ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ กระดูกอัลนา (อังกฤษ: Ulna) หรือ กระดูกปลายแขนด้านนิ้วก้อย เป็นหนึ่งในสองกระดูกที่เป็นแกนหลักของส่วนปลายแขนซึ่งเชื่อมต่อระหว่างข้อต่อที่สำคัญของรยางค์บน คือข้อศอก (elbow) และข้อมือ (wrist) และขนานไปกับกระดูกเรเดียส และเชื่อมกันโดยเอ็นเยื่อระหว่างกระดูก (interosseous membrane)
เช่นเดียวกับกระดูกเรเดียส กระดูกอัลนาเป็นจุดเกาะที่สำคัญของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของปลายแขนและมือ
กระดูกอัลนาเป็นกระดูกแบบยาวที่มีรูปร่างคล้ายค้อน ซึ่งจะมีด้านหัวกระดูกที่มีขนาดใหญ่และเชื่อมต่อกับส่วนใหญ่ของส่วนปลายของกระดูกต้นแขน แต่มีส่วนปลายกระดูกที่เรียวเล็กกว่ากระดูกเรเดียสมาก
เช่นเดียวกับกระดูกเรเดียส เราสามารถแบ่งส่วนของกระดูกอัลนาได้เป็นสามส่วน คือส่วนต้นกระดูก (proximal/upper part) ส่วนกลางกระดูก (body) และส่วนท้ายกระดูก (distal/lower part) อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกระดูกอัลนา ส่วนหัวของกระดูก (head of ulna) จะอยู่ทางด้านส่วนปลายของกระดูก ซึ่งต่างจากกระดูกชิ้นอื่นๆที่ส่วนหัวกระดูกมักหมายถึงส่วนต้นของกระดูก
ส่วนต้นของกระดูกอัลนาจะมีลักษณะใหญ่และมีส่วนยื่นของกระดูกที่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งแก โอเลครานอน โพรเซส (Olecranon process) และ โคโรนอยด์ โพรเซส (Coronoid process) และยังมีส่วนเว้าซึ่งเป็นบริเวณรับกับปลายของกระดูกต้นแขนและหัวของกระดูกเรเดียสอีกสองจุด คือรอยเว้าเซมิลูนาร์ (Semilunar notch) และรอยเว้าเรเดียส (Radial notch)
ส่วนกลางของกระดูกอัลนามีลักษณะคล้ายแท่งปริซึมสามเหลี่ยม จึงมีพื้นผิวสามด้าน และขอบสามขอบ ซึ่งจะเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ
ปุ่มกระดูก (ปุ่มเหนือแอ่งกลีนอยด์, ปุ่มใต้แอ่งกลีนอยด์) • แนวสันกระดูกสะบัก • อโครเมียน • โคราคอยด์ โพรเซส