การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ (อังกฤษ: Great Proletarian Cultural Revolution) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า การปฏิวัติวัฒนธรรม (อังกฤษ: Cultural Revolution) เป็นขบวนการทางสังคม-การเมืองซึ่งเกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี 2509 เหมาเจ๋อตงซึ่งขณะนั้นเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นผู้ริเริ่มขับเคลื่อน เป้าหมายที่แถลงไว้ คือ เพื่อบังคับใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศโดยขจัดองค์ประกอบที่เป็นทุนนิยม ประเพณีและวัฒนธรรมออกจากวัฒนธรรมจีนและเพื่อกำหนดแนวทางแบบเหมาภายในพรรค การปฏิวัติดังกล่าวส่งผลให้เหมาเจ๋อตงกลับมามีอำนาจหลังการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าที่ล้มเหลว ขบวนการดังกล่าวทำให้การเมืองจีนหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อประเทศทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสำคัญ
การปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2509 เหมาอ้างว่ากระฎุมพีกำลังแทรกซึมรัฐบาลและสังคมอย่างไม่มีขอบเขต โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูทุนนิยม เขายืนกรานให้ขจัด "ลัทธิแก้" (revisionist) เหล่านี้ผ่านการต่อสู้ของชนชั้นอย่างรุนแรง เยาวชนจีนสนองตอบการเรียกร้องของเหมาโดยตั้งกลุ่มเรดการ์ดขึ้นทั่วประเทศ ขบวนการดังกล่าวแพร่ไปสู่ทหาร กรรมกรในเมือง และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เอง การปฏิวัติส่งผลให้เกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มแยกอย่างกว้างขวางในทุกย่างก้าวของชีวิต ในหมู่ผู้นำระดับสูง การปฏิวัตินำไปสู่การกวาดล้างข้าราชการอาวุโสที่ถูกกล่าวหาว่าเดิน "ถนนทุนนิยม" ขนานใหญ่ ที่โดดเด่นที่สุด คือ เติ้งเสี่ยวผิง ในเวลาเดียวกัน ลัทธิบูชาบุคคลของเหมาเติบโตขึ้นเป็นอันมาก
หลายล้านคนถูกเบียดเบียนในการต่อสู้รุนแรงระหว่างกลุ่มแยกซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ และเผชิญการละเมิดหลายรูปแบบซึ่งรวมถึงการประจานในที่สาธารณะ การกักขังตามอำเภอใจ การทรมาน การก่อกวนอยู่เนือง ๆ และการยึดทรัพย์สิน ประชากรหลายภาคส่วนถูกบังคับให้ย้ายถิ่น วัตถุมงคลและสิ่งประดิษฐ์ทางประวัติศาสตร์ถูกทำลาย สถานที่ทางวัฒนธรรมและศาสนาถูกปล้น
เหมาประกาศให้การปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 2512 แต่ระยะที่ยังมีผลดำเนินไปกระทั่งหลินเปียว ผู้นำทหาร ถึงแก่กรรมในปี 2514 หลังเหมาถึงแก่อสัญกรรมและการจับกุมแก๊งออฟโฟร์ในปี 2519 นักปฏิรูป นำโดย เติ้งเสี่ยวผิง ยุติการปฏิรูปของเหมาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในเดือนมิถุนายน 2524 คณะกรรมาธิการกลางประกาศคำตัดสินอย่างเป็นทางการดังนี้ "'การปฏิวัติทางวัฒนธรรม' ซึ่งดำเนินตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2509 ถึงเดือนตุลาคม 2519 เป็นสาเหตุของการเสื่อมอย่างรุนแรงที่สุดและเป็นการสูญเสียอย่างหนักที่สุดที่พรรค รัฐและประชาชนเคยประสบตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชน"
ต้นทศวรรษ 1960 ฐานะของเหมาในพรรคคอมมิวนิสต์ถูกลดบทบาทลง เขาจึงได้เริ่มรุกกลับในปี 1962 เพื่อ “ปกป้องพรรค” จากในสิ่งที่เขาเชื่อว่าการคืบคลานเข้ามาของทุนนิยม และการต่อต้านสังคมนิยมกำลังเป็นภัยต่อประเทศ ในฐานะนักปฏิวัติที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจากสถานการณ์อันเลวร้าย เหมาเชื่อว่าระบบการให้รางวัลแก่ชาวนาตามแนวทางปรับปรุงและฟื้นฟูของเติ้ง เป็นวิธีการฉ้อราษฏร์บังหลวงและเป็นการต่อต้านการปฏิวัติ
การต่อสู่ทางความคิดในพรรคนำไปสู่การกวาดล้างพวกที่ถูกเรียกว่า “พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติ” หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดสุดโด่งของเหมา ซึ่งมีตัวแทนคือ หลิวซ่าวฉี กับเติ้งเสี่ยวผิง เหมากล่าวว่า “ขณะนี้ เพียงมีเนื้อหมูสามกิโลกับบุหรี่ไม่กี่ซอง ก็สามารถทำให้คนขายอุดมการณ์ได้แล้ว จึงมีเพียงการศึกษาแนวทางลัทธิสังคมนิยมเท่านั้น ที่จะยับยั้งลัทธิแก้ได้”
โดยต่อมาการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นไปอย่างแพร่หลาย ผู้นำสังคมในยุคนั้นปลูกฝังประชาชนให้ให้ยึดมั่นอย่างเคร่งครัด ใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง โดยมีหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ คือ พวกกองทัพพิทักษ์แดง (เรดการ์ด—Red Guard) หรือก็คือเยาวชนที่ผลิตโดยคอมมูนการเลี้ยงดูนั่นเอง
ปี 1966 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตัดสินใจแนวทางการปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากที่เหมาเข้าควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในพรรคได้อีกครั้ง โดยมีผู้สนับสนุนสำคัญคือ หลินเปียว เจียงชิง (ภรรยาคนที่สี่ของเหมา) และเฉินป๋อต๋า การปฏิวัติมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “โค่นล้มพวกลัทธิทุนนิยม และวิพากษ์ศิลปวัฒนธรรมที่แบ่งแยกชนชั้น” โดยปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปศิลปวัฒนธรรม และปฏิรูปทุกอย่างที่ขัดกับแนวทางลัทธิสังคมนิยม
ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม คือ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนต้องถูกทำลาย เช่น หนังสือ วัดวาอาราม รูปปั้น งานศิลปะต่าง ๆ และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างครอบครัว เพื่อนบ้าน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นผู้แจ้งให้ทางการรู้เกี่ยวกับละเมิดกฎ
วันที่ 18 สิงหาคม 1966 เหมาเจ๋อตงกับหลิวเปียวได้ปรากฏตัวที่ จัตุรัสเทียนอันเหมิน พบกับพวกหงเว่ยปิงหรือเรดการ์ด ที่ทยอยมาจากทั่วประเทศจำนวนรวมสิบกว่าล้านคน หลังจากนั้น ทั่วประเทศจีนก็เข้าสู่กลียุค เมื่อพวกเรดการ์ดกระจายไปทั่วสารทิศแจกใบปลิว ติดโปสเตอร์ ป้ายคำขวัญ ตั้งเวทีอภิปราย บางส่วนก็บุกเข้าไปในวัดโบสถ์ พิพิธภัณฑ์สถาน ทำลายวัตถุโบราณ เผางานศิลปะ งานประพันธ์ ตอนหลังก็มีการบุกค้นบ้าน โดยเฉพาะพวกผู้ดีเก่า ปัญญาชน ศิลปินหัวอนุรักษนิยม จะถูกจับแห่ประจาน ทรมาน ตอนหลังแม้แต่พระสงฆ์ แม่ชีและนักบวชก็ไม่เว้น พวกที่มีญาติอยู่ต่างประเทศก็โดนข้อหา “มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ” หลายคนทนรับเหตุการณ์ไม่ได้ก็ฆ่าตัวตาย
ผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ใช่ว่าจะได้รับการยกเว้น เติ้งเสี่ยวผิง กับหลิวซ่าวฉี (ตอนหลังตายในที่คุมขัง) ถูกปลด เผิงเต๋อหวาย กับเฮ่อหลง ถูกทรมานจนเสียชีวิต วันที่ 22 สิงหาคม เหมาประกาศ “ห้ามตำรวจขัดขวางความเคลื่อนไหวของนักศึกษาปฏิวัติ” ในช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า “แดงสยอง” เฉพาะในปักกิ่ง มีคนถูกฆ่าตายถึง 1700 คน และทั่วประเทศมีคนฆ่าตัวตายถึง 2 แสนคน วันที่ 5 กันยายน ทางพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ที่จะเข้ามาเคลื่อนไหวในปักกิ่ง วันที่ 9 ตุลาคม หลินเปียวกล่าวหาเติ้งเสี่ยวผิงกับหลิวซ่าวฉีเป็นตัวแทนของทุนนิยม
ปี 1969 ในที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 1 เมษายน หลิวเปียว ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจสูงสุดต่อจากเหมา ในขณะที่หลิวซ่าวฉีถูกโค่น และโจวเอินไหลถูกลดบทบาทลง ในที่ประชุมสมัชชา หลินเปียวกล่าวสดุดีเหมาด้วยคติพจน์เหมา และสนับสนุนการใช้กองกำลังอาวุธ ประณามหลิวซ่าวฉีเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัต แก้ไขธรรมนูญพรรค ให้ตนเองเป็นผู้สืบทอดอำนาจของเหมาในอนาคต หลังจากนั้น ชื่อของหลิวเปียวกับเหมาเจ๋อตงมักจะปรากฏคู่กันเสมอในที่ต่าง ๆ ในการคัดเลือกผู้นำพรรคใหม่ในครั้งได้ ได้คัดเลือกเหมาเจ๋อตง หลิวเปียว เฉินป๋อต๋า โจวเอินไหล คังเซิน เป็นสมาชิกถาวรคณะกรรมการกลางพรรค สี่ในห้าเป็นการได้ตำแหน่งด้วยผลพวงของการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะที่โจวเอินไหลเป็นเพียงคงสถานะตนเอง
หลังจากได้รับการยืนยันที่จะได้รับเป็นผู้สืบทอดของเหมา หลิวเปียวจึงขอฟื้นฟูตำแหน่งประธานประเทศขึ้นมาใหม่ หลังจากที่เหมาได้ยกเลิกไป โดยหลินเปียวมุ่งหวังที่จะเข้ารับรองประธาน โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธาน
วันที่ 23 สิงหาคม 1970 การประชุมเต็มคณะครั้งที่สองของสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 ได้จัดขึ้นที่หลูซานอีกครั้งหนึ่ง เฉินป๋อต๋า เป็นคนแรกที่ขึ้นกล่าวในที่ประชุม เขาได้กล่าวยกย่องสดุดีเหมาเสียเลิศเลอและตามด้วยการขอฟื้นตำแหน่งประธานประเทศขึ้นมาใหม่ เหมารู้ถึงเบื้องลึกของเฉิน จากนั้นไม่นานเฉินก็ถูกปลดออกจากคณะกรรมการกลางของพรรค และเรื่องนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั่วประเทศ และเฉินก็กลายเป็นพวกตัวแทนของหลิวซ่าวฉี ซึ่งเป็นมาร์กซิสจอมปลอมและพวกปลิ้นปล้อนทางการเมือง
การปลดเฉินออกถือเป็นสัญญาณเตือนหลินเปียว แต่หลิวเปียวก็ไม่หยุดที่เรียกร้องให้แต่งตั้งตำแหน่งประธานประเทศ ทางรัฐบาลกลางได้ชี้ให้เหมาเห็นถึงความทะเยอทะยานของหลิวเปียวที่จะขจัดเหมาออกจากอำนาจ การขอเป็นรองประธานก็เพื่อให้เขามีความชอบธรรมที่จะได้ขึ้นเป็นประธานเมื่อเหมาถึงแก่อสัญกรรม
เมื่อแผนการล้มเหลว หลินเปียวจึงคิดจะยึดอำนาจด้วยการใช้กำลัง เนื่องจากอำนาจในพรรคของเขานับว่ายิ่งน้อยลง ๆ หลินเปียวได้ร่วมกับลูกชาย หลินลิกั่ว และคนสนิทใกล้ชิดก่อการในเซี่ยงไฮ้ โดยวางแผนใช้กองทัพอากาศทิ้งระเบิดปูพรม เมื่อยึดอำนาจสำเร็จก็จัดการจับกุมพวกฝ่ายตรงข้ามและเขาก็ก้าวสู่อำนาจสูงสุด ดังที่เขาได้กล่าวในเอกสารชื่อ “อู่ชิยี่กงเฉินจี้ย่าว” ไว้ว่า “การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจครั้งใหม่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถยึดอำนาจการนำปฏิวัติสำเร็จ อำนาจก็จะตกไปอยู่ในมือของคนอื่น”
เมื่อการยึดอำนาจไม่สำเร็จ ข่าวลือเกี่ยวกับการลอบสังหารเหมาเกิดขึ้นมาไม่ขาดระยะ ลือกันตั้งแต่เหมาถูกฆ่าบนขบวนรถไฟในปักกิ่ง การบุกเข้าไปลอบสังหารถึงที่พัก โดยคนใกล้ชิดของหลินเปียว หลังวันที่ 11 กันยายน หลินเปียวก็ไม่เคยปรากฏให้เห็นในที่สาธารณะอีก ในขณะที่ผู้ใกล้ชิดของหลินเปียวที่หนีไปทางฮ่องกงถูกจับกุมทั้งหมด วันที่ 13 หลินเปียวขึ้นเครื่องบินเตรียมหนีไปโซเวียต แต่เครื่องบินไปตกในมองโกเลียใน ไม่มีผู้ใดรอดชีวิต ในวันเดียวกันทางปักกิ่งเรียกประชุมด่วนเกี่ยวกับเรื่องของหลินเปียว จนถึงวันที่ 14 กันยายน ข่าวหลินเปียวเสียชีวิตจากเครื่องบินตกจึงทราบถึงทางปักกิ่ง ในวันที่ 1 ตุลาคม ทางการจีนประกาศงดจัดฉลองวันชาติที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
หลังการเสียชีวิตของหลินเปียว เหมายังมองไม่เห็นผู้สืบทอดอำนาจ จึงได้ย้ายหวางหงเหวิน จากเซี่ยงไฮ้มาปักกิ่งในเดือนกันยายน 1972 และได้เป็นคณะกรรมการกลางของพรรคในอันดับสองรองจากโจวเอินไหล เหมือนหมายมั่นจะให้เป็นผู้สืบทอด ในขณะเดียวกันเติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งภายในความช่วยเหลือของโจวเอินไหล จากผลกระทบในการแย่งชิงอำนาจของหลินเปียว ทำให้เหมาไม่อาจที่จะไม่พึ่งพาโจวเอินไหลกับเติ้งเสี่ยวผิง แต่เหมาก็ไม่คิดจะถ่ายโอนอำนาจให้เติ้ง แต่ถ้าเทียบกำลังอำนาจ “ฝ่ายซ้ายจัด” ของฝ่ายตนแล้ว เหมาก็ยังไม่ค่อยชอบ “ฝ่ายขวา” ของเติ้งนัก
กรกฎาคม 1973 เหมาวิพากษ์ว่าทั้งกั๊วหมิงต่างกับหลินเปียวล้วนแต่เป็นพวกฝักใฝ่ลัทธิขงจื้อ มกราคม 1974 เจียงชิงพร้อมพวกซึ่งเป็นพวกฝักใฝ่เหมาเจ๋อตงที่แท้จริง ก็เริ่มเคลื่อนไหว “วิพากษ์หลินวิจารณ์ข่ง” โดยมีเป้าหมายอยู่ที่โจวเอินไหล เนื่องจากโจวเป็นคู่แข่งคนสำคัญทางการเมืองหลังจากหลินเปียวเสียชีวิต แต่ความเคลื่อนไหวนี้ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก
ตุลาคม 1974 โจวเอินไหลป่วยหนักเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ภารกิจทั้งหมดจึงมอบหมายให้เติ้ง ในฐานะรองนายกฯเป็นคนรับผิดชอบแทน เติ้งดำเนินตามนโยบาย “สี่ทันสมัย” ของโจวเอินไหล (สี่ทันสมัยคือ ความทันสมัยด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และด้านการทหาร) กันยายน 1975 เหมาล้มป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอีกคน
เป็นปีที่สำคัญสำหรับการปฏิวัติวัฒนธรรม วันที่ 8 มกราคม โจวเอินไหลเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็ง ในวันต่อมาประชาชนต่างหลั่งไหลในที่อนุเสาวรีย์วีรชนเพื่อไว้อาลัยแก่โจวเอินไหล วันที่ 15 เป็นวันจัดงานศพของโจวเอินไหล เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้กล่าวไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ
กุมภาพันธ์ กลุ่มแก๊งสี่คนออกมาโจมตีเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นคู่แข่งที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวอีกครั้ง โดยได้รับไฟเขียวจากเหมา เติ้งถูกลดอำนาจอีกครั้ง แต่เหมาก็ไม่ได้แต่งตั้งใครจากกลุ่มสี่คนเข้ารับตำแหน่งแทน แต่หันไปแต่งตั้งหัวกั๊วเฟิงแทน วันที่ 4 เมษายน วันชิงเม้ง ตามประเพณีจีน ประชาชนประมาณสองล้านคนรวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อรำลึกโจวเอินไหล ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มสนับสนุนเติ้งเสี่ยวผิง และโจมตีแก๊งสี่คนปรากฏภายในจัตุรัส เอกสารต่อต้านกลุ่มสี่กลุ่มเผยแพร่ออกมาจำนวนมาก กลุ่มแก๊งสี่คนจึงสั่งให้ตำรวจเข้าไปสลายการชุมนุม แก๊งสี่คนโจมตีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังสำหรับการชุมนุมครั้งนี้ เติ้งถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งทางการเมือง และแต่งตั้งหัวกั๊วเฟิงเป็นรองนายกฯ อันดับหนึ่งแทน
กันยายน 1976 เหมาถึงแก่อสัญกรรม แก๊งสี่คนเห็นหัวกั๊วเฟิงไม่ยอมเชื่อฟังพวกเขาจึงเตรียมที่จะล้มหัว แต่วันที่ 6 ตุลาคม หัวกั๊วเฟิงภายใต้การสนับสนุนของกองทัพก็ชิงลงมือก่อน โดยส่งตำรวจเข้าจับกุมสมาชิกแก๊งสี่คนทั้งหมด การปฏิวัติวัฒนธรรมจึงปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์
การเสียชีวิตของ เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น มีผลล่มสลายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ผู้สืบอำนาจต่อมา คือ เติ้งเสี่ยวผิง นั้นได้ผ่อนคลายกฎลง ทำให้สภาวการณ์คลี่คลาย โดยเฉพาะเมื่อมีการจับกุมกลุ่มผู้นำการปฏิวัติ ทำให้การปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดลง