การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีการค้าประเวณีอยู่และถูกควบคุมในบางส่วน การค้าประเวณีพบได้ทั่วประเทศ เจ้าพนักงานในท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมักจะปกป้องการค้าประเวณี จำนวนของผู้ค้าบริการทางเพศประมาณให้แน่นอนได้ยาก แต่ละสำนักมีตัวเลขและนิยามที่ต่างกันไป และเป็นที่ถกเถียงกันทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตั้งแต่สงครามเวียดนามเป็นต้นมาประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางสำหรับเซ็กซ์ทัวร์
เรื่องจำนวนของผู้ค้าบริการทางเพศในไทยยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ การศึกษาของนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2547 ระบุว่ามีผู้ทำงานเกี่ยวกับบริการทางเพศ 2.8 ล้านคน เป็นผู้หญิง 2 ล้านคน เป็นผู้ชาย 2 หมื่นคน และเป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 8 แสนคน อย่างไรก็ดีมีผู้ท้วงติงว่าตัวเลขนี้น่าจะสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาก การศึกษาใน พ.ศ. 2546 ประมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจไว้ที่ 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือราว 3% ของระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม และประมาณการณ์ว่าอาจมีผู้ค้าบริการทางเพศมากถึง 10,000 คนบนเกาะสมุย และไม่น้อยกว่า 10% ของมูลค่าเงินที่นักท่องเที่ยวนำเข้ามาถูกใช้ในกิจกรรมทางเพศ ส่วนรายงานขององค์การอนามัยโลกใน พ.ศ. 2544 ระบุว่าการประมาณการณ์ที่น่าเชื่อถือที่สุดระบุว่ามีผู้ค้าบริการทางเพศระหว่าง 150,000 ถึง 200,000 คน การสำรวจโดยภาครัฐบาลพบว่ามีผู้ค่าบริการทางเพศที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ระหว่าง 76,000 ถึง 77,000 คน ในสถานบันเทิงที่จดทะเบียน ในขณะที่กลุ่ม NGO เชื่อว่ามีผู้ค้าบริการทางเพศระหว่าง 200,000 ถึง 300,000 คน
บางครั้งผู้ค้าประเวณีหญิงที่มีรูปร่างหน้าตาดีอาจแอบอ้างตัวว่าประกอบอาชีพอื่นบางอาชีพ เพื่อเพิ่มค่าตัว เช่น เป็นนิสิตนักศึกษา หรือพริตตี้ หรือนางแบบ เป็นต้น
ในการซื้อขายบริการทางเพศ ผู้ขายหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจใช้คำอื่น หรือชื่ออาชีพอื่นแทน เพื่อเลี่ยงการกล่าวถึงโดยตรง เช่น "ไซด์ไลน์" "ขายน้ำ" "เด็กออฟ" "หมอนวด" "นวดโดยนางแบบ" "นวดโดยพริตตี้" เป็นต้น
ในบางกรณีอาจพบว่ามีชาวต่างชาติ หรือคนต่างด้าว ทั้งที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าลาวกัมพูชา เป็นต้น และจากประเทศอื่น เช่น รัสเซียอุซเบกิสถาน เป็นต้น เข้ามาค้าประเวณีในประเทศไทย โดยมีทั้งที่เต็มใจกระทำ และที่ถูกแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติล่อลวงหรือบังคับมา
การค้าประเวณีไม่ใช่สิ่งใหม่ในสังคมไทย มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ย้อนไปได้กว่าหกร้อยปี เช่น เอกสารของชาวจีน Ma Huan (1433) และชาวยุโรป (Van Neck, 1604; Gisbert Heeck, 1655 และอื่นๆ) อย่างไรก็ดีในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น ที่มีชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันจำนวนมากเข้ามาอาศัยในประเทศไทยอาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น
ในสมัยโบราณกฎศาสนาห้ามการค้าประเวณี ในขณะที่ต่อมาได้มีกฎหมายสมัยใหม่ในการห้ามและป้องปรามการค้าประเวณีมาเป็นลำดับ
โดยเหตุที่การค้าประเวณีนำมาซึ่งความเสื่อมเสียทางศีลธรรมและปัญหาสังคมต่าง ๆ นานาดังกล่าว รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยได้พยายามแก้ปัญหานี้อยู่เสมอ แต่สภาพการณ์ก็ยังทรง ๆ ทรุด ๆ เรื่อยมา
นโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีของไทยเพิ่งจะเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ โดยพระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง ชื่อ "พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127" เหตุผลในการประกาศใช้มีว่า
"...ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตนอย่างที่เรียกว่าหญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล แต่ก่อนมาการตั้งโรงหญิงนครโสเภณี นายโรงช่วยไถ่หญิงมาเป็นทาสรับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วตั้งเป็นโรงขึ้น ครั้นต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาสเสียแล้ว หญิงบางจำพวกที่สมัครเข้าเป็นหญิงนครโสเภณีก็รับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วมีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งขึ้นในท้องที่โรงอันควรบ้างมิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนือง ๆ อีกประการหนึ่ง หญิงบางคนป่วยเป็นโรคซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษาโรคร้ายนั้น อาจจะติดเนื่องกันไปจนถึงเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายและข้อบังคับอย่างใดสำหรับจะป้องกันทุกข์โทษภัยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตืขึ้นไว้สืบไปดังนี้..."
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 มีว่า 1) หญิงนครโสเภณีให้เป็นได้แต่โดยใจสมัคร ใครจะบังคับผู้อื่นหรือล่อลวงมาให้เป็นหญิงนครโสเภณีมิได้เลย มีโทษตามพระราชกำหนดลักษณะข่มขืนล่วงประเวณี รัตนโกสินทรศก 118 ซึ่งโทษนี้ปัจจุบันมีบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาแทนแล้ว 2) หญิงนครโสเภณีทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อนจึงจะเป็นได้ และต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตราคาสิบสองบาท มีอายุสามเดือนต่อใบ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนับว่าสูงมากในสมัยนั้น แสดงเจตนารมณ์ในการป้องปรามการเป็นโสเภณีอยู่ในตัว 3) ผู้ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน และนายโรงก็เป็นได้แต่ผู้หญิง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลกันเอง 4) หญิงนครโสเภณีต้องไม่สร้างความรำคาญวุ่นวายแก่บุคคลภายนอก เช่น ฉุดลาก ยื้อแย้ง ล้อเลียน เป็นต้น 5) เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไปในโรงหญิงนครโสเภณีทุกเมื่อ เพื่อนำตัวสมาชิกคนใดของโรงมาตรวจ ถ้าพบโรคก็ให้ส่งไปรักษาจนกว่าจะหาย แลอาจเพิกถอนหรือสักพักใช้ใบอนุญาตในคราวนั้นด้วยก็ได้
ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดมีแนวคิดที่จะปรับสภาพหญิงนครโสเภณีให้กลับเป็นคนดีของสังคม องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการเลิกค้าประเวณีทั่วโลก โดยใน พ.ศ. 2492 ได้มีการประชุมร่างอนุสัญญาเพื่อการนี้ขึ้น ชื่อ "อนุสัญญาฉบับรวม" (อังกฤษ: Consolidated Convention) มีเนื้อหาสาระเป็นการขจัดการค้าสตรีและการแสวงหาประโยชน์จากหญิงนครโสเภณี เพื่อเลิกการทำให้การค้าประเวณีเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่หญิงนครโสเภณีเพื่อกลับเป็นคนดีของสังคมต่อไปด้วย ซึ่งเมื่อประกาศใช้แล้ว ไทยเองก็ได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้
ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศห้ามจัดตั้งสำนักโสเภณีเพิ่มขึ้นอีก และใน พ.ศ. 2498 ก็ได้มีการห้ามจดทะเบียนโสเภณีเป็นเด็ดขาด ซึ่งรัฐเองก็มีนโยบายจัดการสงเคราะห์หญิงนครโสเภณีขึ้นด้วย ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย ครั้งนั้น รัฐบาลดำริจะจัดตั้งนิคมโสเภณีขึ้นเพื่อการดังกล่าว แต่ขัดข้องด้านงบประมาณ โครงการจึงระงับไว้จน พ.ศ. 2499 รัฐบาลได้ร่าง "พระราชบัญญัติห้ามการค้าประเวณี" ขึ้น แต่ไม่สามารถนำเข้าสู่รัฐสภาได้ ใน พ.ศ. 2503 รัฐบาลจึงเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่แทน คือ ร่างพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาและประกาศใช้ตามลำดับ ปัจจุบันมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แทนที่แล้ว
นอกจากกฎหมายหลักข้างต้น ประมวลกฎหมายอาญายังให้ความคุ้มครองแก่หญิงและเอาโทษชายแมงดาซึ่งเป็นกาฝากเกาะกินอยู่กับหญิงนครโสเภณี เช่น กำหนดโทษการเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กหญิง เพื่อการอนาจารหรือเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น และกำหนดโทษเอาผิดแก่ชายแมงดาที่ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงนครโสเภณีด้วย เป็นต้น
โทษที่กฎหมายวางไว้สำหรับความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณีนี้อยู่ในระดับสูงมาก เพื่อผดุงคุณธรรมของชาติ และให้ความคุ้มครองแก่กุลบุตรกุลธิดามิให้ตกไปในอบายมุข อย่างไรก็ดี การที่หญิงต้องกลายเป็นโสเภณีนั้นมิได้เกิดจากการล่อลวงหรือชักพาแต่อย่างเดียว แต่มีสาเหตุหลายประการดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและแก้ไขกันไปตราบชั่วชีวิตของสังคม
ใน พ.ศ. 2546 กระทรวงยุติธรรมเคยพิจารณาข้อเสนอทำให้การค้าประเวณีเป็นอาชีพถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและภาษี โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะขึ้น ข้อการทำให้ถูกกฎหมายคาดว่าจะเพิ่มรายได้ภาษี ลดการทุจริต และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ค้าบริการทางเพศ มีการกล่าวถึงอยู่เรื่อยๆ ในสังคมไทย แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอีกนับแต่นั้นมา
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การค้าประเวณีในประเทศไทย