กรรไกร (อังกฤษ: scissors) เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตัดวัสดุบาง ๆ โดยใช้แรงกดเล็กน้อย โดยใช้ตัดวัสดุเช่น กระดาษ กระดาษแข็ง แผ่นโลหะบาง พลาสติกบาง อาหารบางอย่าง ผ้า เชือก และสายไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เพื่อตัดผมก็ได้ ส่วนกรรไกรขนาดใหญ่อาจใช้ตัดใบไม้และกิ่งไม้ ซึ่งมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ
กรรไกรนั้นต่างจากมีด เพราะมีใบมีด 2 อัน ประกบกันโดยมีจุดหมุนร่วมกัน กรรไกรส่วนใหญ่จะไม่มีความคมมากนัก แต่อาศัยแรงฉีกระหว่างใบมีดสองด้าน กรรไกรของเด็กนั้นจะมีความคมน้อยมาก และมักมีพลาสติกหุ้มเอาไว้
ในภาษาไทย เรียก "กรรไกร", "กรรไตร" หรือ "ตะไกร" ส่วนในภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปเรียกว่า "scissors" แต่ในอุตสาหกรรม เรียกกรรไกรที่มีความยาวมากกว่า 15 เซนติเมตร ว่า "shears" แต่ที่นิยมเรียกในประเทศไทยคือ กรรไกร
ในทางกลศาสตร์ ถือว่ากรรไกรเป็นคานคู่ชั้น 1 (First-Class Lever) ซึ่งมีหมุดกลางทำหน้าที่เป็นจุดหมุน ส่วนการตัดวัสดุหนาหรือแข็งนั้น จะให้วัสดุอยู่ใกล้จุดหมุน เพื่อเพิ่มแรงกดให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นหากแรงที่ใช้ (นั่นคือ มือ) ห่างจากจุดหมุนเป็นสองเท่าของตำแหน่งที่ตัด (นั่นคือ ตำแหน่งกระดาษ) แรงที่กดบนขากรรไกรก็จะเป็นสองเท่าด้วย
กรรไกรพิเศษ เช่น กรรไกรตัดเหล็ก (bolt cutters) สำหรับงานกู้ภัย จะมีปากสั้น และด้ามยาว เพื่อให้วัสดุที่ตัดอยู่ใกล้จุดหมุนมากที่สุดนั่นเอง กรรไกรตัดเหล็กเส้นก่อสร้าง (bar cutters) สำหรับงานก่อสร้าง โดยเฉพาะไซต์งานที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำงานโดยใช้แรงกล มีด้ามยาวสำหรับโยกหมุนเฟืองเพื่อดันใบมีดเข้าหากันเพื่อตัดเหล็ก เหมาะกับการใช้ตัดชิ้นงานหยาบ ไม่สามารถใช้กับงานที่ละเอียดได้ นอกจากนี้ยังมีกรรไกรตัดเหล็กที่ใช้สำหรับตัดเหล็กแผ่น เหล็กแบน เหล็กกลม (shearing machines) ซึ่งใช้กลวิธีการทำงานคือ โยกด้ามยาวที่ติดกับตัวขับที่เป็นฟันเหล็ก และเฟืองซึ่งทำจากเหล็กขึ้นรูปร้อน โดยตัวขับจะเป็นตัวส่งกำลังไปยังตัวเลื่อน เพื่อดันใบมีดตัวบนเข้ามาใบมีดตัวล่าง และมีสปริงค้ำคันโยก ซึ่งจะช่วยป้องกันคันมือโยกไม่ให้หล่นลงมา เป็นตัวทำให้เกิดความสมดุลของน้ำหนักของตัวคันมือโยกอีกด้วย
กรรไกรประดิษฐ์ขึ้นราว 1,500 ก่อนคริศตกาลในยุคอียิปต์โบราณ มีรูปร่างยาวโดยมีจุดเชื่อมที่ด้านท้าย ส่วนกรรไกรด้ามตัดไขว้แบบปัจจุบันคิดค้นในราว พ.ศ. 643