การบุกครองญี่ปุ่นของมองโกล (ญี่ปุ่น: ?? Genk? ?) เป็นเหตุการณ์ที่กองทัพของจักรวรรดิมองโกล เข้ารุกรานญี่ปุ่นสองครั้ง ในปี ค.ศ. 1274 และ 1281
ขณะนั้น จักรวรรดิมองโกลขณะนั้นปกครองดินแดนมากกว่าครึ่งของทวีปเอเชีย และบางส่วนของยุโรป เป็นชาติมหาอำนาจที่เป็นที่หวั่นเกรงของทุกอาณาจักร ได้นำพาเกาหลีภายใต้ราชวงศ์โครยอ ซึ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อมองโกลมาเป็นแนวร่วมในการรุกรานญี่ปุ่น
แม้มองโกลจะมีกำลังทหารที่เหนือกว่าญี่ปุ่นมหาศาล แต่การรุกรานทั้งสองครั้งของมองโกลประสบความล้มเหลวอย่างยิ่งยวดอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง การสูญเสียไพร่พลและทรัพยากรมหาศาลจากการรุกรานทั้งสองครั้ง เป็นการนำมาซึ่งการเสื่อมถอยของจักรวรรดิมองโกล จนล่มสลายในอีก 87 ปีต่อมา
ภายหลังการแผ่ขยายอาณาเขตของมองโกลอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 1231-1259 พระเจ้าโคจงแห่งโครยอทรงตระหนักว่า มันยากเย็นนักที่จะต่อต้านมองโกลที่มีกำลังทหารอย่างมหาศาล และการต่อต้านมองโกลนั้นก็อาจจะนำมาซึ่งผลที่ร้ายแรง ดังนั้น เกาหลีจึงได้ยินยอมเป็นประเทศราชของจักรวรรดิมองโกล ในปี ค.ศ. 1258 จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1270 เมื่อมองโกลสามารถยึดครองเกาหลีได้อย่างสมบูรณ์ กุบไล ข่าน จึงได้สถาปนาราชวงศ์หยวนแห่งจักรวรรดิมองโกลขึ้นอย่างสมบูรณ์
ญี่ปุ่นในขณะนั้นปกครองโดย "ชิกเก็ง" (ผู้สำเร็จราชการแทนโชกุน) ที่มาจากตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นตระกูลที่กุมอำนาจบริหารประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1203 ในนามของโชกุนแห่งรัฐบาลโชกุนคะมะกุระ ซึ่งขณะนั้นมีโชกุนคือ เจ้าชายโคะเระยะซุ
ในปี ค.ศ. 1266 กุบไล ข่าน ได้ส่งคณะทูตไปยังญี่ปุ่น โดยมีผู้รับสาส์นคือโฮโจ โทะกิมุเนะ ผู้สำเร็จราชการแทนโชกุน (มีการถวายต่อราชสาส์นไปยังพระราชวังหลวงเคียวโตะเช่นกัน) โดยมีเนื้อความในราชสาสน์ว่า:
ขอน้อมนำอาณัติแห่งสวรรค์ ข่านแห่งมองโกลผู้ทรงเดชานุภาพมีราชสาส์นนี้ถึงพระเจ้าแผ่นดินญี่ปุ่นผู้ทรงอำนาจสูงสุดแห่งแดนน้อยอันร่วมขัณฑสีมา นานมาแล้วที่ได้เป็นห่วงถึงสัมพันธ์ของเราอันจะนำพาไปสู่การเป็นมิตรไมตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่บรรพชนของข้ารับบัญชาจากสวรรค์ ดินแดนไกลนับไม่ถ้วนได้ปฏิเสธพลังอำนาจอันน้อยนิดของเรา โครยอได้แสดงไมตรีจิตที่เรายุติสงครามและได้บูรณะประเทศตลอดจนราษฎรของพวกเขาเมื่อข้าได้ขึ้นครองราชย์ สัมพันธ์ของเรานั้นซื่อสัตย์ประดุจพ่อลูก ซึ่งเราคิดว่าท่านทราบเรื่องนี้แล้ว โครยอเป็นประเทศราชทางบูรพาของเรา ซึ่งญี่ปุ่นก็ได้เป็นพันธมิตรต่อโครยอในบางโอกาสพร้อมๆกับจีนนับแต่ก่อกำเนิดชาติของท่านมา อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่เคยส่งทูตมาเลยนับแต่การเถลิงราชย์ของข้า เราเกรงว่าอาณาจักรท่านอาจยังไม่ทราบเรื่องนี้ ดังนั้นเราจึงส่งคณะทูตพร้อมกับสาส์นของเราเพื่อแสดงความปรารถนาของเราเป็นพิเศษอันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกันและกันนับแต่บัดนี้ไป เราคาดหวังว่าชาติทั้งหมดจะเป็นครอบครัวหนึ่งเดียว เราต่างมีหนทางที่เห็นควรยกเว้นในกรณีที่เราเข้าใจกัน ไม่มีใครปรารถนาที่จะใช้ความรุนแรง
ซึ่งครั้งนี้ โทะกิมุนะได้นำเรื่องนี้ปรึกษาหารือและพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งเขาก็ตัดสินใจที่จะไม่ให้คำตอบใดๆกลับไป
ฝ่ายมองโกลมองโกลก็ไม่ลดละความพยายาม ได้ส่งคณะทูตมาอีก 4 ครั้งพร้อมผู้ติดตามจากโครยอระหว่างปี 1269-1271 ซึ่งการมาเยือนแต่ละครั้งก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบก ทางราชสำนักในเคียวโตะมีคำแนะนำมาถึงโทะกิมุเนะให้ยอมรับข้อเสนอของโครยอ เนื่องจากราชสำนักในเคียวโตะเกรงแสนยานุภาพของมองโกล โทะกิมุเนะยังคงทำเช่นเดิมคือไม่ตอบกลับใดๆ ในขณะเดียวกันก็สั่งการขุนนางและกลุ่มซะมุไรในเกาะคีวชู ซึ่งอยู่ใกล้กับโครยอมากที่สุดให้เตรียมรับมือภัยสงครามที่อาจมาถึง
กุบไล ข่าน มีความปรารถนาอย่างมากที่จะทำสงครามต่อญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 1268 หลังจากได้ได้รับการปฏิเสธมาแล้วถึงสองครั้ง แต่ก็พบว่าจักรวรรดิมองโกลยังขาดแคลนทรัพยากรและงบประมาณที่เพียงพอจัดตั้งกองเรือรบในเวลานั้น จนกระทั่งภายหลังจากมองโกลดำเนินนโยบายกลืนชาติเกาหลีโดยที่ราชธิดาของกุบไลข่านได้อภิเษกสมรสกับรัชทายาทแห่งโครยอ การต่อเรือและจัดตั้งกองเรือรบจึงเริ่มขึ้นในชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลี ในขณะเดียวกันมองโกลก็เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมจำนนอยู่เนืองๆ
ต่อมาในปี 1271 กุบไลข่านก็ได้สถาปนาราชวงศ์หยวน และในปี 1272 นั้นเอง พระเจ้าชุงยอลแห่งโครยอก็ได้เสนอไปยังกุบไลข่าน ว่า "ญี่ปุ่นยังไม่ทราบว่าโลกนั้นศักดิ์ศิทธิ์ ดังนั้นการส่งทูตและทหารของเราไปยังญี่ปุ่น เรือรบและทหารต้องถูกเตรียมให้ดี หากทรงแต่งตั้งหม่อมฉันแล้วโซร้ หม่อมฉันจะประจักษ์ให้พระองค์ทรงเห็นในกำลังของหม่อมฉัน" ซึ่งตามประวัติศาสตร์ของหยวน ก็ได้บันทึกไว้ว่า "กษัตริย์แห่งโครยอทูลถามกุบไลข่านสำหรับการพิชิตญี่ปุ่น ในการต่อเรือรบ 150 ลำและสนับสนุนชัยชนะเหนือญี่ปุ่น"
ในที่สุด เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1274 กองเรือผสมของกองทัพจักรวรรดิมองโกล ด้วยดำลังทหารมองโกลและจีน 15,000 นายและทหารโครยอ 8,000 นาย พร้อมทั้งเรือรบขนาดใหญ่ 300 ลำและเรือรบขนาดรอง 400-500 ลำ และเข้าประชิดอ่าวฮะกะตะบนเกาะคีวชู ทันทีที่ทัพมองโกลยกพลขึ้นบก ก็ถูกโจมตีจากทหารญี่ปุ่นและซะมุไรราว 10,000 นายที่ตั้งทัพรออยู่ ญี่ปุ่นแม้จะมีประสบการณ์ในการจัดการกำกำลังพลขนาดใหญ่ (ระดมพลทั้งหมดของคีวชูเหนือ) แต่เนื่องจากมองโกลซึ่งครอบครองอาวุธชาวต่างชาติซึ่งรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า (อาทิ ระเบิดเซรามิก ธนูเจาะเกราะ) มองโกลจึงพิชิตกองทัพญี่ปุ่นง่ายดายในการต่อสู้ภาคพื้นดินที่อ่าวฮะกะตะ ทั้งนี้มองโกลยังไม่สามารถรุกคืบต่อไปได้ ต้องรอกำลังเสริมอีกบางส่วน
และเมื่อกำลังเสริมมาถึงและกองทัพมองโกลเตรียมยกพลขึ้นฝั่ง ในตอนรุ่งสาง พายุไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงอย่างมหาศาลก็ได้มาถึง ณ ที่นั้น และได้พัดทำลายกองเรือมองโกลเสียหายไปอันมาก ทหารมองโกลต่างกระโดดหนีเอาชีวิตรอด ทหารจำนวนหลายพันจมน้ำเสียชีวิต ที่รอดชีวิตก็ว่ายน้ำหนีตายขึ้นฝั่งฮะกะตะ แต่ก็ถูกกองทัพซะมุไรสังหารเสียชีวิตและบางส่วนถูกจับเป็นเชลย อย่างไรก็ตาม เรือของญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและมีความคล่องตัวสูงซึ่งรอดจากพายุก็ได้ขึ้นโจมตีเรือรบมองโกลที่เหลือ
ภายหลังจากการรุกราน กองเรือพันธมิตรของมองโกลที่เหลืออยู่ก็กลับไปยังโครยอ และชาวญี่ปุ่นได้เทิดทูนว่าพายุลูกนั้นว่าเป็นพายุที่เทพเจ้าบันดาลมาปกป้องญี่ปุ่น และตั้งชื่อให้ว่า "คะมิกะเซะ" (วายุเทพ)
หลังจากที่ได้รับชัยชนะในศึกครั้งแรก ทำให้การเมืองในญี่ปุ่นมีความมั่นคงมากขึ้น รัฐบาลโชกุนคะมะกุระสามารถกระชับอำนาจจากฝ่ายต่างๆได้ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1275 รัฐบาลโชกุนคะมะกุระได้มีความพยายามอย่างมากเตรียมการรับมือสำหรับการรุกรานจากมองโกล ซึ่งทางญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดระเบียบของซะมุไรในคีวชู และสั่งให้ก่อสร้างกำแพงหินขนาดใหญ่ (?? Sekirui เซะกิรุอิ) และการป้องกันอื่นๆในจุดที่จะเพิ่มศักยภาพด้านการรบ เช่นอ่าวฮะกะตะ ที่มีการสร้างกำแพงหินสูงสองเมตรขึ้นในปี 1276 ในด้านศาสนา ศาลเจ้าต่างๆถูกสร้างขึ้นใหม่หลังจากที่คราวก่อนถูกทำลายโดยกองทัพหยวน
ภายหลังจากที่การรุกรานครั้งแรกประสบความล้มเหลว กุบไลข่านก็ได้ส่งราชทูต 5 คนไปยังคีวชู (นับเป็นครั้งที่ 5) เพื่อให้ยอมจำนน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากการที่ โฮโจ โทะกิมุเนะ ผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนได้ตอบโต้ด้วยการตัดหัวเหล่าทูตหยวน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีสุสานของพวกเขาในคะมะกุระที่ทะสึโนะกุชิ
การที่ราชทูตถูกประหารทำให้ทางหยวนไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น กุบไขล่านก็ยังเห็นว่าอาจเป็นด้วยการสื่อสารที่ผิดพลาด หรือสารไม่ถึงที่หมาย จึงได้จัดให้มีการส่งคณะทูตชุดใหม่ไปเจรจาอีกครั้ง (เป็นครั้งที่ 6) ในปี ค.ศ. 1279 แต่กระนั้นโทะกิมุเนะก็สั่งให้ประหารทูตเหมือนเดิม
มิถุนายน ค.ศ. 1281 กองเรือมองโกลแบ่งออกเป็นสองกองเรือ กองเรือแรกประกอบด้วยเรือรบ 900 ลำที่มีกำลังพลมองโกล, จีน และเกาหลี ราว 40,000 นาย ส่วนกองเรือที่สองจากจีนตอนใต้นั้นประกอบด้วยเรือรบ 3,500 ลำที่มีกำลังพลราว 100,000 นาย เดิมแผนการของมองโกลคือการรวมกลุ่มเรือรบและโจมตีอย่างประสานงานกัน แต่เนื่องด้วยกองเรือหลักของจีนนั้นล่าช้าจากการจัดเตรียมกองเรือและทหารจำนวนมหาศาล กองเรือจากเกาหลีจึงลงมือก่อนและก็ประสบกับความสูญเสียอย่างหนักที่สึชิมะจนต้องสั่งถอยทัพ ต่อมาในฤดูร้อน กองเรือเกาหลีและจีนก็สามารถยึดอิกิชะมะได้สำเร็จ และเข้าโจมตีเกาะคีวชู ที่เรียกว่า "การรบที่โคอัง" (???? K?an noeki) หรือ "ศึกครั้งที่สองแห่งหาดฮะกะตะ" แต่จากการรับมือที่ดีพร้อมของญี่ปุ่น ทำให้กองกำลังของมองโกลถูกผลักดันกลับไปที่เรือของเขา กองทัพของญี่ปุ่นซึ่งมีจำนวนมากกว่าอย่างมากได้เสริมกำลังตามแนวชายฝั่งนั้นสามารถที่จะป้องกันกองหนุนของมองโกลได้อย่างง่ายดาย จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม พายุไต้ฝุ่นคะมิกะเซะก็ได้พัดเข้าสู่ชายฝั่งของคีวชูเป็นเวลาถึงสองวัน ทำลายกองเรือของมองโกลพินาศไปเกือบทั้งหมด ทหารมองโกลและพันธมิตรเสียชีวิตกลางทะเลมากกว่าแสนนาย
สาเหตุส่วนหนึ่งที่กองเรือของมองโกลและพันธมิตรอัปปางลงจากพายุนั้น มาจากการที่โครยอและจีนเร่งรีบในการต่อเรือเกินไป ประกอบกับเรือแบบโครยอและซ่งใต้ซึ่งมีลักษณะที่เอื้ออำนวยในการออกทะเลมากกว่านั้นมีค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ดังนั้นจึงต้องต่อเรือแบบเดิมกับการรุกรานครั้งแรกขึ้น ซึ่งมีท้องเรือที่แบนราบ (เรือเดินสมุทรโดยทั่วไปจะมีกระดูกงูโค้งเพื่อป้องกันการล่ม) เป็นเรื่องยากที่จะใช้เรือลักษณะดังกล่าวในทะเลที่มีพายุไต้ฝุ่น
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การบุกครองญี่ปุ่นของมองโกล