การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ หรือ การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (อังกฤษ: Complete blood count (CBC); Full blood count (FBC); Full blood exam (FBE)) หรือที่นิยมเรียกย่อว่า ซีบีซี เป็นการทดสอบที่ร้องขอโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์อื่น ๆ เพื่อต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับเซลล์เม็ดเลือดของผู้ป่วย ข้อมูลที่ได้อาจเรียกว่า ฮีมาโตแกรม (hemogram)
Alexander Vastem เป็นคนแรกที่ใช้การนับจำนวนเม็ดเลือดเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์[ต้องการอ้างอิง] ค่ามาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบผลของการตรวจเลือดด้วยวิธีนี้มาจากการทดลองทางคลินิกตั้งแต่ ช่วง ค.ศ. 1960
เซลล์ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบหมุนเวียนโลหิตของร่างกายอาจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ เม็ดเลือดขาว (leukocytes) เม็ดเลือดแดง (erythrocytes) และเกล็ดเลือด (thrombocytes) หากจำนวนเซลล์ที่นับได้มีมากหรือน้อย หรือมีลักษณะที่ผิดปกติออกไปจะเป็นการบ่งชี้อาการของโรคต่างๆ ได้ ดังนั้นการตรวจนับเซลล์ในเลือดจึงเป็นวิธีการที่ใช้กันมากในทางการแพทย์ เพราะให้ข้อมูลกว้างๆ เกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วยได้ ในบางแห่งมักจะทำการตรวจนับเม็ดเลือดเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพประจำปี
ผู้เจาะเลือดจะเป็นผู้เก็บเลือดโดยจะใส่สารกันเลือดแข็ง (EDTA หรือบางครั้งอาจจะใช้ citrate)ในหลอดบรรจุเลือดเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ในอดีตการตรวจนับจำนวนเซลล์จากเลือดผู้ป่วยจะใช้คนเป็นผู้นับโดยดูจากฟิล์มเลือด (blood film) ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ แต่ในปัจจุบันห้องปฏิบิติการทางการแพทย์บางแห่งได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องอัตโนมัติในการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์แทน
เลือดจะถูกผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันและถูกวางไว้ที่แท่นของเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งเครื่องอัตโนมัติประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่จะสามารถวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ในเลือดได้ โดยเครื่องจะวิเคราะห์ชนิดและจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ ในเลือด ผลการวิเคราะห์จะถูกพิมพ์ออกมาหรือส่งผลไปยังคอมพิวเตอร์ต่อไป
เครื่องอัตโนมัติจะดูดเลือดเพียงจำนวนเล็กน้อยผ่านทางท่อแคบ ๆ ซึ่งจะมีเซนเซอร์ (sensor) ที่จะตรวจนับจำนวนเซลล์และบ่งชี้ชนิดของเซลล์เม็ดเลือดได้ (flow cytometry) ตัวเซนเซอร์หลักประกอบด้วย 2 ตัว ได้แก่ ตัวตรวจจับแสง (light detector) และ การวัดความต้านทานต่อไฟฟ้า (electrical impedance) เครื่องอัตโนมัติสามารถบอกชนิดของเซลล์โดยขนาดหรือสามารถตรวจวัดลักษณะที่แตกต่างของเซล์เพื่อจัดชนิดของเซลล์
ถึงแม้ว่าเครื่องอัตโนมัติจะมีความแม่นยำในการตรวจนับ อย่างไรก็ตาม การตรวจนับเซลล์ที่ผิดปกติ (abnormal cell) ก็ยังไม่มีความถูกต้องมากนัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้คนในการตรวจนับเซลล์ที่มีความผิดปกติเหล่านี้
นอกจากการนับจำนวนเซลล์และวิเคราะห์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เครื่องตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์แบบอัตโนมัติยังสามารถวัดปริมาณของฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งมีประโยชน์ต่อแพทย์ เช่น วินิจฉัยผู้ป่วยโรคโลหิตจาง หากเม็ดเลือดแดงมีขนาดที่ผิดปกติไม่ว่าจะมีขนาดเล็ดหรือใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดงปกติ หรือมีความแตกต่างของขนาดเม็ดเลือดแดงอย่างมาก ข้อมูลเหล่านี้จะใช้เป็นแนวทางในการตรวจและวินิจฉัยต่อไป
Counting chamber เป็นเครื่องมือสำหรับการตรวจนับจำนวนเดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในเลือด ส่วนการตรวจแยกชนิดของเซลล์เม็ดเลือดนั้นจะใช้ฟิล์มเลือด โดยจะนับแยกชนิดของเม็ดเลือดขาวภายใต้กล้องจุลทรรศน์
วิธีการตรวจโดยใช้คนนั้นมีข้อดีที่สามารถตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติได้ดีกว่าเครื่องอัตโนมัติ แต่ก็อาจจะพบความคลาดเคลื่อนได้เนื่องจากเป็นการนับเซลล์ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องอัตโนมัติ การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์นั้นไม่เพียงแต่สามารถตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจดูความแตกต่างของรูปร่างเม็ดเลือดแดงซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง การตรวจด้วยเครื่องอัตโนมัตินั้นจะมีความรวดเร็ว การตรวจนับจำนวนเซลล์ ขนาดของเม็ดเลือดโดยเฉลี่ย รวมถึงความแตกต่างของขนาดเม็ดเลือดจะมีความน่าเชื่อถือ แต่เครื่องอัตโนมัตินั้นไม่สามารถบอกถึงรูปร่างของเม็ดเลือดได้ รวมถึงอาจพบความผิดพลาดในการคำนวณจำนวนเกล็ดเลือดอันเนื่องมาจาก EDTA นั้นทำให้เกล็ดเลือดเกิดการเกาะกลุ่มกัน (clump) ซึ่งถ้าหากตรวจจำนวนเกล็ดเลือดผ่านทางฟิล์มเลือดนั้นจะมาสามารถเห็นการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ทำให้สามารถประมาณจำนวนเกล็ดเลือดอย่างคร่าว ๆ ได้ว่ามีจำนวนปกติ ต่ำ หรือสูง แต่ไม่สามารถรายงานจำนวนสุทธิของเกล็ดเลือดได้
การเปลี่ยนแปลงของการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์สามารถบ่งบอกถึงอาการของโรคบางชนิดได้ เช่น
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์