การทำไม้ตัดเรือนยอด หรือ โพลลาร์ดดิง (อังกฤษ: pollarding) คือระบบการตัดแต่งต้นไม้โดยตัดเรือนยอดต้นไม้ออกทุกๆ ปีเพื่อให้ต้นไม้มีความสูงคงที่ (ตัดเฉพาะกิ่งก้านย่อยออกเท่านั้น) การตัดแต่งโดยวิธีนี้เป็นการกระตุ้นให้ต้นไม้ออกกิ่งก้านไปทางข้าง ปกติจะทำที่ความสูง 2-3 เมตรจากระดับโคนต้น จากนั้นจะปล่อยให้กิ่งแตกออกมาใหม่ ซึ่งเมื่อตัดแต่งในลักษณะนี้แล้วจะต้องตัดแต่ง ณ บริเวณเดิมทุกปีเหมือนการตัดผมของคน บริเวณปลายกิ่งที่ถูกตัดทุกปีนั้นจะขยายตัวเป็นปุ่มโตขึ้นเป็นที่แตกกิ่งใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้น การตัดแต่งกิ่งที่เดิมซ้ำทุกปีจึงเหมือนการตัดผมของคนหรือตัดเขาหรืองาของสัตว์ ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “polled” ซึ่งเป็นคำที่ใช้กับการตัดเขาแกะหรือกวางตัวผู้ที่เลี้ยงในฟาร์มต่างประเทศ
ต้นไม้ที่ถูกตัดแต่งโดยวิธีนี้เรียกว่า "การตัดเรือนยอด" หรือ “โพลลาร์ด” (Pollard) แต่ต้นไม้ที่ถูกบั่นยอดแบบเดียวกันแต่ปล่อยให้แตกใหม่ไม่ตัดซ้ำทุกปี เรียกว่า “ไม้ตอฟืน” (coppice) มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า maiden tree หรือ “ไม้สาวโสด” การตัดเรือนยอดต้นไม้ หรือการทำโพลลาร์ดต้นไม้อายุมากหรืออายุน้อยแต่อ่อนแอมักทำให้ต้นไม้นั้นยืนต้นตาย (ไม่ตายทันทีแต่จะค่อยๆ ตายใน 1-2 หรือ 3 ปี โดยเฉพาะการตัดที่ไม่ยอมให้มีใบต่ำกว่าจุดตัดเหลือทิ้งไว้เป็นพี่เลี้ยงหรือตัวผลิตอาหาร (ซึ่งจะตัดออกเมื่อพุ่มใบเรือนยอดใหม่สมบูรณ์แล้ว) การตัดต้นไม้ผิดชนิดก็อาจทำให้ต้นไม้ตายได้เช่นกัน มีบ่อยครั้งมากที่มีการตัดเรือนยอดเพื่อคุมความสูงของต้นไม้ที่สูงหรือต้นไม้มีอายุที่ผิดวิธี ซึ่งทำให้เกิดผลเสียร้ายแรง การจัดการกับต้นไม้สูงด้วยวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชารุกขกรรมสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายหรืออันตรายดังกล่าวนี้ได้
ไม้ตัดเรือนยอด (pollard trees) มีอายุยืนกว่าไม้สาวโสด หรือไม้ตอฟืนเพราะไม้ตัดเรือนยอดทำการตัดแต่งกันตั้งแต่เมื่อต้นไม้นั้นยังมีอายุน้อยและเมื่อตัดแต่งแล้วก็ยังมีน้ำหนักน้อย ต้นเตี้ย จึงไม่ถูกลมแรงตีพุ่มใบเสียหายมากเท่า โดยทั่วไปไม้ตัดเรือนยอดที่แก่แล้วมักมีลำต้นกลวงจึงไม่สามารถตรวจหาอายุได้แม่นยำมีอายุยืนที่แน่นอนได้กี่ปี ไม้ตัดเรือนยอดจะโตช้ากว่าไม้ตอฟืนและมีวงปีที่แคบกว่าเพราะโตช้า
ประเพณีการทำไม้ตัดเรือนยอดแต่เดิมมาก็เหมือนกับการทำไม้ตอฟืน หรือ ไม้สาวโสด คือการกระตุ้นให้ต้นไม้แตกกิ่งก้านและใบใหม่เป็นประจำเพื่อให้มีไม้ฟืนไว้ใช้สม่ำเสมอ หรือในบางกรณีเพื่อให้มีใบหรือกิ่งแห้งที่เรียกว่า “ฟางต้นไม้” (tree hay) เก็บสะสมไว้เลี้ยงสัตว์ในฤดูหนาว ระยะเวลาการตัดแต่งจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งานซึ่งผันแปรจากระยะตัดทุกๆ ปีสำหรับฟางใบไม้ไปจนระยะตัดถึงทุกๆ 5 ปีสำหรับไม้ใช้งานหรือไม้ทำฟืน บางครั้งจะทำการตัดเฉพาะแขนงที่แตกใหม่ในฤดูตัดโดยเชื่อว่าจะช่วยลดโอกาสการตายของต้นไม้ที่ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ตัดแต่งเรือนยอดมานาน
การตัดแต่งแบบไม้ตัดเรือนยอดเป็นที่นิยมมากกว่าการตัดแต่งแบบไม้ตอฟืนสำหรับการทำ “ทุ่งไม้ฟืน” (wood pasture) เพราะสัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ แกะ หรือกวางจะเล็มหน่อแขนงที่แตกใหม่ไม่ถึง ต่างกับไม้ตอฟืนที่มีหน่อแตกเตี้ยในระดับที่สัตว์เล็มถึง
แสงสว่างที่ตกกระทบพื้นดินได้มากกว่าเนื่องจากความเตี้ยของต้นเป็นตัวกระตุ้นให้พืชชั้นล่างแพร่กระจายได้มากขึ้นเนื่องจากปริมาณของแสงแดดที่ตกถึงพื้นได้มากกว่าต้นไม้สูง เป็นเหตุให้เกิดความหลากหลายของชนิดพืชพรรณของไม้พื้นล่าง อย่างไรก็ดี ในป่าปลูกที่แต่ก่อนมีการทำไม้ตัดเรือนยอดกันมากแต่ได้เลิกทำแล้วในปัจจุบันนั้นเกิดปรากฏการณ์ในลักษณะตรงกันข้าม โดยหน่อจะแตกออกทางข้างที่ระดับพื้นดินและบนลำต้นเติบโตมากจนเป็นกิ่งขนาดเท่าลำต้น ตัวอย่างดังกล่าวเกิดที่ป่าเอ็บปิง (Epping Forest) ในกรุงลอนดอน อันเป็นผลจากการทำไม้ตัดเรือนยอดท่ทำกันมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ปริมาณของแสงสว่างตกถึงพื้นน้อยมากเพราะจากการขึ้นอย่างหนาแน่นของไม้ตัดเรือนยอดเดิม
ไม้ตัดเรือนยอดที่ตัดสูงประมาณ 1 เมตร เรียกว่า “ไม้ตอ” (stubs) ใช้สำหรับทำเครื่องหมายในทุ่งไม้ตอฟืนหรือป่าปลูกอื่นๆ ไม้ตอมักใช้ไม่ได้สำหรับพื้นที่ที่มีทุ่งเลี้ยงสัตว์ เพราะหน่อแตกใหม่จะเตี้ยกว่าระดับเล็มของสัตว์ดังได้กล่าวมาแล้ว
ชนิดของพันธุ์ไม้ที่จะนำมาทำไม้ตัดเรือนยอดได้นั้นก็เช่นเดียวกันกับไม้ตอฟืน กล่าวคือต้องเป็นพันธุ์ไม้ชนิดลำต้นเหนือใบเลี้ยงซึ่งแตกหน่อด้านบนได้มากและเร็ว (epicormic growth) ไม้ชนิดนี้ซึ่งเป็นไม้ใบกว้างหลายชนิดมากแต่ไม่ใช่ไม้จำพวกต้นสนที่ไม่สามารถตัดลำต้นส่วนบนออกได้เนื่องจากตุ่มตาจำศีลที่อยู่ตามลำต้นสามารถแตกกิ่งใหม่ออกมาได้ ซึ่งแน่นอนที่สุดที่พันธุ์ไม้ที่ไม่ใช่ชนิดลำต้นเหนือใบเลี้ยงซึ่งไม่สามารถแตกกิ่งที่ลำต้นช่วงต่ำกว่าจุดตัดย่อมจะต้องตายไป เพราะไม่มีใบและกิ่งแตกใหม่ออกมา ต้นไม้ขนาดเล็กหลายชนิดก็ไม่เหมาะสำหรับการทำไม้ตัดเรือนยอด เพราะแทนที่เมื่อตัดเรือนยอดส่วนบนออกแล้วแทนที่มันจะแตกใบข้างบนกลับมาแตใบที่โคนต้นเหมือนไม้ตอฟืน ตัวอย่างต้นไม้ที่ทำไม้ตัดเรอืนยอดได้ในประเทศแถบเขตอบอุ่นมีไม้ใบกว้างหลายชนิดได้แก่ต้นบีช (beach), ต้นโอ๊ก (oak), ต้นเมเปิล (maple), แบล็กโลคัส (Robinia pseudoacacia), ต้นฮอร์นบีม (hornbeams), ต้นลินเด็น (linden) , ต้นเพลน (planes หรือ (Platanus'), ต้นเกาลัดม้า (horse chestnuts หรือ (Aesculus), ต้นหม่อน (mulbery) หรือ (Morus), ต้นเรดบัด (Redbud หรือ (Cercis canadensis), ต้นไม้แห่งสวรรค์ (Tree of Heaven หรือ (Ailanthus altissima) และต้นหลิว (Willows) หรือ (Salix) ; แต่ก็มีไม้สนบางชนิดเช่น ต้นยิว (yew หรือ Taxus).
มีการใช้เทคนิคไม้ตัดเรือนยอดดังกล่าวนี้ในแอฟริกาด้วยเช่นกันสำหรับต้นมอริงกา (Moringa oleifera) เพื่อให้ใบที่ใช้กินเป็นอาหารอยู่ในระดับต่ำเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยวที่ง่าย การทำไม้ตัดแต่งเรือนยอดในงานภูมิสถาปัตยกรรมและใน การป่าไม้ในเมือง ในบางพื้นที่เช่นกัน สำหรับจัดการเพื่อคุมความสูงและขนาดของต้นไม้เพื่อความปลอดภัยแก่สาธารณชน ทำไม้ตัดเรือนยอดนี้จะมีการกำจัดกิ่งผุ กิ่งแห้ง เพื่อสุขภาพและความแข็งแรงของต้นไม้เอง และเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งเป็นการสร้างความงามในฤดูใบไม้ผลิ การให้ร่มเงาในฤดูร้อนและการดูดซับมลพิษ การทำไม้ตัดเรือนยอดอาจถือเป็นการ “ทำหนุ่มทำสาว” ให้แก่ต้นไม้ไปด้วย เช่นตัวอย่างที่ทำที่สะพานเรือแบรดฟอร์ดที่ต้นแพร์ (Pyrus calleryana "Bradford") ทีเมื่อยังอายุน้อยให้ดอกที่สพรั่งสวยงาม แต่เมื่อแก่กลับเปราะและมีเรือนยอดหนักที่อาจโค่นได้ง่าย จึงมีการทำการตัดเรือนยอดเพื่อแก้ไขปัญหา
ต้นโอ๊กเมื่อแก่มากแล้วสามารถแตกลำต้นใหม่จากกิ่งที่เป็นเรือนยอดโดยตัดแต่งเรือนยอดได้เช่นเดียวกับ “กิ่งต่อชีวิต” ที่มักแตกออกจากกิ่งใหญ่เดิมได้เองตามธรรมชาติ
การตัด (poll) แต่เดิมเป็นคำกริยาที่หมายถึงการตัดผม แต่ภายหลังนำมาใช้กับการกระทำอย่างเดียวกันที่ทำกับกิ่งของต้นไม้หรือเขาของสัตว์ การทำโพลลาร์ดหรือการตัดยอดจึงหมายถึงคน สัตว์หรือสิ่งที่ถูกตัดส่วนบนออก ตัวอย่างเช่น วัวตัวผู้ที่ไม่มีเขาจะเรียกกันว่า “โพลลาร์ด” ซึ่งกลายเป็นคำนามไป แต่ต่อมาคำนามโพลลาร์ดได้กลายมาเป็นอาการกริยาของมันเองที่ใช้ว่า “โพลลาร์ดดิง” ซึ่งมักใช้กับการตัดถ้อยคำหรือตัดเนื้อความในร่างหรือคำกล่าวสุนทรพจน์ นอกจากนี้คำ “pollarding” ยังกลายเป็นคำที่ใช้แทนคำว่า “polling” ที่ใช้ในการป่าไม้แต่เดิมด้วย นอกจากนี้คำว่า pollard ยังใช้เป็นคำคุณศัพท์สำหรับไม้ตัดแต่งเรือนยอดในภาษาอังกฤษอีกด้วย เช่น “pollard trees”
ความเข้าใจเกี่ยวกับ "การทำไม้ตัดเรือนยอด" อาจเรียกได้ว่ายังไม่มีเลยก็ได้ แต่กระนั้นก็มีการ "บั่นยอด" ต้นไม้กำลังเกิดขึ้นทั้งในเมืองและตามทางหลวงทั่วประเทศ เป็นการปฏิบัติที่ผิดวิธีและยังขาดความรู้ความเข้าใจในเทคนิคการทำ "ไม้ตัดเรือนยอด" (pollarding) ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น การกุดยอด-กุดกิ่งของต้นไม้ในลักษณะที่ปรากฏในวิชารุกขกรรมเรียกว่า "การบั่นยอด" (Tree topping) นั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความอัปลักษณ์ของต้นไม้ใหญ่ในเมืองและเป็นการก่ออันตรายแก่สาธารณะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
หน่วยงานที่ทำการ "บั่นยอด" ต้นไม้อยู่เป็นประจำคือ หน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานสาธาณูปโภค ได้แก่กรุงเทพมหานครฯ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล, การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมทางหลวงแผ่นดินและกรมทางหลวงชนบท จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ต้นไม้จำนวนนับไม่ถ้วนที่ตั้งใจปลูกเพื่อความสวยงามและความรื่นรมย์ได้ตายลงหรือมีรูปร่างพิกลพิการมากขึ้นเป็นลำดับจนเรียกกันว่าตันไม้อัปลักษณ์ ที่รอเวลาโค่นล้ม หนทางแก้ไขมีทางเดียวซึ่งไม่ยากได้แก่การให้ความรู้และการฝึกที่ถูกต้องแก่ผู้ปฏิบัติงาน