การปฏิวัติเกษตรกรรม (อังกฤษ: British Agricultural Revolution) ใช้อธิบายช่วงของการพัฒนาเกษตรกรรมในสหราชอาณาจักรระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่การขยายตัวของผลผลิตทางเกษตรกรรมและผลผลิตสุทธิทำลายวงจรการขาดแคลนอาหารในอดีต ทุกทวีปบนโลกต่างเคยเผชิญกับช่วงของสงครามในประวัติศาสตร์ สงครามเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรไม่ให้ขยายตัว เพื่อให้สอดคล้องกับอาณาเขตที่ประชากรเหล่านั้นอาศัยอยู่ สงครามจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการขาดแคลนอาหารเป็นเวลานานช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากกว่าหนึ่งปี รวมไปถึงการที่ทรัพยากรอย่าง สภาพอากาศ, แรงงาน, ทรัพย์สิน, การคมนาคมขนส่ง และอื่นๆ ไม่มีเหลืออยู่หรือไม่สามารถทำให้เกิดการเพาะปลูกขึ้นได้ ต่อมาเมื่อสงครามหรือการขาดแคลนอาหารกลายมาเป็นปัญหาภายในประเทศ ความสามารถในการซื้อและขนส่งอาหารจากดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไปก็เข้ามาบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนอาหารลงได้ การปฏิวัติเกษตรกรรมบนเกาะบริเตนใหญ่เกิดขึ้นผ่านช่วงเวลาหลายศตวรรษ (ซึ่งเหมือนการวิวัฒนาการมากกว่าจะเป็นการปฏิวัติ) ต่อมาจึงแพร่ขยายไปในประเทศอื่นๆ บนทวีปยุโรปและในอาณานิคมของประเทศเหล่านั้นด้วย สิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติเกษตรกรรมขึ้นคือการที่อังกฤษพัฒนาระบบที่ดินและการบำรุงรักษาที่ดินซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเป้าหมายก็เพื่อลดการสูญเสียสารอาหารสำหรับพืชในดิน ทำให้ผลผลิตต่อเอเคอร์สูงขึ้นตามลำดับ ชาวนาใช้เครื่องมือการผลิตและเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มากขึ้นซึ่งช่วยลดการใช้แรงงานคนลงด้วย การปฏิวัติการเกษตรเร่งตัวขึ้นพร้อมกับที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าทางเคมีก่อให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์, ความมั่งคั่ง และเทคโนโลยี เครื่องจักรการเกษตรอื่นๆ และระบบการค้าขายสารอาหารพืชจึงเกิดขึ้นตามมา พรรณพืชชนิดใหม่อย่างเช่นมันฝรั่ง (ถูกนำเข้ามาประมาณปี ค.ศ. 1600), ข้าวโพด และพืชอื่นๆ ถูกนำมาจากทวีปอเมริกาซึ่งพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน
การปฏิวัติเกษตรกรรม, การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ถูกพัฒนาไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากปริมาณอาหารที่เพิ่มขึ้นซึ่งนำไปหล่อเลี้ยงประชากรที่ขยายตัวตามเมืองใหญ่ นอกจากนี้ด้วยเงินทุน, เครื่องมือ, โลหะ, การขยายตัวของเศรษฐกิจแบบตลาด, ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ทำให้การปฏิวัติเกษตรกรรมเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ จึงกล่าวได้ว่าแต่ละการปฏิวัติข้างต้นช่วยสนับสนุนกระบวนการของกันและกัน เป็นผลให้ทั้งสามการปฏิวัตินี้ยังคงเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ่งมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงปฏิวัติเกษตรกรรมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงระบบของเกษตรกรรมไปพร้อมๆ กัน มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การคัดเลือกพันธุ์พืชและสัตว์ดีขึ้น, การเปลี่ยนแปลงระบบการถือครองที่ดิน และการบุกเบิกการเกษตรในที่ดินโพ้นทะเล ผลที่ตามมาก็คือความชำนาญผลิตสินค้าการเกษตรเฉพาะอย่าง เช่น การใช้เครื่องจักรในการเกษตรมากขึ้น การแบ่งงานกันทำในกิจกรรมเกษตร การลงทุนด้านเครื่องจักร และเทคนิคการเกษตรพิ่มคุณภาพของดิน จึงสามารถสรุปได้ว่าการปฏิวัติเกษตรกรรมคือการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร โดยเปลี่ยนแปลงด้านระบบและเทคนิคการผลิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเกษตรมีลักษณะเป็นทุนนิยมมากขึ้น สินค้าเฉพาะอย่างถูกผลิตเพื่อตลาดภายในและภายนอกประเทศ เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ต้องลงทุนด้านเครื่องจักรและจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เกิดการเกษตรเพื่อการค้าขนาดใหญ่ เช่น ในอังกฤษ, รัฐเยอรมันแถบตะวันออก, บางส่วนของรัสเซีย และแถบลุ่มแม่น้ำโปของอิตาลี ส่วนดินแดนนอกยุโรป ได้แก่ แถบที่ราบใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา, เขตทุ่งหญ้าแพมเฟอร์ในอาเจนตินาและออสเตรเลีย ในเขตการเกษตรขนาดเล็กตามลักษณะการถือครองที่ดิน เช่น ฝรั่งเศส, รัฐเยอรมันแถบตะวันตก, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ เกษตรกรไม่อาจรับเทคนิคใหม่และเครื่องจักรในการเกษตรเพราะกิจการเล็กเกินไป แต่ใช้วิธีเลือกเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตราคาสูงต่อหน่วยพื้นที่ขนาดเล็กและผลิตแบบใช้แรงงานต่อหน่วยสูงแต่ลงทุนน้อย เช่น ผลิตภัณฑ์นม, ไข่, ผักสด, ดอกไม้ และผลไม้
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติเกษตรกรรมในอังกฤษ