มีขนยาว ตัวสีดำหรือดำแกมน้ำตาล เว้นแต่ที่ตรงหน้าผากและครึ่งล่างของขาทั้ง 4 เป็นสีขาวเทา ๆ หรือเหลืองอย่างสีทอง เรีบกว่า "หน้าโพ" ขาทั้ง 4 ข้างตั้งแต่เหนือเข่าลงไปถึงกีบเท้ามีสีขาวเทาหรือเหลืองทอง ทำให้มองดูเหมือนสวมถุงเท้า สีขนของกระทิงบริเวณหน้าผากและถุงเท้าเกิดจากคราบน้ำมันในเหงื่อซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ชนิดนี้ คอสั้น และมีพืม (เหนียงคอ) ห้อยยาวลงมาจากใต้คอ เขามีสีเขียวเข้ม ปลายเขามีสีดบริเวณโคนเขามีรอยย่นซึ่งรอยนี้จะมีมากขึ้นเมื่อสูงวัยขึ้น
กระทิงตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ลูกที่เกิดขึ้นจะมีสีน้ำตาลแกมแดงเหมือนสีขนของเก้ง มีเส้นสีดำพาดกลางหลัง ลูกกระทิงขนาดเล็กจะยังไม่มีถุงเท้าเหมือนกระทิงตัวโต มีความยาวลำตัวและหัว 250-300 เซนติเมตร หาง 70-105 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นถึงหัวไหล่ 170-185 เซนติเมตร น้ำหนัก 650-900 กิโลกรัม โดยตัวผู้มีน้ำหนักมากกว่าตัวเมีย มีการกระจายพันธุ์ในภาคใต้ของจีน, อินเดีย, ภูฐาน, เนปาล, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย โดยแบ่งออกได้เป็นชนิดย่อย 5 ชนิด
มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยฝูงหนึ่งมีสมาชิกตั้งแต่ 2-60 ตัว สมาชิกในฝูงประกอบด้วยตัวเมียและลูก บางครั้งอาจเข้าไปหากินรวมฝูงกับวัวแดง (B. javanicus) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว กระทิงจะอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่สูง ขณะที่วัวแดงจะหากินในพื้นที่ราบต่ำกว่า หรือหากินร่วมกับสัตว์กินพืชชนิดอื่น ตัวผู้มักอาศัยอยู่ตามลำพังแต่จะเข้าไปอยู่รวมฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ฝูงกระทิงจะเดินหากินสลับไปกับการนอนหลับพักผ่อนตลอดทั้งวัน โดยบางตัวจะนอนหลับท่ายืนหรือนอนราบกับพื้น สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายสภาพป่า ทั้งป่าเบญจพรรณ, ป่าเต็งรัง, ป่าดิบแล้ง, ป่าดิบเขา หรือบางครั้งก็อาจเข้าไปหากินอยู่ตามไร่ร้างหรือป่าที่อยู่ในสภาพฟื้นฟูจากการทำลาย มักหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำมากนักเนื่องจากอดน้ำไม่เก่ง ช่วงฤดูหลังไฟไหม้ป่า จะออกหากินยอดไม้อ่อนและหญ้าระบัดที่มีอยู่มากตามทุ่งหญ้า และป่าเต็งรัง
สถานะในประเทศไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 พบกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น เขาแผงม้า ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ในจังหวัดยะลา เป็นต้น สถานะในสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดให้อยู่ในระดับ CR (Critically Endangered) หมายถึงมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ในพื้นที่ธรรมชาติขณะนี้
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 ได้เกิดมีวัวสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นจำนวน 4 ตัว เป็นตัวผู้ 3 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว ที่เกิดจากที่กระทิงผสมข้ามสายพันธุ์กับวัวบ้านสายพันธุ์พื้นเมือง ที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ลูกที่ได้เป็นวัวลูกผสมที่มีรูปร่างใหญ่โต บึกบึน แข็งแรง รูปร่างคล้ายกระทิง แต่ที่ขาทั้ง 4 ข้างไม่มีรอยขาวเหมือนสวมถุงเท้า และในช่วงต้นปี พ.ศ. 2558 ก็มีลูกวัวพันธุ์ผสมกรณีคล้ายกันจำนวน 11 ตัว ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างกระทิงน้ำหนัก 1 ตัน กับวัวบ้านสายพันธุ์พื้นเมือง ที่อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร กลายเป็นวัวสายพันธุ์ใหม่ที่มีรูปร่างแข็งแรง ล่ำสัน มีความปราดเปรียว แต่ไม่ดุร้าย ซึ่งในทางวิชาการจะนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อไปในอนาคต และในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีรายงานว่า มีลูกผสมระหว่างกระทิงกับวัวแดงเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง โดยลูกที่ได้มีสีที่อ่อนกว่ากระทิง แต่มีลักษณะเหมือนกับกระทิง คือ มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน ก้นขาว และขาทั้ง 4 ข้างมีรอยขาว