ค้นหา
  
Search Engine Optimization Services (SEO)

กษัตริย์อาเธอร์

กษัตริย์อาเธอร์ (อังกฤษ: King Arthur) เป็นกษัตริย์อังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในตำนานเล่าขานในฐานะวีรบุรุษในยุคกลาง ซึ่งได้ปกป้องเกาะบริเตนจากการรุกรานของชาวแซกซันในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 รายละเอียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าขาน ตำนานพื้นบ้าน และวรรณกรรมที่แต่งขึ้น นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ากษัตริย์อาเธอร์มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์จริงหรือไม่ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอาเธอร์ค่อนข้างกระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น Annales Cambriae, Historia Brittonum และในบันทึกของนักบุญกิลแดส นอกจากนี้ชื่อของ อาเธอร์ ยังปรากฏอยู่ในบทกวีเก่าแก่หลายแห่ง เช่นในกวีนิพนธ์ Y Gododdin เป็นต้น

กษัตริย์อาเธอร์ในตำนานได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นบุคคลที่น่าสนใจในระดับนานาชาติก็ด้วยผลงานเขียนอันเปี่ยมด้วยจินตนาการและความเหนือจริงของเจฟฟรีย์แห่งมอนมัท ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เรื่อง Historia Regum Britanniae (ประวัติกษัตริย์แห่งบริเตน) แต่ก็มีนิทานและกวีนิพนธ์ของเวลส์และไบรตันหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์อาเธอร์ และมีอายุเก่าแก่กว่างานชิ้นดังกล่าว ในงานเหล่านั้น อาเธอร์เป็นทั้งนักรบผู้ยิ่งใหญ่ผู้ปกป้องบริเตนไว้จากศัตรูทั้งที่เป็นมนุษย์และสิ่งเหนือมนุษย์ บางครั้งก็เป็นผู้วิเศษในตำนานพื้นบ้าน ทั้งมีเรื่องเล่าถึงโลกหลังความตายในตำนานเวลส์ (คือ Annwn) ด้วย แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าผลงานของเจฟฟรีย์ (ซึ่งเขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1138) ได้ดัดแปลงมาจากตำนานเก่าแก่ดั้งเดิมเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด

ทั้งโครงเรื่อง เหตุการณ์ และบุคลิกของกษัตริย์อาเธอร์ รวมถึงบุคคลต่าง ๆ ในตำนานอาเธอร์ ได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ในวรรณกรรมของแต่ละยุคโดยที่ไม่มีเรื่องใดสอดคล้องต้องกันอย่างสมบูรณ์ แต่งานเขียนฉบับของเจฟฟรีย์ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการของตำนานในยุคต่อ ๆ มา เจฟฟรีย์พรรณนาภาพของอาเธอร์เป็นกษัตริย์แห่งบริเตนผู้ต่อสู้ต้านทานการรุกรานของพวกแซกซัน และก่อร่างสร้างอาณาจักรแห่งบริเตน ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และกอล องค์ประกอบต่าง ๆ จนแม้เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเกี่ยวกับอาเธอร์ในชั้นหลังล้วนเคยปรากฏอยู่ใน Historia ของเจฟฟรีย์มาก่อนทั้งนั้น เช่น ยูเทอร์ เพนแดรกอน ผู้เป็นบิดาของอาเธอร์ พ่อมดเมอร์ลิน ดาบเอกซ์แคลิเบอร์ กำเนิดของอาเธอร์ที่ทินแทเจล การรบครั้งสุดท้ายกับมอร์เดร็ดที่คัมลานน์ รวมถึงการผ่อนพักในบั้นปลายที่แอวาลอน นักเขียนชาวฝรั่งเศสในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชื่อ เครเตียง เดอ ทรัว เป็นผู้เพิ่มบทบาทของลานเซลอตและจอกศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในตำนาน และริเริ่มเรื่องราวเชิงโรแมนซ์ของอาเธอร์ซึ่งต่อมากลายเป็นแก่นของวรรณกรรมในยุคกลาง ในงานเขียนภาษาฝรั่งเศสชุดนี้ จุดหลักของเรื่องมักจะเคลื่อนไปจากตัวอาเธอร์ ไปยังตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง เช่นบรรดาอัศวินโต๊ะกลมทั้งหลาย เป็นต้น วรรณกรรมเกี่ยวกับอาเธอร์เป็นที่นิยมมาตลอดยุคกลาง และค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไปเมื่อผ่านไปหลายศตวรรษ วรรณกรรมอาเธอร์ได้รับความนิยมกลับคืนมาอีกครั้งเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 และยืนยงอยู่มาตลอดจนถึงศตวรรษที่ 21 ได้รับการดัดแปลงไปยังสื่อต่าง ๆ ทั้งงานวรรณกรรมเอง หรือดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ การ์ตูน และสื่ออื่น ๆ อีกมากมาย

ภูมิหลังที่แท้จริงทางประวัติศาสตร์ของตำนานกษัตริย์อาเธอร์เป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการมาเป็นเวลานานแล้ว แนวคิดหนึ่งซึ่งอ้างอิงตาม Historia Brittonum (ประวัติศาสตร์แห่งบริเตน) และ Annales Cambriae (พงศาวดารเวลส์) เชื่อว่าอาเธอร์เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยเป็นหัวหน้านักรบในยุคบริเตนสมัยหลังโรมัน ซึ่งนำการรบป้องกันการรุกรานของชาวแองโกล-แซกซัน ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 ใน Historia Brittonum มีเนื้อความที่บันทึกด้วยภาษาละตินในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งเป็นลายมือของนักบวชชาวเวลส์ชื่อ Nennius ได้บันทึกรายละเอียดการรบ 12 ครั้งของอาเธอร์เอาไว้ ในจำนวนนี้รวมถึงยุทธการมอนส์บาโดนิคัส หรือการรบที่ภูเขาบาดอน ซึ่งระบุไว้ว่า อาเธอร์ได้ต่อสู้ตามลำพังด้วยมือเปล่า และสังหารศัตรูไปถึง 960 คน อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาวิจัยในยุคหลังได้ตั้งข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือของบันทึก Historia Brittonum ว่าจะถือเป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้หรือไม่

เอกสารอีกชุดหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลว่า อาเธอร์มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ คือบันทึก Annales Cambriae ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งเชื่อมโยงอาเธอร์กับการรบที่ภูเขาบาดอนเช่นเดียวกัน ในบันทึกระบุว่าการรบนี้เกิดขึ้นราว ค.ศ. 516-518 นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการรบที่คัมลานน์ ที่ซึ่งทั้งอาเธอร์และมอร์เดร็ดถูกสังหารในราวปี ค.ศ. 537-539 รายละเอียดเหล่านี้ช่วยสนับสนุนยืนยันต่อเหตุการณ์ใน Historia Brittonum และยืนยันว่าอาเธอร์ได้เข้าร่วมในการรบที่ภูเขาบาดอนจริง อย่างไรก็ดี งานวิจัยในชั้นหลังพบว่า เนื้อหาใน Annales Cambriae เริ่มต้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์ถูกเขียนเพิ่มเติมเข้าไปภายหลัง ไม่ได้อยู่ในตัวบันทึกดั้งเดิม คาดว่าน่าจะเขียนเพิ่มเข้าไปในราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ที่ภูเขาบาดอนนั้นนำมาจาก Historia Brittonum นั่นเอง

เมื่อขาดหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่นเพียงพอ นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังโดยมากจึงไม่นับว่าอาเธอร์เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่มีตัวตนจริง นักประวัติศาสตร์ โทมัส ชาลส์-เอ็ดเวิร์ด กล่าวว่า "ตามหลักฐานเท่าที่มีอยู่ บางคนอาจกล่าวได้ว่ามีอาเธอร์อยู่ในประวัติศาสตร์จริง [แต่...] นักประวัติศาสตร์ไม่อาจรับรองฐานะใด ๆ ให้เขาได้" แนวโน้มในยุคปัจจุบันค่อนข้างไปทางที่ไม่ยอมรับตัวตนของอาเธอร์มากยิ่งขึ้น ขณะที่นักประวัติศาสตร์ยุคก่อนจะข้องใจในตัวอาเธอร์น้อยกว่า นักประวัติศาสตร์ จอห์น มอร์ริส ได้รวมเอาการครองราชย์ที่เป็นที่รู้จักของกษัตริย์อาเธอร์เอาไว้ในหนังสือลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์และบริเตนสมัยหลังโรมันของเขา ชื่อ The Age of Arthur (1973) อย่างไรก็ดีเขาก็มีหลักฐานน้อยเกินกว่าจะยืนยันได้ว่าอาเธอร์มีตัวตนอยู่จริง

จากทฤษฎีข้างต้นทำให้มีอีกแนวคิดหนึ่งที่โต้แย้งว่า อาเธอร์ไม่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง นักโบราณคดี โนเวลล์ เมียเรส วิจารณ์ Age of Arthur ของมอร์ริสว่า "ไม่มีบุคคลใดในกรอบประวัติศาสตร์และตำนานที่จะทำให้นักประวัติศาสตร์เสียเวลามากเท่านี้" งานเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ของนักบุญกิลแดส ชื่อ De Excidio Britanniae (บนความพินาศของบริเตน) ซึ่งเป็นบันทึกการรบที่ภูเขาบาดอนที่ใกล้เคียงเวลาเกิดเหตุการณ์มากที่สุด ได้อธิบายถึงรายละเอียดในการรบครั้งนั้น แต่ไม่ได้เอ่ยถึงอาเธอร์เลย ไม่เคยมีชื่อของอาเธอร์ปรากฏในพงศาวดารแองโกล-แซกซัน หรือในบันทึกใด ๆ ระหว่าง ค.ศ. 400-820 เท่าที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน แหล่งข้อมูลสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ บันทึกของนักบุญบีด ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์การรบที่ภูเขาบาดอนเช่นกัน ก็ไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของอาเธอร์ นักประวัติศาสตร์ เดวิด ดัมวิลล์ เขียนไว้ว่า "ผมเห็นว่าเราสามารถตัดเขา [อาเธอร์] ทิ้งไปได้เลย เขาครอบครองพื้นที่ในหนังสือประวัติศาสตร์ด้วยแนวคิดที่ว่า 'เมื่อมีควันไฟย่อมมีไฟ' ... แต่ข้อเท็จจริงก็คือไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ เกี่ยวกับอาเธอร์เลย เราต้องตัดเขาออกไปจากประวัติศาสตร์ของเรา และที่สำคัญยิ่งกว่า ต้องตัดเขาออกไปจากชื่อหนังสือของเรา"

นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า แต่เดิม อาเธอร์ เป็นวีรบุรุษในที่สร้างขึ้นในนิทานพื้นบ้าน หรืออาจเป็นเทพยดาเคลติกองค์ใดองค์หนึ่งที่ถูกลืมเลือนไป ผู้เคยได้รับการยกย่องด้วยวีรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในอดีตกาลนานมาแล้ว โดยเปรียบเทียบกับเทพอาชาในประวัติศาสตร์อาณาจักรเคนต์ คือ เฮงเกสต์ และ ฮอร์ซา ซึ่งก็เป็นบุคคลที่วิจารณ์ถกเถียงถึงความมีตัวตนเช่นเดียวกัน นักบุญบีดตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับบุคคลในตำนานเหล่านี้ว่าเป็นผู้มีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์การสู้รบกับแองโกล-แซกซัน ในทางตะวันออกของบริเตนในคริสต์ศตวรรษที่ 5 อาเธอร์ในบันทึกเก่าแก่ไม่ใช่กษัตริย์ ทั้งใน Historia หรือ Annales ไม่ได้เรียกเขาว่า "rex" แต่เรียกว่า "dux" หรือ "dux bellorum" ซึ่งหมายถึง "ผู้นำในการรบ"

บันทึกประวัติศาสตร์ในยุคหลังจักรวรรดิโรมันค่อนข้างกระจัดกระจาย ดังนั้นการยืนยันความมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนของอาเธอร์จึงยังไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจน มีสถานที่หลายแห่งที่ถูกระบุว่าเป็นของ "ยุคอาเธอร์" ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่นักโบราณคดีจะยอมรับชื่อเหล่านั้นก็ต่อเมื่อมีรอยจารึกหรือหลักฐานที่ชัดแจ้งเท่านั้น มีก้อนหินที่ได้ชื่อว่า "ศิลาอาเธอร์" (Arthur stone) ค้นพบในปี ค.ศ. 1998 อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของปราสาท Tintagel ในคอร์นวอลล์ ซึ่งมีอายุในคริสต์ศตวรรษที่ 6 อย่างแน่นอน แต่จารึกหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับอาเธอร์ รวมถึงทางข้ามกลาสเตินเบอรี่ ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงขึ้นมา แม้จะมีหลักฐานและบุคคลในประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงตัวตนของอาเธอร์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดจะหนักแน่นเพียงพอที่จะรับรองตัวตนของเขาได้จริง ๆ

ต้นกำเนิดของชื่อ อาเธอร์ ในภาษาเวลส์ ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ บ้างเชื่อว่ามาจากชื่อตระกูลในภาษาละตินว่า Artorius ซึ่งรากศัพท์ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน บ้างก็เสนอว่าน่าจะมาจากคำว่า arth ในภาษาเวลส์ แปลว่า "หมี" โดยมาจากคำว่า art-ur (หรือ *Arto-uiros) หมายถึง "มนุษย์หมี" ทฤษฎีนี้ยังดูยากจะเชื่อได้ การถกเถียงยังครอบคลุมไปถึงชื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ อาเธอร์ (Arthur หรือ Arturus) ในเอกสารเกี่ยวกับอาเธอร์ที่เป็นภาษาละตินดั้งเดิม ไม่เคยปรากฏคำว่า Artorius อยู่เลย ทว่านี่ยังมิใช่เหตุผลที่จะตัดคำว่า Artorius ออกไป เพราะคำนี้เมื่อแปลงไปเป็นภาษาเวลส์ก็จะสะกดว่า Art (h) ur แนวคิดที่เป็นไปได้เสนอโดย จอห์น ค็อก กล่าวว่า แหล่งอ้างอิงภาษาละตินที่หลงเหลืออยู่เกี่ยวกับ อาเธอร์ ในประวัติศาสตร์ (สมมุติว่าเขามีชื่อว่า Artorius และมีตัวตนอยู่จริง ๆ) จะต้องมีอายุหลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่ต่างออกไป เสนอว่า ชื่อ อาเธอร์ น่าจะมาจากคำว่า อาร์คตุรุส (Arcturus) ซึ่งเป็นชื่อดาวฤกษ์สว่างในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ อยู่ใกล้กลุ่มดาวหมีใหญ่ ชื่อนี้มีความหมายว่า "ผู้พิทักษ์หมี" คำว่า อาร์คตุรุส ในภาษาละตินคลาสสิกเมื่อแปลงไปเป็นภาษาเวลส์ ก็สามารถสะกดได้ว่า Art (h) ur เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความสว่างของดวงดาวและตำแหน่งของมันบนฟากฟ้า ในฐานะผู้พิทักษ์กลุ่มดาวหมีใหญ่ ก็น่าจะเชื่อว่านี่คือ "ผู้พิทักษ์หมี" และเป็น "ผู้นำ" ในบรรดาหมู่ดาวในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ด้วย แต่ความหมายที่แท้จริงของรากศัพท์เป็นอย่างไรยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน จึงได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า Artorius น่าจะมีความหมายสื่อถึงตำนานของอาเธอร์ที่เป็นหัวใจหลักทางประวัติศาสตร์มาอย่างช้านาน แต่ผลการศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่าข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่หนักแน่นเพียงพอ ในทางตรงข้าม การผันคำว่า อาเธอร์ จาก อาร์คตุรุส กลับกลายเป็นการบ่งชี้ว่า ชื่ออาเธอร์ไม่ได้มีกำเนิดมาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่ โทบี กริฟเฟน เสนอว่า นั่นน่าจะเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของ อาเธอร์ ในประวัติศาสตร์ เมื่อกล่าวในภาษาละติน

ผู้สร้างตัวละคร อาเธอร์ ในวรรณกรรมซึ่งเราคุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้ คือ เจฟฟรีย์แห่งมอนมัท ในงานเขียนประวัติศาสตร์จำลอง ชื่อ Historia Regum Britanniae (ประวัติกษัตริย์แห่งบริเตน) ซึ่งเขียนขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1130 ข้อมูลและงานเขียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาเธอร์จะแบ่งออกเป็น 2 พวก พวกหนึ่งเขียนขึ้นก่อน Historia ของเจฟฟรีย์ เรียกว่า พรีกัลฟริเดียน (pre-Galfridian; มาจากชื่อภาษาละตินของเจฟฟรีย์คือ Galfridus) ส่วนอีกพวกหนึ่งคืองานที่เขียนขึ้นหลังงานของเจฟฟรีย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากงานของเจฟฟรีย์มาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่า กัลฟริเดียน หรือ โพสต์กัลฟริเดียน (post-Galfridian)

วรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการเอ่ยถึง อาเธอร์ มาจากแหล่งข้อมูลในเวลส์และไบรตัน โดยมักเป็นการเอ่ยถึงอาเธอร์ในวรรณกรรมแบบ พรีกัลฟริเดียน แบบกว้าง ๆ ไม่ได้เอ่ยถึงอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องราวเอกเทศ มีการสำรวจทางวิชาการเมื่อไม่นานมานี้โดย โทมัส กรีน เพื่อแยกแยะรูปแบบการเอ่ยถึงอาเธอร์ในวรรณกรรมเหล่านั้นออกมาได้เป็น 3 รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่งคือ อาเธอร์เป็นนักรบอิสระ ทำหน้าที่ต่อสู้ป้องกันบริเตนจากศัตรูทั้งภายในและภายนอก ศัตรูเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นมนุษย์ เช่นพวกแซกซัน ที่เขาได้สู้รบด้วยดังมีระบุอยู่ใน Historia Brittonum แต่ส่วนมากแล้วศัตรูที่เขาต้องต่อสู้ด้วยจะเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ปีศาจแมวยักษ์ หมูป่าจอมเวทย์ มังกร ปีศาจหัวสุนัข ยักษ์ และแม่มด รูปแบบที่สองคือ อาเธอร์เป็นวีรบุรุษในนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายมหัศจรรย์ของท้องถิ่น เขาเป็นผู้นำของกลุ่มวีรบุรุษผู้มีอำนาจวิเศษที่อาศัยอยู่ในป่า ส่วนรูปแบบที่สามเป็นตำนานเก่าแก่ของเวลส์ อาเธอร์ในตำนานนั้นมีความเกี่ยวข้องกับโลกหลังความตายในความเชื่อของชาวเวลส์ คือ Annwn ทางหนึ่งเขาเข้าโจมตีป้อมปราการในโลกแห่งนั้นเพื่อค้นหาทรัพย์สมบัติและช่วยเหลือเหล่านักโทษ ส่วนอีกทางหนึ่งมาจากวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุด เหล่านักรบของเขา รวมถึงเหล่าเทพเจ้าในลัทธิเพแกนดั้งเดิม ภรรยาของอาเธอร์และอาณาจักรของเขา ล้วนมีกำเนิดมาจากโลกหลังความตายทั้งสิ้น

หนึ่งในงานกวีนิพนธ์เวลส์ที่อ้างอิงถึงอาเธอร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มาจากงานกวีนิพนธ์เกี่ยวกับความตายของวีรบุรุษ ชื่อ Y Gododdin แต่งขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 โดยกวีชื่อ Aneirin โคลงบทหนึ่งกล่าวยกย่องสดุดีนักรบผู้กล้าหาญที่สังหารศัตรูไปถึง 300 คน แม้จะมีหมายเหตุต่อท้ายว่า "เขามิใช่อาเธอร์" แต่ก็กล่าวว่าวีรกรรมของเขาในคราวนี้ยังไม่อาจเทียบกับขวัญกล้าของอาเธอร์ได้เลยY Gododdin เริ่มเป็นที่รู้จักนับจากต้นฉบับงานเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ดังนั้นจึงไม่อาจตรวจสอบได้ว่าข้อความดังกล่าวนี้อยู่ในต้นฉบับดั้งเดิมหรืออยู่ในฉบับคัดลอกเรียบเรียงใหม่ แต่ในความเห็นของ จอห์น ค็อก เห็นว่าข้อความที่ระบุเวลาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ขึ้นไปไม่อาจพิสูจน์ยืนยันได้ มีบทกวีหลายบทของ Taliesin กวีที่เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 เอ่ยอ้างถึงอาเธอร์ไว้เช่นกัน แม้ว่าต้นฉบับบทกวีเหล่านั้นมีอายุอยู่ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-12 ในจำนวนนี้รวมถึง "Kadeir Teyrnon" (เก้าอี้ของเจ้าชาย) ซึ่งกล่าวอ้างถึง "อาเธอร์ผู้ได้รับพร", "Preiddeu Annwn" (ผู้ทำลาย Annwn) ซึ่งช่วยสนับสนุนข้อมูลส่วนที่อาเธอร์มีความเกี่ยวข้องกับโลกหลังความตาย และ "Marwnat vthyr pen[dragon]" (บทอาลัยแห่งยูเทอร์ เพน (ดรากอน)) ซึ่งอ้างถึงความกล้าหาญของอาเธอร์ และกล่าวเป็นนัยถึงความสัมพันธ์พ่อ-ลูกระหว่างอาเธอร์กับยูเทอร์ อันเกิดขึ้นก่อนงานเขียนของเจฟฟรีย์แห่งมอนมัท

งานเขียนของชาวเวลส์ยุคต้นที่กล่าวอ้างถึงอาเธอร์ ยังรวมไปถึงบทกวีบทหนึ่งที่พบในหนังสือปกดำแห่งคาร์มาร์เธน ชื่อ "Pa gur yv y porthaur?" ("บุรุษใดคือผู้พิทักษ์ประตู?") ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างอาเธอร์กับผู้พิทักษ์ประตูป้อมปราการที่เขาต้องการเดินทางเข้าไป อาเธอร์ยังเอ่ยถึงชื่อคนและภารกิจของเขา ผู้ติดตามของเขาที่สำคัญคือ Cei (เคย์) และ Bedwyr (เบดิเวียร์) นิทานร้อยแก้วของเวลส์เรื่องหนึ่งชื่อ Culhwch and Olwen (ราวคริสต์ทศวรรษ 1100) ซึ่งรวมอยู่ในชุดเอกสาร Mabinogion ได้มีเนื้อหาระบุถึงรายชื่อผู้ติดตามของอาเธอร์เป็นจำนวนมากกว่า 200 คน ซึ่งมีชื่อของ Cei และ Bedwyr เป็นบุคคลสำคัญ เรื่องราวโดยรวมเล่าถึงการที่อาเธอร์ได้ช่วยเหลือ Culhwch ญาติของเขาให้ชนะใจ Olwen บุตรีของ Ysbaddaden ซึ่งเป็นหัวหน้าของยักษ์ เขาสามารถกระทำภารกิจอันเป็นไปไม่ได้จนสำเร็จ ในจำนวนนี้รวมถึงการล่าหมูป่าผู้ยิ่งใหญ่ชื่อ Twrch Trwyth บันทึกในคริสต์ศตวรรษที่ 9 Historia Brittonum ก็ได้อ้างถึงนิทานเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ในบันทึกนี้หมูป่ามีชื่อว่า Troy (n) t นอกจากนี้ชื่อของอาเธอร์ยังถูกเอ่ยอ้างถึงอีกหลายต่อหลายครั้งใน Welsh Triads ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นว่าด้วยวัฒนธรรมและตำนานต่าง ๆ ของชาวเวลส์ ทว่าต้นฉบับของ Triads ในยุคหลัง ๆ ส่วนหนึ่งดัดแปลงมาจากงานของเจฟฟรีย์แห่งมอนมัทและจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ของแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ดีในต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมิได้รับอิทธิพลภายนอกอื่นใด และดูเหมือนจะแสดงถึงรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิมของเวลส์จริง ๆ ก็ได้มีปรากฏชื่อของอาเธอร์อยู่แล้ว มีการกล่าวถึง "ตำหนักของอาเธอร์" (Arthur's Court) ในตำนานของบริเตน บางครั้งก็เรียกตำหนักนี้ว่า "เกาะแห่งบริเตน" เช่นในประโยคที่ว่า "Three XXX of the Island of Britain" แม้ใน Historia Brittonum และ Annales Cambriae จะไม่ได้ระบุว่าอาเธอร์เป็นกษัตริย์ แต่ในเวลาที่เขียนเรื่อง Culhwch and Olwen และ Triads อาเธอร์ถูกเรียกขานว่าเป็น "Penteyrnedd yr Ynys hon" หรือ "ผู้นำแห่งลอร์ดทั้งหลายบนเกาะนี้" นั่นคือเป็นเจ้าเหนือหัวของเวลส์ คอร์นวอลล์ และดินแดนทางเหนือ

นอกเหนือไปจากบทกวีและนิทานเวลส์ในยุคพรีกัลฟริเดียนดังกล่าวข้างต้น อาเธอร์ยังปรากฏในเอกสารภาษาละตินที่มีอายุเก่าแก่กว่า Historia Brittonum และ Annales Cambriae อีก มีชื่อของอาเธอร์ปรากฏอยู่หลายแห่งในชีวประวัตินักบุญยุคหลังอาณาจักรโรมัน แต่ในปัจจุบันไม่มีที่ใดรับรองความน่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์ของแหล่งข้อมูลเหล่านั้น (ฉบับเก่าแก่ที่สุดระบุวันที่อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11) จากบันทึกเรื่อง Life of Saint Gildas ที่เขียนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดย คาราด็อค แห่ง ลานคาร์ฟาน ได้ระบุไว้ว่า อาเธอร์เป็นผู้สังหารน้องชายของกิลแดส คือ Hueil และได้ช่วยภรรยาของเขานามว่า Gwenhwyfar จากกลาสเตินเบอรี่ ในบันทึกเรื่อง Life of Saint Cadoc ของ ไลฟริส แห่ง ลานคาร์ฟาน ซึ่งเขียนในราวคริสต์ทศวรรษ 1100 หรือก่อนนั้นเล็กน้อย ระบุว่าท่านนักบุญได้ให้ความคุ้มครองแก่บุรุษผู้หนึ่งซึ่งสังหารทหารของอาเธอร์ไป 3 คน และอาเธอร์เรียกร้องวัวฝูงหนึ่งเป็นการทดแทน นักบุญคาดอคยินดีส่งฝูงวัวตามคำขอ แต่เมื่ออาเธอร์ได้รับสัตว์เหล่านั้น ปรากฏว่ามันกลายเป็นผักกำหนึ่ง เรื่องราวคล้ายคลึงกันนี้ยังปรากฏในบันทึกชีวประวัติของ Carannog, Padarn และ Eufflam ซึ่งคาดว่าเขียนขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 มีตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์ที่ไม่ชัดเจนนักปรากฏอยู่ใน Legenda Sancti Goeznovii ซึ่งอ้างว่าเขียนขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทั้ง ๆ ที่ต้นฉบับเท่าที่พบเก่าที่สุดมีอายุในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 เท่านั้น ยังมีการอ้างอิงถึงอาเธอร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง อยู่ใน De Gestis Regum Anglorum ของวิลเลียม มาล์มส์เบอรี่ และ De Miraculis Sanctae Mariae Laudensis ของเฮอร์มันน์ ทั้งสองเรื่องให้ข้อมูลหลักฐานแรกเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า อาเธอร์ยังไม่ตาย และจะหวนกลับมาในวันใดวันหนึ่ง โครงเรื่องนี้ปรากฏซ้ำอีกหลายครั้งในนิทานพื้นบ้านยุคโพสต์กัลฟริเดียน

งานเขียนเชิงพรรณนาว่าด้วยชีวิตของอาเธอร์ฉบับแรกเท่าที่ค้นพบ คืองานเขียนภาษาละตินเรื่อง Historia Regum Britanniae (ประวัติกษัตริย์แห่งบริเตน) ของเจฟฟรีย์แห่งมอนมัท ซึ่งเขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1138 เป็นงานเขียนบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกษัตริย์แห่งบริเตนที่เต็มไปด้วยจินตนาการและเรื่องเหนือจริง นับแต่ตำนานของบรูตัสชาวเมืองทรอยผู้ลี้ภัย มาจนถึง Cadwallader กษัตริย์เวลส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เจฟฟรีย์บันทึกยุคของอาเธอร์อยู่ในยุคหลังโรมันเช่นเดียวกันกับ Historia Brittonum และ Annales Cambriae เขายังเขียนถึงบิดาของอาเธอร์ คือ ยูเทอร์ เพนแดรกอน กับที่ปรึกษาผู้วิเศษของเขาคือ เมอร์ลิน เขาเขียนเล่าถึงกำเนิดของอาเธอร์ว่า ยูเทอร์ปลอมตัวเข้าไปในทัพของกอร์ลัวส์ฝ่ายศัตรูด้วยมนตร์วิเศษของเมอร์ลิน แล้วลักลอบได้เสียกับนางอิเกอร์นา ภริยาของกอร์ลัวส์ ที่ทินแทเจล เมื่อยูเทอร์เสียชีวิต อาเธอร์ผู้บุตรเวลานั้นอายุ 15 ปี ได้สืบต่อตำแหน่งกษัตริย์แห่งบริเตนและได้เข้าร่วมในการศึกหลายครั้งหลายครา คล้ายคลึงกับที่ปรากฏใน Historia Brittonum เขาทำศึกชนะพวกพิกต์และพวกสก๊อต จากนั้นได้ก่อตั้งอาณาจักรอาเธอร์ขึ้นหลังจากเอาชนะไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และหมู่เกาะออร์คนีย์ หลังจากสิบสองปีอันสันติผ่านพ้นไป อาเธอร์เริ่มต้นการแผ่ขยายอาณาจักรอีกครั้ง โดยเข้ายึดครองนอร์เวย์ เดนมาร์ก และกอล ในเวลาที่เขาพิชิตกอล ดินแดนนั้นยังอยู่ในอารักขาของอาณาจักรโรมัน การรุกรานของเขาคราวนั้นจึงนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างอาณาจักรของเขากับอาณาจักรโรมัน อาเธอร์กับเหล่านักรบของเรา ซึ่งรวมถึง Kaius (เคย์) , Beduerus (เบดิเวียร์) และ Gualguanus (กาเวน) สามารถเอาชนะจักรพรรดิโรมัน ลูเชียส ทิเบเรียส ได้ที่กอล แต่เมื่อเขาเตรียมจะกรีธาทัพต่อไปยังโรม อาเธอร์ก็ได้ข่าวว่า Modredus (มอร์เดร็ด) หลานชายของเขาผู้ที่อาเธอร์ละไว้ให้ดูแลอารักขาบริเตน ได้แต่งงานกับภรรยาของอาเธอร์ คือ Guenhuuara (กวินิเวียร์) และยึดบัลลังก์มาเป็นของตน อาเธอร์จึงหวนกลับบริเตนและสังหารมอร์เดร็ดที่ริมฝั่งแม่น้ำแคมแบลมในคอร์นวอลล์ แต่ตัวอาเธอร์เองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสมาก เขามอบตำแหน่งต่อให้กับญาติของเขาชื่อ คอนสแตนติน แล้วจึงเดินทางจากไปยังดินแดนแอวาลอนเพื่อรักษาบาดแผลของตน หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเขาอีกเลย

ประเด็นที่ว่า งานเขียนชิ้นนี้เป็นผลงานประพันธ์ที่เจฟฟรีย์คิดขึ้นใหม่สักเท่าใด ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันทั่วไป ส่วนที่ค่อนข้างชัดเจนคือ เจฟฟรีย์น่าจะนำการศึกต่อต้านการรุกรานของพวกแซกซัน 12 ครั้งของอาเธอร์มาจาก Historia Brittonum การรบที่คัมลานน์น่าจะมาจาก Annales Cambriae รวมถึงแนวคิดที่ว่าอาเธอร์ยังคงมีชีวิตอยู่ สถานะของตัวอาเธอร์ในฐานะกษัตริย์แห่งบริเตนทั้งมวลก็น่าจะยืมมาจากวรรณกรรมพรีกัลฟริเดียน ดังเช่นที่พบใน Culhwch and Olwen, Triads และ Saints' Lives เจฟฟรีย์ยังนำชื่อของสิ่งของและบุคคลใกล้ชิดของอาเธอร์หลายชื่อมาจากวรรณกรรมพรีกัลฟริเดียนด้วย เช่น เคย์, เบดิเวียร์, กวินิเวียร์ และยูเทอร์ เป็นต้น รวมถึงชื่อของ Caliburnus (Caledfwlch) ซึ่งในวรรณกรรมยุคหลังเรียกกันว่า ดาบเอกซ์แคลิเบอร์ อย่างไรก็ดี แม้เขาจะยืมเอาชื่อต่าง ๆ เหตุการณ์สำคัญ ๆ รวมถึงตำแหน่งของอาเธอร์มาจากวรรณกรรมเก่า แต่ บรินลีย์ โรเบิร์ต แย้งว่า "เรื่องราวเกี่ยวกับอาเธอร์ในงานสร้างสรรค์ของเจฟฟรีย์ไม่ได้นำมาจากเรื่องเล่าอื่นใดก่อนหน้านั้นเลย" ตัวอย่างเช่น ชื่อ Medraut ในตำนานเวลส์ ได้กลายมาเป็นทรราช Modredus ในตำนานของเจฟฟรีย์ แต่ก่อนหน้านั้นไม่เคยปรากฏต้นตอใดเกี่ยวกับตัวละครชั่วร้ายนี้ในตำนานเวลส์จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในยุคหลังมีความพยายามที่จะสืบเสาะเพื่อพิสูจน์ว่า Historia Regum Britanniae เป็นงานต้นฉบับที่สร้างโดยเจฟฟรีย์เองอย่างแท้จริง ความเห็นเชิงวิชาการส่วนใหญ่ตอบรับต่อแนวคิดของวิลเลียมแห่งนิวเบอร์ก ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 เขากล่าวว่า เจฟฟรีย์ "แต่ง" เรื่องราวทั้งหมดขึ้นมาเอง อันเนื่องมาจาก "นิสัยชอบโป้ปดอย่างร้ายกาจ" แต่ เจฟฟรีย์ แอช ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เขาเชื่อว่างานเขียนของเจฟฟรีย์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแหล่งข้อมูลอื่นที่สูญหายไป ซึ่งเล่าเรื่องราววีรกรรมของกษัตริย์อังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 นาม ริโอทามุส (Riotamus) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาเธอร์ แต่นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการเคลติกยังไม่มั่นใจที่จะเชื่อถือตามข้อสรุปของแอช

แต่ไม่ว่าเขาจะมีแหล่งข้อมูลมาจากที่ใด ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Historia Regum Britanniae ของเจฟฟรีย์ส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมยุคหลังเป็นอย่างมาก มีงานเขียนฉบับคัดลอกจากต้นฉบับภาษาละตินของเจฟฟรีย์หลงเหลือมาถึงปัจจุบันมากกว่า 200 ฉบับ ทั้งนี้ยังไม่รวมฉบับที่แปลออกไปเป็นภาษาอื่น ๆ อีก เช่นมีต้นฉบับของ Historia ในภาษาเวลส์มากกว่า 60 ฉบับ ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดพบว่าเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ผลจากความนิยมอย่างสูงนี้ Historia Regum Britanniae ของเจฟฟรีย์จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อวิวัฒนาการของตำนานอาเธอร์ในยุคกลางตอนปลาย ซึ่งไม่เพียงจะเป็นแรงผลักดันในจินตนาการเกี่ยวกับวีรกรรมของอาเธอร์เท่านั้น แต่ทุกเสี้ยวส่วนในตำนานล้วนถูกหยิบยืมไปพัฒนาแตกหน่อขยายเรื่องราวออกไป (ตัวอย่างเช่น เรื่องของพ่อมดเมอร์ลิน และชะตากรรมสุดท้ายของอาเธอร์) และได้สร้างกรอบทางประวัติศาสตร์ขึ้นให้กับเหล่าผู้นิยมนิทานโรแมนซ์ เรื่องราวของเวทมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนการผจญภัยอันน่ามหัศจรรย์

ผลจากความนิยมใน Historia ของเจฟฟรีย์ และงานดัดแปลงอื่น ๆ (เช่น Roman de Brut ของเวส) เป็นปัจจัยสำคัญต่อปรากฏการณ์งานประพันธ์เกี่ยวกับอาเธอร์จำนวนมากที่เกิดขึ้นในยุโรป ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศส แม้ว่าในการกำเนิดเรื่องราว "ตำนานแห่งบริเตน" จะมีที่มาจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากตำนานกษัตริย์อาเธอร์ก็ตาม ชื่อของอาเธอร์และเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเธอร์ได้ปรากฏอยู่บนแผ่นดินใหญ่มานานแล้วก่อนที่งานของเจฟฟรีย์จะเป็นที่แพร่หลาย เช่นกันกับการใช้ชื่อและเรื่องราวอื่น ๆ ในวัฒนธรรมเคลติกซึ่งไม่มีอยู่ใน Historia ของเจฟฟรีย์ บางทีสิ่งสำคัญที่สุดที่ส่งอิทธิพลต่อความนิยมในเรื่องราวของอาเธอร์อย่างมากก็คือบทบาทในการเป็นกษัตริย์ของอาเธอร์จากมุมมองของเขานั่นเอง วรรณกรรมเกี่ยวกับอาเธอร์ทั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และหลังจากนั้นมุ่งความสนใจไปที่ตัวละครอื่น ๆ มากกว่า เช่น เรื่องของลานซล็อตกับกวินิเวียร์ เพอร์ซิวาล กาลาฮัด กาเวน และทรัสทันกับไอโซลดี ขณะที่วรรณกรรมแบบพรีกัลฟริเดียนและงานเขียนของเจฟฟรีย์มุ่งความสำคัญอยู่ที่ตัวอาเธอร์ แต่วรรณกรรมโรแมนซ์ในยุคหลัง อาเธอร์กลับหลุดออกไปอย่างรวดเร็ว บทบาทของตัวละครอาเธอร์เองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ในวรรณกรรมดั้งเดิมรวมถึงงานของเจฟฟรีย์ อาเธอร์เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่และเก่งฉกาจ ผู้หัวเราะลั่นยามสังหารแม่มดและยักษ์ และเป็นผู้นำในปฏิบัติการทางทหารทุกครั้ง ขณะที่ในวรรณกรรมโรแมนซ์บนแผ่นดินใหญ่ เขากลับกลายเป็น roi fain?ant หรือ "กษัตริย์ผู้ไม่ต้องทำอะไรเลย" ผู้ซึ่ง "ถือว่าการอยู่นิ่งเฉยเป็นหัวใจสำคัญของสังคมในอุดมคติ" บทบาทของอาเธอร์ในวรรณกรรมเหล่านี้มักจะเป็นผู้ทรงปัญญา สง่าผึ่งผาย ใจเย็น และสุภาพ บางครั้งยังดูเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอไปเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น เขาจึงเศร้าซึมและไม่พูดจาอะไรเลยเมื่อได้รู้ว่า ลานซล็อตลอบรักกันกับกวินิเวียร์ ขณะที่ในเรื่อง Yvain, the Knight of the Lion ของ เครเตียง เดอ ทรัว อาเธอร์ไม่สามารถฝืนลืมตาอยู่ได้หลังจากงานเลี้ยงฉลองจนต้องขอตัวแอบหลบไปงีบ อย่างไรก็ดี นอร์ริส เจ. เลซี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เขาจะทำความผิดพลาดและดูอ่อนแอเพียงใดในวรรณกรรมยุคหลัง แต่ "เกียรติศักดิ์ของเขาไม่เคยด้อยลงจากบุคลิกอันอ่อนแอเลย ... ทั้งอำนาจและศักดิ์ศรีของเขายังดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์"

อาเธอร์ และข้าราชบริพารของเขายังปรากฏอยู่ในงานเขียนบางส่วนใน Lais ของ มารี เดอ ฟรังซ์ แต่งานที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคือกวีนิพนธ์ของกวีชาวฝรั่งเศส เครเตียง เดอ ทรัว (Chr?tien de Troyes) ซึ่งส่งผลให้ตัวละคร "อาเธอร์" และตำนานของพระองค์วิวัฒนาการไปอย่างมาก เครเตียงเขียนวรรณกรรมโรแมนซ์เกี่ยวกับตำนานอาเธอร์ 5 เรื่องระหว่างปี ค.ศ. 1170 ถึง 1190 Erec and Enide และ Clig?s เป็นนิทานเกี่ยวกับความรักในวังหลวงโดยมีราชสำนักของอาเธอร์เป็นฉากหลังของเรื่อง แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากเรื่องราวเชิงวีรบุรุษของเวลส์และวรรณกรรมแบบกัลฟริเดียน ขณะที่ Yvain, the Knight of the Lion เป็นเรื่องของ ยไวน์ กับ กาเวน ในการผจญภัยเหนือจินตนาการ ส่วนอาเธอร์เป็นแค่ตัวประกอบ ทว่าการพัฒนาการของตำนานอาเธอร์ส่วนที่มีนัยสำคัญมากที่สุดคือเรื่อง Lancelot, the Knight of the Cart ที่เป็นนิยายแนะนำตัวลานเซลอตและเบิกเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเขากับกวินิเวียร์ ราชินีของอาเธอร์ เป็นการขยายแต่งเติมเพิ่มประเด็นความรักที่ผิดหวังของอาเธอร์ Perceval, the Story of the Grail เป็นตัวนำเรื่องของจอกศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์ตกปลา (Fisher King) ให้โด่งดัง และเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ คือบทบาทของอาเธอร์ถูกตัดทอนลงเหลือเพียงน้อยนิด เครเตียงได้ทำให้ "แต่งแต้มตำนานของอาเธอร์ให้มีชีวิตชีวา และสร้างความสับสนให้กับตำนานมากยิ่งขึ้น" เรื่องราวโดยมากที่เกิดขึ้นหลังจากยุคของเขาได้สร้างภาพพจน์ของอาเธอร์ขึ้นจากพื้นฐานที่เขาสร้างเอาไว้ เรื่องของเพอร์ซิวาลที่แม้จะยังไม่จบ ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการประพันธ์บทกวีเกี่ยวกับเขาอย่างต่อเนื่องไปกว่าครึ่งศตวรรษ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับจอกศักดิ์สิทธิ์และภารกิจการค้นหา ซึ่งต่อมานักเขียนคนอื่น ๆ ก็นำไปประพันธ์ต่อเติมอีก เช่น โรเบิร์ต เดอ โบรอน นับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ลดบทบาทของอาเธอร์ลงไปในวรรณกรรมโรแมนซ์บนแผ่นดินใหญ่ ในทำนองเดียวกัน เรื่องของลานเซลอตกับการที่เขาหักหลังอาเธอร์ก็กลายเป็นหนึ่งในโครงเรื่องคลาสสิกเกี่ยวกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์ แม้ว่าบทบาทของลานเซลอตในงานเขียนยุคต่อมา เช่น Lancelot (ค.ศ. 1225) จะประสมประสานกันระหว่างลานเซลอตในงานของเครเตียง กับ Lanzelet ของ Ulrich von Zatzikhoven ก็ตาม ผลงานของเครเตียงยังส่งอิทธิพลกลับไปยังวรรณกรรมเกี่ยวกับอาเธอร์ในเวลส์ด้วย เมื่อบทบาทเชิงโรแมนซ์ของอาเธอร์เริ่มเข้ามาแทนที่วีรบุรุษอันห้าวหาญในขนบดั้งเดิมของวรรณกรรมเวลส์ ผลงานอันโดดเด่นที่สะท้อนถึงวิวัฒนาการนี้ คือนิยายโรแมนซ์ของเวลส์ 3 เรื่องที่มีความคล้ายคลึงกับตำนานของเครเตียงมาก เพียงแตกต่างในรายละเอียดเล็กน้อย ได้แก่ Owain, or the Lady of the Fountain คล้ายกับเรื่องของ ยไวน์ ในงานของเครเตียง, Geraint and Enid คล้ายคลึงกับ Erec and Enide, และ Peredur son of Efrawg คล้ายคลึงกับเรื่องของเพอร์ซิวาล

ตราบถึงคริสต์ทศวรรษ 1210 การเล่าเรื่องราวตำนานกษัตริย์อาเธอร์บนภาคพื้นทวีปยุโรปจะดำเนินผ่านบทกวี หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการเล่าเป็นนิทานแบบร้อยแก้ว ตัวอย่างงานร้อยแก้วที่สำคัญที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 13 คือ Vulgate Cycle (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Lancelot-Grail Cycle) เป็นงานร้อยแก้วภาษาฝรั่งเศสยุคกลาง 5 เรื่องต่อเนื่องกัน เขียนขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษนั้น งานเขียนทั้ง 5 เรื่องได้แก่ Estoire del Saint Grail, Estoire de Merlin, Lancelot propre, Queste del Saint Graal และ Mort Artu เมื่อรวมกันเข้าจะได้เป็นเรื่องเล่าเกือบครึ่งหนึ่งของตำนานกษัตริย์อาเธอร์ทั้งหมด ตำนานเหล่านี้ทำให้แนวโน้มบทบาทของอาเธอร์ในตำนานของตัวเองลดน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งจากการเพิ่มบทบาทของกาลาฮัด และบทบาทที่เสริมเติมแต่งไปอย่างมากของเมอร์ลิน ทั้งยังสร้างให้มอร์เดร็ดกลายเป็นลูกนอกสมรสของอาเธอร์กับน้องสาวของตัวเอง บทบาทของคาเมล็อตก็เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในเรื่อง Lancelot ของเครเตียง ในฐานะราชสำนักดั้งเดิมของอาเธอร์ เรื่องราวเหล่านี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องใน Post-Vulgate Cycle (ค.ศ. 1230–40) โดยมีเรื่อง Suite du Merlin เป็นเรื่องเอก ลดบทบาทความสำคัญของเรื่องราวระหว่างลานเซลอตกับกวินิเวียร์ลง หันไปเอาใจใส่กับภารกิจการค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น แต่บทบาทของอาเธอร์ก็ยังน้อยนิดเหมือนเดิม อาเธอร์ยังคงเป็นตัวละครประกอบในนิยายโรแมนซ์ของฝรั่งเศส สำหรับในชุดตำนาน Vulgate นั้น เขาได้ปรากฏตัวเพียงในตอน Estoire de Merlin และ Mort Artu เท่านั้น

การพัฒนาของวรรณกรรมอาเธอร์ในยุคกลางตลอดจนบุคลิกของตัวละครอาเธอร์ในแบบโรแมนซ์ นำไปสู่ผลงาน Le Morte d'Arthur ของโทมัส มาโลรี ที่นำเรื่องเล่าตำนานทั้งหมดมาเล่าใหม่เป็นเรื่องเดียวกันในฉบับภาษาอังกฤษ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 งานเขียนของมาโลรีเรื่องนี้เดิมใช้ชื่อว่า The Whole Book of King Arthur and of His Noble Knights of the Round Table โดยอ้างอิงเนื้อหาจากวรรณกรรมโรแมนซ์เรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Vulgate Cycle ถือเป็นผลงานที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับอาเธอร์เอาไว้ได้อย่างครบถ้วนที่สุด ด้วยเหตุนี้ และด้วยเหตุที่ Le Morte D'Arthur เป็นวรรณกรรมฉบับพิมพ์เล่มแรก ๆ ในอังกฤษ (ตีพิมพ์โดย วิลเลียม แคกซ์ตัน ในปี ค.ศ. 1485) จึงทำให้งานเขียนอื่น ๆ เกี่ยวกับอาเธอร์ในยุคหลัง ล้วนพัฒนาต่อมาจากผลงานของมาโลรีทั้งสิ้น

การสิ้นสุดลงของยุคกลาง ทำให้ความสนใจในตำนานกษัตริย์อาเธอร์เสื่อมถอยลงไปด้วย แม้งานแปลฉบับภาษาอังกฤษของ มาโลรี จากนิยายโรแมนซ์ฝรั่งเศสอันยิ่งใหญ่จะยังเป็นที่นิยม แต่ก็ได้กระพือการโจมตีเรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในนิยายอาเธอร์ทั้งหลาย นับตั้งแต่ยุคของเจฟฟรีย์แห่งมอนมัทเป็นต้นมา เพื่อค้นหาความถูกต้องของตำนานแห่งบริเตน ด้วยเหตุนี้ การที่นักมานุษยวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 โพลีโดเร เวอร์จิล ปฏิเสธอาเธอร์ในฐานะกษัตริย์ผู้ปกครองคนหนึ่งในยุคหลังอาณาจักรโรมัน จึงโด่งดังมาก แนวคิดนี้พบได้ทั่วไปในวรรณกรรมแบบโพสต์-กัลฟรีเดียน ช่วงกลาง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเป็นผลสืบเนื่องจากการสิ้นสุดของยุคกลาง รวมถึงการเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ล้วนช่วยกันลบอาเธอร์กับตำนานของเขาออกจากความคิดจิตใจอันตราตรึงของเหล่าผู้ฟัง เห็นได้จากในปี 1634 งานพิมพ์ Le Morte d'Arthur ครั้งสุดท้ายของมาโลรีก็ยังตกค้างอยู่เป็นเวลาเกือบ 200 ปี กษัตริย์อาเธอร์กับตำนานของพระองค์ไม่ได้ถูกทอดทิ้งไปเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจอย่างจริงจังตราบจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมากแล้วจะถูกใช้เป็นเครื่องอุปมาอุปไมยสำหรับกิจการเมืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 เช่นในงานมหากาพย์ Prince Arthur (1695) และ King Arthur (1697) ของ ริชาร์ด แบล็กมอร์ ก็ใช้อาเธอร์เป็นตัวแทนในการต่อสู้ของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ต่อต้านกับพระเจ้าเจมส์ที่ 2 วรรณกรรมเกี่ยวกับอาเธอร์ที่นิยมมากที่สุดในช่วงยุคนี้เห็นจะได้แก่ผลงานของ ทอม ทัมบ์ ซึ่งในตอนแรกเผยแพร่ทางหนังสือสวดมนต์ และต่อมาก็นำไปแสดงเป็นละครเวทีโดย เฮนรี ฟิลดิ้ง แม้ว่าการแสดงจะบอกว่าเกิดขึ้นในเกาะบริเตนของอาเธอร์ แต่เนื้อหากลับสื่อไปในทางขำขัน และอาเธอร์ก็ได้เปลี่ยนโฉมเป็นละครตลกแทนที่แนวโรแมนซ์

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 แนวคิดแบบ medievalism ศิลปะจินตนิยม และ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค ได้หวนกลับมาให้ความสำคัญกับอาเธอร์และวรรณกรรมโรแมนซ์ยุคกลางอีกครั้ง ความมีคุณธรรมของสุภาพบุรุษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีพื้นฐานแบบอุดมคติอยู่กับบุคลิกของอาเธอร์ในแบบโรแมนซ์ สามารถสังเกตความนิยมอีกครั้งนี้จากการตีพิมพ์เรื่อง Le Morte d'Arthur ของมาโลรีซ้ำอีกครั้งเป็นครั้งแรกหลังจากปี 1634 ตำนานอาเธอร์ในยุคกลางแบบดั้งเดิมมักจะเป็นที่สนใจของกวี และเป็นแรงบันดาลใจให้ประพันธ์ผลงานต่าง ๆ เช่น วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ เขียนเรื่อง "The Egyptian Maid" ในปี ค.ศ. 1835 ในทำนองเปรียบเปรยกับจอกศักดิ์สิทธิ์ ผลงานที่โดดเด่นในยุคนี้เป็นของอัลเฟรด ลอร์ด เทนนีสัน ผู้ประพันธ์บทกวี "The Lady of Shalott" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1832 แม้ว่าอาเธอร์จะยังคงได้รับบทเพียงตัวประกอบเช่นเดียวกับในวรรณกรรมโรแมนซ์ยุคกลาง แต่งานเขียนเกี่ยวกับตำนานอาเธอร์ของเทนนีสันได้สร้างความนิยมสูงสุดจากผลงานเรื่อง Idylls of the King ซึ่งนำเรื่องราวชีวิตของอาเธอร์มาบรรยายเสียใหม่ตามขนบของยุควิกตอเรีย ผลงานนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859 และจำหน่ายได้ 10,000 ชุดภายในสัปดาห์แรก ในเรื่องนี้ อาเธอร์กลายเป็นสัญลักษณ์ของบุรุษในอุดมคติ ผู้พยายามสร้างอาณาจักรอันสมบูรณ์ผาสุกท่ามกลางโลกที่ล่มสลายด้วยน้ำมือมนุษย์ผู้อ่อนแอ งานของเทนนีสันสร้างแรงบันดาลใจต่อนักประพันธ์จำนวนมาก ทำให้สาธารณชนหันมาให้ความสำคัญกับตำนานอาเธอร์และตัวกษัตริย์อาเธอร์อีกครั้ง รวมถึงพาให้ผลงานของมาโลรีกลับมาสู่ความนิยมของผู้อ่าน มีงานเขียนยุคใหม่ที่พัฒนาจากนิทานอาเธอร์ของมาโลรีตีพิมพ์ออกมาหลังจาก Idylls ไม่นานนัก (ค.ศ. 1862) หลังจากนั้นปรับปรุงอีกกว่า 6 ครั้งและมีผู้ประพันธ์เรื่องอื่น ๆ อีก 5 เรื่องก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษ

ความสนใจใน "อาเธอร์แบบโรแมนซ์" และภารกิจต่าง ๆ ของเขาดำเนินต่อเนื่องไปตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนล่วงเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ส่งอิทธิพลต่อกวีมากมายหลายคน เช่น วิลเลียม มอร์ริส และศิลปินยุคพรีราฟาเอลไลท์มากมาย รวมไปถึง เอ็ดเวิร์ด เบิร์น-โจนส์ แม้แต่นิทานตลกขำขันของ ทอม ทัมบ์ ซึ่งนำตำนานอาเธอร์มาดัดแปลงเป็นเรื่องแรก ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็ถูกนำมาเขียนขึ้นใหม่หลังจาก Idylls ตีพิมพ์เผยแพร่ แม้ว่าทอมจะคงระดับของเรื่องและยืนหยัดความขบขันเอาไว้ แต่เรื่องใหม่ของเขาก็มีองค์ประกอบของความเป็นอาเธอร์ในวรรณกรรมโรแมนซ์ยุคกลางมากยิ่งขึ้น อาเธอร์ดูจริงจังมากขึ้นและมีตัวมีตนมากขึ้นในฉบับเรียบเรียงใหม่ ตำนานอาเธอร์แบบโรแมนซ์ยังส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมในสหรัฐอเมริกาด้วย จากผลงานหนังสือหลายเรื่อง เช่น The Boy's King Arthur ของ Sidney Lanier ในปี ค.ศ. 1880 ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางและส่งแรงบันดาลใจต่องานเขียนล้อเลียนเรื่อง A Connecticut Yankee in King Arthur's Court ของ มาร์ค ทเวน (ค.ศ. 1889) แม้ว่า "อาเธอร์แบบโรแมนซ์" จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของวรรณกรรมอาเธอร์ยุคใหม่ (เช่นที่ปรากฏใน The Last Sleep of Arthur in Avalon ของ เบิร์น-โจนส์) แต่บ่อยครั้งที่เขากลับไปสู่สถานะเดียวกับอาเธอร์ในยุคกลาง คืออยู่เพียงขอบข้างของเนื้อเรื่องหรือบางครั้งก็หายตัวไปเลย ตัวอย่างเช่นในละครโอเปร่าเกี่ยวกับตำนานอาเธอร์ของ วากเนอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูความสนใจในตำนานอาเธอร์มิได้ดำเนินต่อเนื่องไปโดยตลอด เมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่องราวของอาเธอร์ก็ตกไปอยู่ในรูปเลียนแบบของพวกพรีราฟาเอลไลท์ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เกียรติยศศักดิ์ศรีของการต่อสู้ประลองของวีรบุรุษแบบยุคกลางก็ค่อย ๆ เลือนหายไป ภาพของอาเธอร์ในฐานะนักรบผู้ทรงเกียรติศักดิ์ก็เลือนหายไปด้วย ทว่าขนบแบบโรแมนซ์ยังคงมีพลังเพียงพอจะส่งอิทธิพลต่อ โทมัส ฮาร์ดี ลอเรนซ์ บินยอน และ จอห์น เมสฟิลด์ ในการประพันธ์ละครเพลงเกี่ยวกับอาเธอร์ที. เอส. อีเลียต ยังได้กล่าวถึงบางส่วนของตำนานอาเธอร์ (ไม่ใช่ตัวอาเธอร์) ในกวีนิพนธ์ของเขาเรื่อง The Waste Land โดยได้อ้างถึงกษัตริย์ตกปลา (Fisher King)

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของอาเธอร์ในขนบแบบโรแมนซ์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏในนวนิยายหลายเรื่อง เช่น The Once and Future King ของ ที. เอช. ไวท์ (ค.ศ. 1958) The Mists of Avalon ของ มาเรียน ซิมเมอร์ แบรดลีย์ (ค.ศ. 1982) รวมถึงในการ์ตูนสั้นเรื่อง Prince Valiant (ตั้งแต่ ค.ศ. 1937 เป็นต้นมา) เทนนีสันได้เรียบเรียงนิยายโรแมนซ์เกี่ยวกับอาเธอร์ของเขาเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย งานเขียนหลาย ๆ เรื่องก็ได้ดัดแปลงเนื้อหาให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วย เช่นในนิทานของแบรดลีย์ มีบทบาทของฝ่ายสตรีในตำนานอาเธอร์มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับงานเขียนเกี่ยวกับตำนานอาเธอร์ในยุคกลาง อาเธอร์แบบโรแมนซ์ยังกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในโลกภาพยนตร์ ละครเพลงเรื่อง Camelot ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับความรักระหว่างลานเซลอตกับกวินิเวียร์ ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1967 ขนบแบบโรแมนซ์ของตำนานอาเธอร์กลายเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยผลงานของโรเบิร์ต เบรสสัน เรื่อง Lancelot du Lac (ค.ศ. 1974) งานของอีริค โรห์เมอร์ เรื่อง Perceval le Gallois (ค.ศ. 1978) รวมไปถึงผลงานภาพยนตร์แฟนตาซีของจอห์น บัวร์แมน เรื่อง Excalibur (ค.ศ. 1981)

ตำนานกษัตริย์อาเธอร์ในยุคใหม่นำเรื่องราวในขนบแบบโรแมนซ์มาจินตนาการใหม่ ตีความใหม่ และเล่าใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น ภาพของอาเธอร์ยังได้หวนกลับไปเป็นวีรบุรุษที่แท้จริงแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 5 นอกเหนือไปจากภาพพจน์แบบโรแมนซ์อีกด้วย จากข้อสังเกตของเทย์เลอร์และบริวเวอร์ วรรณกรรมในยุคใหม่ได้หวนกลับไปยังขนบในยุคกลางของเจฟฟรีย์แห่งมอนมัท และ Historia Brittonum รูปแบบเช่นนี้เริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในวรรณกรรมอาเธอร์ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของอาเธอร์ในการเป็นผู้นำในการต่อต้านการรุกรานของชาวเยอรมันเพื่อปกป้องเกาะบริเตน ปี ค.ศ. 1942 ละครวิทยุเรื่อง The Saviours ของเคลเมนซ์ เดน ได้ใช้ภาพของอาเธอร์ในประวัติศาสตร์เพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งความรักชาติและต่อต้านศัตรูผู้รุกราน บทละครเรื่อง The Long Sunset ของโรเบิร์ต เชอริฟฟ์ ในปี ค.ศ. 1955 วาดภาพอาเธอร์เป็นผู้นำยุคบริเตนสมัยหลังโรมัน ที่ต่อต้านการรุกรานของชาวเยอรมัน แนวโน้มเหล่านี้ทำให้อาเธอร์มีบทบาทและตัวตนในทางประวัติศาสตร์มากขึ้น รูปแบบของวรรณกรรมในยุคนี้จะเป็นแบบกึ่งประวัติศาสตร์กึ่งแฟนตาซี นอกจากนี้ ภาพของกษัตริย์อาเธอร์ในฐานะนักรบและวีรบุรุษแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 5 ยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง เรื่องที่โด่งดังได้แก่ King Arthur (ค.ศ. 2004) และ The Last Legion (ค.ศ. 2007)

กษัตริย์อาเธอร์ ยังได้กลายเป็นต้นแบบของคุณธรรมในโลกยุคใหม่ ในราวคริสต์ทศวรรษ 1930 มีการก่อตั้งภาคีอัศวินโต๊ะกลมขึ้นในประเทศอังกฤษ เพื่อเชิดชูวีรบุรุษชาวคริสเตียนและเกียรติยศอันโดดเด่นของกษัตริย์อาเธอร์ ในสหรัฐอเมริกา เด็กชายหญิงหลายแสนคนได้เข้าร่วมในกลุ่มยุวชนอาเธอร์ซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย เช่น กลุ่มอัศวินแห่งอาเธอร์ (Knights of King Arthur) ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์และยกย่องอาเธอร์กับตำนานของพระองค์ให้เป็นแบบอย่างอันดีงาม อย่างไรก็ดี แม้อาเธอร์จะโดดเด่นอย่างมากในวัฒนธรรมยุคใหม่ แต่เขาก็ค่อย ๆ กลืนหายเข้าไปกับวัฒนธรรมร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ชื่อของเขากลายไปเป็นชื่อสิ่งของ อาคาร และสถานที่ต่าง ๆ นอร์ริส เจ. เลซี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ความนิยมอย่างโดดเด่นของอาเธอร์ดูจะมีข้อจำกัดอยู่ ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ เขากลายไปเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะและการตั้งชื่อ แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บุรุษในตำนานเมื่อหลายศตวรรษมาแล้วได้ผสานกลมกลืนเข้าไปในวัฒนธรรมยุคใหม่ในทุกระดับแล้ว"


 

 

รับจำนำรถยนต์ รับจำนำรถจอด

เป็นต่อ ขั้นเทพ เป็นข่าว ซีรีส์ คณะนิเทศศาสตร์ ซิทคอม ยีนเด่น (ละครโทรทัศน์) เฮง เฮง เฮง เป็นต่อ นักเขียนบท เจ้าชายฌัก รัชทายาทแห่งโมนาโก กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า วอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย ปิยะรัฐ ตุ้นทัพไทย อรรถพร ธีมากร ไมเคิล คลาร์ก ดันแคน เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ระบบทศนิยมดิวอี้ ตึกนิวยอร์กเวิลด์ เทพมารสะท้านภพ ไทเก็ก หมัดทะลุฟ้า สุภาพบุรุษตระกูลหยาง ตำนานเดชนางพญางูขาว เจิ้ง เจียอิ่ง อู๋ จัวซี กู่ เทียนเล่อ มังกรคู่สู้สิบทิศ แม่พระปฏิสนธินิรมล เจมส์ ฟิกก์ ธัญยกันต์ ธนกิตติ์ธนานนท์ โกะโร อินะงะกิ ฉัตรชัย ดุริยประณีต ธงไชย แมคอินไตย์ คิม เบซิงเงอร์ จิม มอร์ริสัน เดวิด คาร์ราดีน บ๊อบ อารัม สมเด็จพระราชินีนาถคริสตินาแห่งสวีเดน พรรคประชาชนบรูไน แอมโบรสแห่งมิลาน รังสี ทัศนพยัคฆ์ คิเคโร เจ้าหญิงคาทารีนา-อะมาเลีย เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ บุษกร ตันติภนา จอห์น เทอร์รี เฟอร์นันโด วาร์กัส ช่วง มูลพินิจ พิศมัย วิไลศักดิ์ พระมเหสีจองซอง การโจมตีท่าเรือเพิร์ล กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น Grammy Awards Allmusic ซิงเกิล นักธุรกิจ แร็ปเปอร์ เลสลี นีลเซน มะสึโอะ บะโช นันทนัช โล่ห์สุวรรณ ผู้รักษาประตู สจวร์ต เทย์เลอร์ แดเนียล เฮนนีย์ แอนนา นิโคล สมิธ หลวงพ่อเกษม เขมโก ลี กวน ยู คริส โจนนาว ซิลเวอร์แชร์ เค.แมกซ์ ซินบี แตวุง เค-วัน นักมวยไทย อักษรฮันกุล นักบุญเดนิส ออสการ์ ชินด์เลอร์ เช เกบารา สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 สมเด็จพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งยูโกสลาเวีย หทัยภัทร สมรรถวิทยาเวช พชร ธรรมมล คนึงพิมพ์ พรมกร แบรนดอน เราธ์ แผ่นดินถล่ม สิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลก อนุสาวรีย์วอชิงตัน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ปริ๊นซ์ ออฟ เทนนิส แม่พระแห่งลูกประคำ เลย์ เซบัสเตียน โกอาเตส ตะวัน จารุจินดา แอรอน แอชมอร์ ชอว์น แอชมอร์ ชิลเบร์ตู ซิลวา ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค ซามี ฮูเปีย โทนี แบรกซ์ตัน ไซมอน โคเวลล์ วลาดิมีร์ ปูติน พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 1 แห่งเดนมาร์ก อาคารรัฐสภาไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

 

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
91
92
93
94
95
96
97
98
99
100
101
102
103
104
105
106
107
108
109
110
111
112
113
114
115
116
117
118
119
120
121
122
123
124
125
126
127
128
129
130
131
132
133
134
135
136
137
138
139
140
141
142
143
144
145
146
147
148
149
150
151
152
153
154
155
156
157
158
159
160
161
162
163
164
165
166
167
168
169
170
171
172
173
174
175
176
177
178
179
180
181
182
183
184
185
186
187
188
189
190
191
192
193
194
195
196
197
198
199
200
201
202
203
204
205
206
207
208
209
210
211
212
213
214
215
216
217
218
219
220
221
222
223
224
225
226
227
228
229
230
231
232
233
234
จำนำรถราชบุรี รถยนต์ เงินด่วน รับจำนำรถยนต์ จำนำรถยนต์ จำนำรถ 23406