การปฏิวัติซินไฮ่ (อังกฤษ: Xinhai (Hsinhai) Revolution) หรืออีกชื่อว่า การปฏิวัติ ค.ศ. 1911 หรือการปฏิวัติจีน เป็นการปฏิวัติซึ่งโค่นล้มราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน และสถาปนาสาธารณรัฐจีน การปฏิวัตินี้ได้ชื่อว่าซินไฮ่เพราะมีขึ้นใน ค.ศ. 1911 ซึ่งตรงกับอักษรซินไฮ่ในแผนภูมิสวรรค์ในปฏิทินจีน
การปฏิวัติประกอบด้วยการกบฏและการก่อการกำเริบหลายครั้ง จุดเปลี่ยนคือ การก่อการกำเริบวูชางเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการกับขบวนการคุ้มครองทางรถไฟที่ผิด การปฏิวัติสิ้นสุดลงด้วยการสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้าย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 อันเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิจีนอายุกว่า 2,000 ปี และจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบสาธารณรัฐของจีน
โดยทั่วไปแล้ว การปฏิวัติครั้งนี้เป็นปฏิกิริยาต่อสามปัจจัยหลัก: ความเสื่อมของรัฐชิงและความไม่สามารถปฏิรูปและนำพาจีนสู่ความทันสมัยเพื่อเผชิญหน้ากับการท้าทายของต่างชาติ, เพื่อย้อนความเสื่อมโทรมภายใน และ ความไม่พอใจของชาวจีนฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ต่อชนกลุ่มน้อยแมนจูที่เป็นชนชั้นปกครอง กลุ่มต่อต้านชิงใต้ดินหลายกลุ่มและด้วยการสนับสนุนจากนักปฏิวัติจีนพลัดถิ่น ได้พยายามโค่นล้มราชวงศ์ชิง สงครามกลางเมืองระยะสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมายุติลงด้วยการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างหยวน ซื่อไข่ ผู้มีอิทธิพลทางทหารในสมัยปลายราชวงศ์ชิง และซุน ยัตเซ็น ผู้นำถงเหมิงฮุย (สหสันนิบาต) หลังราชสำนักจีนโอนอำนาจไปยังสาธารณรัฐที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ การสถาปนารัฐบาลผสมเฉพาะกาลได้มีขึ้นร่วมกับรัฐสภา อย่างไรก็ดี อำนาจทางการเมืองในรัฐบาลแห่งชาติใหม่ในกรุงปักกิ่งนั้น ไม่นานได้ถูกผูกขาดโดยหยวนและนำไปสู่การแบ่งแยกทางการเมืองและยุคขุนศึกนานอีกหลายทศวรรษ รวมทั้งความพยายามฟื้นฟูจักรวรรดิหลายครั้ง
ปัจจุบัน ทั้งสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันและสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่มองว่าตนเป็นผู้สืบทอดการปฏิวัติซินไฮ่และยังคงเคารพอุดมการณ์ของการปฏิวัติ รวมทั้งชาตินิยม สาธารณรัฐนิยม การทำให้จีนทันสมัยและความสามัคคีแห่งชาติ วันที่ 10 ตุลาคมในไต้หวันเป็นวันดับเบิลเท็น (Double Ten Day) วันชาติของสาธารณรัฐจีน ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและมาเก๊า วันเดียวกันนี้ยังมักเฉลิมฉลองเป็นวันครบรอบการปฏิวัติซินไฮ่ ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากยังเฉลิมฉลองในไชนาทาวน์ทั่วโลก