กระรอกบิน (อังกฤษ: Flying squirrel) เป็นกระรอกจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในเผ่า Pteromyini หรือ Petauristini มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากกระรอกจำพวกอื่น คือ มีแผ่นหนังลักษณะคล้ายพังผืดที่บริเวณข้างลำตัวตั้งแต่ขาหน้าถึงขาหลัง สำหรับกางเพื่อร่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยมีหางและกระดูกอ่อนพิเศษที่ยื่นออกมาจากข้อเท้าหน้าเพื่อช่วยในการควบคุมทิศทาง
กระรอกบินมีพฤติกรรมต่างจากกระรอกในกลุ่มอื่น คือ หากินในเวลากลางคืน มีดวงตากลมโตสีดำสะท้อนแสงไฟ กระรอกบินจะอาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์ อาหารหลัก คือ แมลง หากินหลักอยู่บนต้นไม้ แต่ก็สามารถลงมาหากินบนพื้นดินได้ในบางครั้ง
แม้จะได้ชื่อว่า กระรอกบิน แต่แท้ที่จริงแล้วกระรอกบินก็ทำได้เพื่อแค่ร่อน หรือโต้อากาศโดยใช้พังผืดนี้อยู่กลางอากาศได้เพียงสั้น ๆ เท่านั้น โดยกระโจนจากต้นไม้อีกต้นไปยังอีกต้นหนึ่งเท่านั้น
กระรอกบินมีทั้งหมด 44 ชนิด ใน 15 สกุล พบได้ในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรปตอนเหนือและทวีปเอเชีย บางชนิดจัดเป็นกระรอกขนาดใหญ่เทียบเท่าพญากระรอก เช่น พญากระรอกบินสีดำ (Aeromys tephomelas) บางชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว เช่น กระรอกบินเล็กแก้มขาว (Hylopetes phayrei) เป็นต้น ในประเทศไทยพบทั้งหมด 13 ชนิด จาก 6 สกุล ได้แก่
นอกจากนี้แล้ว ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกอื่น ที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายคลึงกระรอกบินมาก ได้แก่ บ่าง (Galeopterus variegatus) ที่อยู่ในอันดับบ่าง และจิงโจ้บิน หรือ ชูการ์ไกล์เดอร์ (Petaurus breviceps) ซึ่งอยู่ในอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งสัตว์ทั้ง 2 จำพวกนี้มิใช่สัตว์ในอันดับสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอก แม้จะมีรูปหน้าหน้าตาและพฤติกรรมคล้ายกับกระรอกบินก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังมีผู้เข้าใจผิดเสมอ ๆ ว่า สัตว์ทั้ง 2 จำพวกนี้เป็นกระรอกบิน อีกทั้งในภาษาเหนือและภาษาอีสานของไทย ก็ยังเรียกกระรอกบินขนาดใหญ่ ว่า บ่าง ด้วยเช่นกัน