กรีนพีซ (อังกฤษ: Greenpeace) เป็นองค์การสาธารณประโยชน์ (NGO) นานาชาติ ที่ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ ก่อตั้งในประเทศแคนาดาเมื่อ พ.ศ. 2514
กรีนพีซสนใจการทดลองนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ และการล่าปลาวาฬในทะเลเปิด ในปัจจุบันกรีนพีซสากลได้งานรณรงค์ต่าง ๆ ได้แก่ การปกป้องมหาสมุทร เช่น การใช้อวนลากที่พื้นทะเล การจับปลาผิดกฎหมาย การจับปลามากเกินไป เป็นต้น การต่อต้านการดัดแปลงพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ การหยุดยั้งสารพิษ การยุติแห่งพลังงานนิวเคลียร์ และ การปกป้องป่าโบราณ และการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน)
ปัจจุบัน กรีนพีซมีสำนักงานประจำประเทศและภูมิภาค อยู่ใน 41 ประเทศทั่วโลก โดยทุกสำนักงานจะทำงานร่วมกับ กรีนพีซสากล (Greenpeace International) ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชื่อที่ใช้ดำเนินการในประเทศไทยคือ มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรีนพีชเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสำนักงานอยู่ 3 ประเทศคือ ประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ ประเทศฟิลิปปินส์ และ ประเทศอินโดนีเซีย องค์การมีรายได้จากเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนทางการเงินรายบุคคลทั่วไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านรายทั่วโลก[ต้องการอ้างอิง] รวมทั้งเงินอุดหนุนจากองค์กรการกุศลต่าง ๆ แต่ไม่รับเงินช่วยเหลือจากธุรกิจหรือรัฐบาลใด[ต้องการอ้างอิง]
ยานพาหนะที่กลุ่มกรีนพีซใช้เดินทางไปทั่วโลก คือ เรือที่กรีนพีซเป็นเจ้าของเรือเดินสมุทรอยู่ 3 ลำ แต่ลำที่มีชื่อเสียงที่สุดชื่อ เรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior เรือนักรบสายรุ้ง) ลำที่ใช้ในปัจจุบันเป็นลำที่สอง
กรีนพีซขึ้นชื่อสำหรับการปฏิบัติโดยตรง (direct action) และมีการอธิบายว่าเป็นองค์การสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดที่สุดในโลก กรีนพีซยังเป็นที่มาของกรณีพิพาท แรงจูงใจและวิธีการขององค์การได้รับเสียงวิจารณ์ และการปฏิบัติโดยตรงขององค์การทำให้เกิดการฟ้องดำเนินคดีต่อนักเคลื่อนไหวกรีนพีซ เช่น การปรับและคำพิพากษารอการลงโทษจากการทำลายแปลงทดลองข้าวสาลีจีเอ็มโอ