กระดูกหู (อังกฤษ: ossicles หรือ auditory ossicles) เป็นกระดูกขนาดเล็ก 3 ชิ้นในร่างกายมนุษย์ ซึ่งอยู่ภายในช่องว่างในหูชั้นกลาง ทำหน้าที่ในการส่งผ่านเสียงจากอากาศไปยังห้องหูชั้นใน (labyrinth) ที่บรรจุไปด้วยของเหลว (อวัยวะรูปหอยโข่ง (cochlea)) หากไม่มีกระดูกหูจะทำให้เกิดภาวะสูญเสียการได้ยินระดับกลางหรือระดับรุนแรง
การศึกษาแสดงให้เห็นว่ากระดูกหูในเอ็มบริโอสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนั้นยึดเกาะกับส่วนเดนทารี (dentary) ของขากรรไกรล่าง กระดูกนี้เกิดจากการสร้างเนื้อกระดูกจากต้นแบบซึ่งเป็นกระดูกอ่อนซึ่งยึดเกาะกับขากรรไกรล่าง เรียกกระดูกอ่อนนี้ว่า "Meckel's cartilage" เมื่อเอ็มบริโอเจริญเติบโตขึ้น กระดูกอ่อนนี้จะแข็งขึ้นกลายเป็นกระดูก ในระยะสุดท้ายของพัฒนาการกระดูกนี้จะแยกออกจากขากรรไกรและเคลื่อนเข้าไปอยู่ในบริเวณหูชั้นใน โครงสร้างที่เรียกว่าหูชั้นกลางประกอบด้วยกระดูกทั่ง (incus) , กระดูกโกลน (stapes) , กระดูกค้อน (malleus) และเยื่อแก้วหู (tympanic membrane) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกระดูกควอเดรต (quadrate) , กระดูกพรีอาร์ติคิวลาร์ (prearticular) , กระดูกอาร์ติคิวลาร์ (articular) และกระดูกแองกูลาร์ (angular) ในขากรรไกรล่างของสัตว์เลื้อยคลาน ด้วยเหตุนี้เองนักวิจัยจึงเชื่อในความเหมือนกันเพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและสัตว์เลื้อยคลานต่างมีบรรพบุรุษร่วมเดียวกัน
กระดูกหูเป็นกระดูกที่อยู่ในหูชั้นกลาง เรียงตามลำดับจากเยื่อแก้วหูไปยังหูชั้นในคือ กระดูกค้อน (malleus หรือ hammer) ,กระดูกทั่ง (incus หรือ anvil) และกระดูกโกลน (stapes หรือ stirrup) โดยชื่อกระดูกมาจากลักษณะของกระดูกนั่นเอง
เมื่อคลื่นเสียงเดินทางเข้ามาในหูชั้นนอก และทำให้เยื่อแก้วหูสั่นสะเทือน จะทำให้กระดูกค้อนซึ่งเป็นกระดูกที่ถัดเข้ามาและยึดเกาะกับเยื่อแก้วหูเคลื่อนที่ กระดูกค้อนจะส่งผ่านความสั่นสะเทือน ผ่านกระดูกทั่ง ไปยังกระดูกโกลน และสุดท้ายไปยังเยื่อของช่องรูปไข่ซึ่งเป็นทางเปิดเข้าสู่เวสทิบูลของหูชั้นใน
กระดูกหูมีประโยชน์ในแง่การขยายสัญญาณเสียงโดยหลักการได้เปรียบเชิงกลผ่านกลไกของคานและการลดพื้นที่ของการกระจายแรง ซึ่งการสั่นสะเทือนลัพธ์จะน้อยกว่าถ้าคลื่นเสียงถูกส่งจากหูชั้นนอกไปยังช่องรูปไข่โดยตรง อย่างไรก็ตามการเคลื่อนที่ของกระดูกหูนั้นถูกควบคุมได้โดยกล้ามเนื้อเล็กๆ บางมัด เช่น กล้ามเนื้อเทนเซอร์ ทิมพานี (tensor tympani) และกล้ามเนื้อสเตปีเดียส (stapedius) เชื่อว่ากล้ามเนื้อเหล่านี้หดตัวเพื่อลดการสั่นสะเทือนของกระดูกหูเพื่อป้องกันหูชั้นในจากเสียงที่ดังมากเกินไป และเชื่อว่าช่วยในการจำแนกความถี่ของเสียงความถี่สูงให้ดีขึ้นโดยลดการส่งผ่านเสียงความถี่ต่ำ กล้ามเนื้อเหล่านี้จะพัฒนาดีในสัตว์พวกค้างคาวซึ่งมีประโยชน์ในการยับยั้งการส่งผ่านเสียงร้องของตัวเองในหูระหว่างการส่งเสียงสะท้อนนำทาง (echolocation) (โซนาร์)
ในบางครั้งข้อต่อระหว่างกระดูกหูอาจเกิดไม่ยืดหยุ่น เช่น โรคหินปูนเกาะที่ฐานกระดูกโกลน (otosclerosis) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกระดูกโกลนกับช่องรูปไข่ ทำให้เกิดภาวะสูญเสียการได้ยินและต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด