กระท่อมน้อยของลุงทอม (อังกฤษ: Uncle Tom's Cabin) เป็นบทประพันธ์ประเภทนวนิยายของแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ (Harriet Beecher Stowe) เกี่ยวกับปัญหาด้านทาสในสหรัฐอเมริกา วางจำหน่ายครั้งแรกวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1852 นวนิยายเรื่องนี้มีอิทธิพลกับทัศนคติที่มีต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และพวกทาสในสหรัฐอเมริกาอย่างมาก จนกระทั่งนำไปสู่สงครามกลางเมืองอเมริกาในที่สุด
สโตว์เป็นชาวคอนเนตทิกัต เป็นครูที่วิทยาลัยสตรีฮาร์ตฟอร์ด และเป็นแกนนำสนับสนุนการเลิกทาสที่กระตือรือร้นอย่างยิ่ง เธอใช้ตัวละคร "ลุงทอม" เป็นแกนหลักในนวนิยาย เขาเป็นทาสผิวดำผู้ต้องทนทุกข์ทรมานมาเป็นเวลานาน เนื้อเรื่องยังเกี่ยวข้องกับทาสคนอื่น ๆ และเจ้านายผู้เป็นเจ้าของทาสเหล่านั้น นวนิยายพรรณนาอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นจริงอันโหดร้ายของการเป็นทาส ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับความรักและความศรัทธาของชาวคริสต์ซึ่งสามารถเอาชนะได้แม้สิ่งที่พังพินาศลงอย่างสิ้นเชิง คือความเป็นมนุษย์ที่ต้องสูญสิ้นไปเนื่องจากตกเป็นทาส
กระท่อมน้อยของลุงทอมเป็นนวนิยายที่ขายดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นหนังสือขายดีอันดับสองรองจากคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น ได้รับยกย่องว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการเลิกทาสในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1850 หนังสือสามารถจำหน่ายได้ถึง 300,000 เล่มภายในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย นับเฉพาะที่จำหน่ายเฉพาะสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ผลกระทบจากนวนิยายนี้ยิ่งใหญ่มาก จนเมื่ออับราฮัม ลิงคอล์น ได้พบกับสโตว์ในช่วงต้นของสงครามกลางเมืองอเมริกา ลิงคอล์นกล่าวว่า "นี่หรือสุภาพสตรีผู้ทำให้เกิดสงครามใหญ่"
นิยายเปิดฉากมาที่ชาวนาคนหนึ่งในรัฐเคนตักกี คืออาเทอร์ เชลบี ซึ่งต้องสูญเสียฟาร์มของตนเนื่องจากติดหนี้สิน ทั้งเชลบีและภรรยาของเขา คือ เอมิลี เชลบี ได้ให้ความเมตตากรุณาแก่ทาสของพวกเขาอย่างมาก แต่กระนั้นเขาก็จำต้องขายทาสออกไปสองคนให้กับพ่อค้าทาส คือลุงทอม ชายวัยกลางคนผู้มีครอบครัวแล้ว กับแฮร์รี่ ลูกชายของเอลิซ่า สาวใช้ประจำตัวของเอมิลี เอมิลีไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เลย เพราะเธอได้ให้สัญญากับสาวใช้ของเธอว่าจะไม่ขายลูกชายของนางไปเด็ดขาด ขณะที่ลูกชายของเอมิลีคือ จอร์จ เชลบี ก็รักใคร่ทอมประหนึ่งทั้งเพื่อนและพี่เลี้ยง
เอลิซ่าบังเอิญได้ยินนายและนางเชลบีพูดคุยกันเรื่องที่จะต้องขายทอมกับแฮร์รี่ นางจึงตัดสินใจจะหนีไปพร้อมกับลูกชาย นิยายพรรณนาถึงการตัดสินใจของเอลิซ่าว่ามิได้เกิดจากการถูกทารุณทางกาย แต่เพราะความกลัวจะต้องสูญเสียลูกชายเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ (ก่อนหน้านี้เอลิซ่าเคยแท้งลูกไปถึง 2 คน) เอลิซ่าหนีไปในคืนนั้นโดยทิ้งจดหมายขอโทษเอาไว้ให้กับนายสาว
ขณะที่เกิดเรื่องทั้งหมดนี้ ลุงทอมก็ถูกขายไปและนำตัวไปอยู่บนเรือที่จะล่องลงไปตามแม่น้ำมิสซิสซิปปี บนเรือนั้นทอมได้พบกับเด็กหญิงผิวขาวคนหนึ่งชื่อ อีวา ทั้งสองได้กลายเป็นเพื่อนกัน เมื่ออีวาตกลงไปในแม่น้ำ ทอมได้ช่วยเธอไว้ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ พ่อของอีวาคือ ออกัสติน เซนต์แคลร์ จึงขอซื้อทอมต่อจากพ่อค้าทาสและพาเขาไปอยู่กับครอบครัวของตนที่นิวออร์ลีนส์ ระหว่างเวลานี้ ทอมกับอีวาก็สนิทกันมากยิ่งขึ้นด้วยมีพื้นฐานของศรัทธาแห่งคริสเตียนอันลึกซึ้ง
แต่โชคดีที่ไม่นานนัก ทั้งอีวาและมิสเตอร์เซ็นต์แคล์รตายจากไป และทาสทุกคนของเขาก็ตกเป็นสมบัติของภรรยาที่ชื่อ มาเรีย ผู้ซึ่งเกลียดทาสเสมอมาและคิดอยู่เสมอว่าสามีเธอปฏิบัติต่อทาสดีเกินไป ดังนั้น เมื่อโอกาสมาถึง เธอจึงปฏิญาณว่าเธอจะให้บทเรียนแก่ทาสเหล่านี้ ด้วยการขายพวกเขาลงล่องแม่น้ำไปอยู่ทางตอนใต้ ที่นี่เองที่ชีวิตของทอมผันแปรสู่ความเลวร้าย ชายคนหนึ่งชื่อ ไซมอน ลีกรี เป็นคนซื้อเขา ไซมอนเป็นคนที่ภาคภูมิใจที่ตนสามารถ “ ทำลาย” ชีวิตทาสทุกคนได้ ยกเว้นทอม ไม่มีใครสามารถ “ ทำลาย” ทอมได้ ความเชื่ออันใหญ่ยิ่งมั่นคงในพระเป็นเจ้าของทอมสอนให้เขาเป็นคนดีและซื่อสัตย์ และไม่ว่า ลีกรี จะทำอะไรเขา คุณลักษณะดังกล่าวนั้นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทอม ทำให้ ลีกรี โกรธมากขึ้น เขาจึงทุบตีทำร้ายทอมจนเกือบเสียชีวิต ขณะทอมกำลังพักฟื้นเพื่อรักษาตัวอยู่นั้น เขาก็พบกับ แคสสี ซึ่งเป็นทาสคนหนึ่งของ ลีกรี ที่ต้องการจะหนี เธอหมดความศรัทธาในพระเจ้าแล้วหลังจากที่ถูกพรากลูก ๆ ไปเมื่อหลายปีที่แล้ว และมีชีวิตอยู่ด้วยความขมขื่นเกลียดชัง แต่หลังจากได้พูดคุยกับทอมแล้ว เธอก็ตัดสินใจเชื่อและวางใจในพระเป็นเจ้าอีกครั้งหนึ่ง และด้วยความศรัทธาอันสดใหม่นี้ ทำให้เธอสามารถคิดหาวิธีที่จะหลบหนีจากไร่นาที่รกร้างนี้ไปกับเพื่อนทาสอีกคนหนึ่งที่ชื่อ เอมมีลีน ทั้งสองหนีได้สำเร็จ แต่เนื่องจากทอมไม่ยอมบอก ลีกรี ว่าทั้งสองหนีไปทางไหน เขาจึงถูกทุบตีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาอาการหนักมาก ไม่มีทีท่าว่าจะหาย
บุตรชายของมิสเตอร์เชลบีที่ชื่อ จอร์จ ได้ช่วยเหลือทอมก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แม้ว่าจะเป็นการช่วยเหลือที่ไร้ความหวัง แต่ทอมก็สามารถฝากคำร่ำลาสั่งเสียไปถึงป้าโคลอี ภรรยาของเขาและคนอื่น ๆ ได้ หลังจากที่ทอมเสียชีวิต จอร์จก็จัดพิธีฝังศพให้ทอมอย่างเหมาะสม ตอนขากลับบ้าน เขาได้พบกับ แคสสี และ เอ็มมีลีน แคสสีจึงรู้ว่าลูกสาวซึ่งเธอคิดว่าจะไม่ได้พบกันอีกแล้วนั้น แท้จริงก็คือเอลิซา ดังนั้น จอร์จจึงพาทั้งสองไปแคนาดาเพื่อให้ครอบครัวได้พบกัน ในที่สุด เมื่อเขากลับมาถึงบ้าน เขาก็ปลดปล่อยทาสทุกคนให้เป็นอิสระตามความปรารถนาครั้งสุดท้ายของทอม เมื่อเขาประกาศเรื่องนี้ให้ทาสทุกคนทราบ และบอกให้แต่ละคนคิดถึงอิสรภาพที่ตนได้รับทุกครั้งที่เดินผ่านกระท่อมน้อยของลุงทอม และให้กระท่อมหลังนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการพยายามดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างทอม และให้พระเป็นเจ้าเป็นผู้นำในชีวิตพวกเขา
ในบันทึกของ แอนนา ลีโอโนเวนส์ หรือ แหม่มแอนนา ครูฝรั่งที่รัชกาลที่ 4 ว่าจ้างมาสอนหนังสือแก่พระราชโอรสธิดาและเจ้าจอมหม่อม ได้บันทึกไว้ว่าเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ธิดาของพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (จังหวัดพระประแดงในอดีต) ชอบนวนิยายเรื่องนี้มาก ในบันทึกเล่าเหตุการณ์ตรงนี้ว่า “มิตรรักของข้าพเจ้าคนนี้ ยังมีความขยันในการศึกษาหาความรู้ เธอเรียนหนังสือฝรั่งกับข้าพเจ้าจนชำนาญ พอที่จะอ่านหนังสือฝรั่งได้เรื่องรายละเอียดถูกต้อง หนังสือที่เธอชอบอ่านที่สุดคือ ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ เธออ่านแล้วอ่านอีก จนรู้จักตัวละครขึ้นใจหมดทุก ๆ คน เวลาพูดถึงบุคคลในเรื่องนี้ เธอจะเอ่ยราวกับว่าเป็นผู้คุ้นเคยของเธอมานานปีแล้วฉะนั้น” เข้าใจว่าเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นน่าจะประทับใจนวนิยายเรื่องนี้มาก ถึงกับเซ็นชื่อในจดหมายถึงครูแหม่มแอนนาว่า "Harriet Beacher Stowe Sonklin" (แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ ซ่อนกลิ่น)
ในคำบอกเล่าของแหม่มแอนนานั้น เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นได้ทำการเลิกทาสในความดูแลของตน ประมาณก่อนปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) คือก่อนรัชกาลที่ 4 สวรรคตหนึ่งปี และก่อนที่ครูแหม่มแอนนาจะกลับออกไปจากสยาม และก่อนประกาศนโยบายและแนวทางเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874) ประมาณ 7 ปี
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ไทย อ้างว่ามีการกล่าวกันว่าเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เคยอ่านหนังสือ Uncle Tom’s Cabin นี้ ซึ่งครูแหม่มแอนนาได้ให้เป็นการบ้านจนแตกฉาน จนสามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ แต่ชาญวิทย์เองยังไม่เคยพบหลักฐานหรือต้นฉบับการแปลนี้ และตั้งคำถามว่าถ้ามีการแปลจริงจะแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษามอญ เนื่องจากเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นนั้นรักษาอัตลักษณ์มอญเอาไว้มาก ในวังของกรมพระนเรศฯนั้นก็เต็มไปด้วยข้าราชสำนักที่เป็นมอญ ใช้ภาษามอญ