กรมราชทัณฑ์ (อังกฤษ: Department of Corrections) เป็นหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ดูแลเรือนจำและนักโทษ จากคดีต่างๆ
การราชทัณฑ์ของไทย ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้อง กับสังคมการเมืองและสภาพเศรษฐกิจ ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมา ในยุคก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการเรือนจำได้ สังกัดอยู่ตามส่วนราชการต่างๆ สอดคล้องกับการปกครองแบบจตุสดมภ์ คือ แบ่งเป็นเรือนจำในกรุงเทพ ฯ และเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก เรือนจำในกรุงเทพฯ มี 2 ประเภท คือ “คุก” เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป อยู่ในสังกัดกระทรวงนครบาล ส่วน “ตะราง” ใช้เป็นที่คุมขัง ผู้ต้องขังที่มีโทษต่ำกว่า 6 เดือน หรือนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ที่บังคับกิจการนั้น ๆ ส่วนการเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก มีที่คุมขัง ผู้ต้องโทษ เรียกว่า “ตะราง” การคุมขังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการเมือง หรืออาจส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม รับตัวไปคุมขัง แล้วแต่กรณีโทษ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงระเบียบราชการใหม่ โดยโปรดให้สร้างคุกใหม่ขึ้น เรียกว่า “กองมหันตโทษ” และ ให้สร้างตะรางใหม่ เรียกว่า “กองลหุโทษ” ซึ่งในสมัยนั้น รวมเรียกว่า “ กรมนักโทษ ” สังกัดกระทรวงนครบาล และใน ปี พ.ศ. 2444 (ร.ศ.120) ได้มี พระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ” ขึ้นเพื่อให้การจัดการเรือนจำเป็นไปอย่างเรียบร้อยยิ่งขึ้น จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตรา “พระราชบัญญัติจัดตั้งกรมราชทัณฑ์” โดยมี พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก
ในปี พ.ศ. 2468 ได้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ งบประมาณ รายได้รายจ่ายไม่ได้คุณภาพกับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงยุบกรมราชทัณฑ์และให้ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม และต่อมาได้โอนกรมราชทัณฑ์ไปเป็นแผนกหนึ่ง (แผนกราชทัณฑ์) สังกัดกระทรวงมหาดไทย
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การราชทัณฑ์ได้ยกฐานะเป็นกรมราชทัณฑ์ และมีการตราพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มีหน้าที่เกี่ยวด้วยการเรือนจำ การกักกัน ผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายการฝึกและอบรมเด็กดัดสันดาน และในส่วนภูมิภาคได้มีการกำหนดเป็น เรือนจำจังหวัด และเรือนจำอำเภอ
ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการปฏิรูประบบราชการ จึงได้โอนย้าย กรมราชทัณฑ์กลับมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม
กรมราชทัณฑ์ มีเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขังในสังกัด จำนวน 143 แห่ง เพื่อรองรับผู้ต้องราชทัณฑ์จำนวน 317,672 คน (ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559)
ทัณฑสถาน เป็นสถานที่ควบคุม กักขังผู้ต้องขังที่ได้รับการคัดแยกประเภทแล้ว เพื่อประโยชน์ในการควบคุม บำบัดรักษา การอบรมแก้ไข และการฝึกวิชาชีพ เช่น หญิง วัยหนุ่ม บำบัดพิเศษ ปัจจุบันมีจำนวน 25 แห่ง มีทัณฑสถานที่รับผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจนถึงประหารชีวิต จำนวน 2 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงกลาง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และทัณฑสถานที่รับผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจนถึงจำคุกตลอดชีวิต จำนวน 3 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง
สถานกักขัง เป็นสถานที่ที่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องกักขัง ซึ่งถูกกำหนดโทษกักขัง ปัจจุบันมีสถานกักขัง 5 แห่ง ได้แก่ สถานกักขังกลางจังหวัดลำปาง สถานกักขังกลางจังหวัดตราด สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี สถานกักขังกลางจังหวัดร้อยเอ็ด และสถานกักขังกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช