต้เถียงกัน มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่เรียกตัวเองว่า "นักวิมติยม" แต่ความจริงไม่ใช่วิมตินิยมเหมือนกับวิมตินิยมทางวิทยาศาสตร์ คือ ไม่ว่าหลักฐานจะเป็นอย่างไรก็ดี ก็ยังคงปฏิเสธความเป็นจริงว่า มนุษย์เป็นเหตุของปรากฏการณ์โลกร้อน
แม้ว่าจะมีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า มนุษย์เป็นองค์ประกอบหลักที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การเมืองเกี่ยวกับปรากฏการณ์โลกร้อนได้รับอิทธิพลจากการปฏิเสธ ขัดขวางการพยายามเพื่อบรรเทาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพื่อปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น โดยปกติแล้ว การอภิปรายสาธารณะที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง อาจจะดูเหมือนการอภิปรายที่เป็นธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ แต่ความจริงไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์
การรณรงค์อย่างเป็นระบบเพื่อทำลายความเชื่อถือของมวลชนในวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ มักจะมาจากกลุ่มที่นิยมนโยบายทางเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยม และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต่อต้านการควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจก การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาจากกลุ่มวิ่งเต้นเพื่อบริษัทน้ำมันและบริษัทผลิตไฟฟ้า จากพี่น้องอภิมหาเศรษฐีตระกูลคอช (สมบัติรวมกันมูลค่า 84,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากกลุ่มอุตสหากรรม และจากกลุ่มนักวิชาการอิสระเสรีนิยม บ่อยครั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2545-2553 มีการบริจาคเงินแบบนิรนามมูลค่าเกือบ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,592 ล้านบาท) บางส่วนจากอภิมหาเศรษฐี ให้กับองค์การกว่า 100 องค์กร ที่พยายามจะทำลายความเชื่อถือของมวลชนในวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2556 ศูนย์เพื่อสื่อมวลชนและประชาธิปไตย (Center for Media and Democracy) ที่เป็นองค์กรควบคุมดูแลเชิงเสรีนิยม รายงานว่า กลุ่มเครือข่ายนโยบายระดับรัฐ (State Policy Network) ซึ่งเป็นกลุ่มครอบคลุมของกลุ่มวิชาการ 64 องค์กร ได้พยายามวิ่งเต้นเพื่อประโยชน์ของบริษัทยักษใหญ่และผู้บริจาคอนุรักษ์นิยม เพื่อต่อต้านกฎหมายควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ