กาพย์เห่เรือ เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง แต่งไว้สำหรับขับร้องเห่ในกระบวนเรือ โดยมีทำนองเห่ที่สอดคล้องกับจังหวะการพายของฝีพาย ว่าช้า หรือเร็ว มักจะมีพนักงานขับเห่หนึ่งคนเป็นต้นเสียง และฝีพายคอยร้องขับตามจังหวะ พร้อมกับการให้จังหวะจากพนักงานประจำเรือแต่ละลำ
กาพย์เห่เรือนั้น ใช้คำประพันธ์ 2 ชนิดด้วยกัน นั่นคือ กาพย์ยานี 11 และโคลงสี่สุภาพ เรียงร้อยกันในลักษณะที่เรียกว่า กาพย์ห่อโคลง โดยมักขึ้นต้นด้วยโคลง 1 บท แล้วตามด้วยกาพย์ยานี เรื่อยไป จนจบตอนหนึ่งๆ เมื่อจะขึ้นตอนใหม่ ก็จะยกโคลงสี่สุภาพมาอีกหนึ่งบท แล้วตามด้วยกาพย์จนจบตอน เช่นนี้สลับกันไป
กาพย์เห่เรือที่เก่าแก่ที่สุด ที่พบในเวลานี้ คือ กาพย์เห่เรือในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลาย ทรงแต่งไว้ 2 เรื่อง คือบทเห่ชมเรือ ชมปลา ชมไม้ และชมนก มีลักษณะเป็นเหมือนนิราศ กับอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกากี
สันนิษฐานกันว่ากาพย์เห่เรือ เดิมคงจะแต่งเพื่อขับเห่กันเมื่อเดินทางไกลในแม่น้ำลำคลอง แต่ในภายหลังคงมีแต่เจ้านายหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง และสุดท้ายมีใช้แต่ในกระบวนเรือของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น
กาพย์เห่เรือไม่สู้จะนิยมประพันธ์กันมากนัก เนื่องจากถือเป็นคำประพันธ์สำหรับใช้ในพิธีการ คือ ในกระบวนเรือหลวง หรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค ไม่นิยมใช้ในพิธีหรือสถานการณ์อื่นใด การแต่งกาพย์เห่เรือจึงมักแต่งขึ้นสำหรับที่จะใช้เห่เรือจริงๆ ซึ่งในแต่ละรัชกาล มีการเห่เรือเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น