กระบวนพยุหยาตราสถลมารค หรือ กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค คือ การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทย พระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทางบก ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และพระราชพิธี ซึ่งได้ ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีมาจนปัจจุบัน แต่เดิมกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เป็นการเสด็จพระ ราชดำเนินเพื่อประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญ จากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวง ตลอดจนการต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น เป็นการจัดกระบวนมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเป็นแถวงดงาม
กระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค เป็นกระบวนพระราชพิธีสำคัญ เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา กระบวนดังกล่าวจัดขึ้นทุกปี ในพระราชพิธีสิบสองเดือน โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จสถลมารค เพื่อถวายผ้าพระกฐินแก่พระอารามหลวง กระบวนพยุหยาตรา พระกฐินสถลมารคที่ยิ่งใหญ่ถูกจัดขึ้น ในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการเสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคสองครั้ง คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่เลียบพระนครครั้งหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง] อีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในกระบวนพยุหยาตราสถลมารคนี้ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และเสนาบดีที่ตามเสด็จในกระบวน ล้วนทรงฉลองพระองค์และแต่งกายอย่างงดงามพระมหากษัตริย์ทรงเครื่องสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาเขียนทองฉลองพระองค์ตาดจีบ คาดเจียระบาด สายรัดพระองค์เพชรทรงพระสังวาล พระธำมรงค์ ทรงพระมาลาเพชร
ในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มีแต่เพียงการเสด็จฯ โดยกระบวนราบใหญ่จากพระมหามณเทียรไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดารามเท่านั้น จนลุมาถึงการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบพระนักษัตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคเพื่อทรงนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร