การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: The Expressway Authority of Thailand ชื่อย่อ: กทพ.; EXAT) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้าง หรือจัดให้มีทางพิเศษด้วยวิธีการใดๆ ตลอดจนบำรุงรักษาทางพิเศษและดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับทางพิเศษ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ปัจจุบัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหน้าที่เพียงจัดทำแผนแม่บทและดำเนินแผนก่อสร้างทางด่วนเส้นทางใหม่ในประเทศไทย ส่วนการบริหารทางด่วนในกำกับนั้น มีบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพเป็นผู้รับสัมปทาน และแบ่งรายได้ให้แก่กทพ.ตามสัญญาสัมปทาน
ในช่วงปี 2512 รัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีการเตรียมเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการก่อตั้งหน่วยงานที่ดูแลการก่อสร้างทางพิเศษโดยเฉพาะซึ่งทางรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาผลกระทบในการก่อสร้างทางพิเศษแต่ด้วยอุปสรรคหลายอย่างทำให้รัฐบาลไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ สภาผู้แทนราษฎร ได้จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติตัวเองของจอมพลถนอมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514
จนกระทั่งวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 จอมพลถนอมในฐานะประธาน สภาบริหารคณะปฏิวัติ ได้ลงนามในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 เรื่องจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งได้ลงประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2515 แต่ทางการทางพิเศษได้ถือเอาวันที่ 27 พฤศจิกายน เป็นวันก่อตั้งองค์กรโดยในเดือนมีนาคม 2516 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติแต่งตั้งนาย ประสิทธิ์ อุไรรัตน์ เป็นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยคนแรก
ในปี 2530 คณะรัฐมนตรีและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต่อ สภาผู้แทนราษฎร และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2530
ต่อมาในปี 2550 คณะรัฐมนตรีและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเข้าสู่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 รวมถึงการแก้ไขวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งซึ่งไม่เข้ากับยุคสมัย
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เปิดให้บริการระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection System: ETCs) โดยเรียกว่า Easy Pass เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2553 ในสายทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษวงแหวนรอบนอกด้านใต้ (บางพลี-บางขุนเทียน) และวันที่ 25 กรกฎาคม 2553 ในสายทางพิเศษศรีรัช กทพ. ได้นำ Easy Pass เข้ามาใช้แทนระบบ Tag เดิม เพื่อขยายปริมาณการรองรับการจราจรบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง โดยสามารถทำได้สูงสุด 1200 คันต่อชั่วโมงต่อช่องทาง
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การทางพิเศษแห่งประเทศไทย