กรณีพิพาทเปดราบรังกา เป็นความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ในการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ขนาดเล็กในทะเลจีนใต้ กรณีพิพาทนี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 เมื่อมาเลเซียตีพิมพ์แผนที่ให้บริเวณนี้อยู่ในบริเวณของตน สิงคโปร์ได้ประท้วงแผนที่ฉบับนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ทั้งสองประเทศได้เจรจากันในช่วง พ.ศ. 2536 – 2537แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงส่งเรื่องให้ศาลโลกพิจารณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ศาลโลกได้พิพากษาเมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ให้เปดราบรังกาเป็นของสิงคโปร์ มิดเดิลร็อกส์เป็นของมาเลเซีย ส่วนเซาท์เลดจ์นั้นให้ขึ้นกับการตกลงแบ่งเขตน่านน้ำทางทะเลระหว่างสองประเทศ
ข้อกล่าวอ้างของมาเลเซียในคดีนี้คือเปดราบรังกาเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิยะโฮร์ จึงต้องเป็นของมาเลเซีย สิงคโปร์เพียงแต่เข้าไปก่อสร้างและรักษาประภาคาร ส่วนสิงคโปร์อ้างว่าการเข้าไปสร้างประภาคารของอังกฤษนั้นได้รับความยินยอมจากรัฐยะโฮร์ และสิงคโปร์ได้สืบทอดสิทธินั้นมาจากอังกฤษ
ประเด็นสำคัญในการพิพากษาของศาลโลกนั้น เห็นว่าสนธิสัญญา พ.ศ. 2367 กำหนดให้เปดราบรังกาอยู่ในเขตของอังกฤษ ต่อมาในจดหมายตอบโต้ระหว่างรัฐมนตรีอาณานิคมแห่งสิงคโปร์กับสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ว่าเปดราบรังกาอยู่ในอาณาเขตของฝ่ายใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัฐยะโฮร์ตอบกลับเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2496 ว่ายะโฮร์ไม่ได้อ้างสิทธิเหนือเปดราบรังกา หลังจากนั้น พฤติการณ์ของมาเลเซียได้แสดงให้เห็นว่ายอมรับอธิปไตยเหนือเปดราบรังกา เช่น มาเลเซียขออนุญาตสิงคโปร์เข้าไปสำรวจน่านน้ำในเปดราบรังกา และในราว พ.ศ. 2513 สิงคโปร์ประกาศถมทะเลรอบเกาะ ได้มีประกาศให้บริษัทเอกชนเข้ามาประมูลอย่างเปิดเผย มาเลเซียมิได้ประท้วง นอกจากนั้น แผนที่ที่ตีพิมพ์ในมาเลเซียระหว่าง พ.ศ. 2505 – 2518 ยอมรับว่าเปดราบรังกาอยู่ในสิงคโปร์ จึงตัดสินว่าเปดราบรังกาเป็นของสิงคโปร์
ในระหว่างยื่นฟ้องคดีต่อศาลโลก คู่กรณีทั้งสองประเทศได้โจมตีกันอย่างรุนแรง แม้แต่ความคิดเห็นของประชาชนบนเว็บไซต์ก็มีทั้งกระแสชาตินิยมล้วน ๆ จนถึงโต้ตอบด้วยหลักกฎหมายอย่างมีเหตุมีผล เมื่อศาลโลกมีคำตัดสินออกมา ฝ่ายมาเลเซียยอมรับความพ่ายแพ้เป็นอย่างดี ในขณะที่ประชาชนมาเลเซียมีความผิดหวังและโจมตีการทำงานของฝ่ายกฎหมายของมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามิดเดิลร็อกส์จะเป็นของมาเลเซีย แต่รัฐบาลมาเลเซียยังไม่อนุญาตให้ชาวมาเลเซียเดินทางเข้าไป เพราะต้องเจรจากับสิงคโปร์เกี่ยวกับปัญหาน่านน้ำรอบเกาะ และมาเลเซียได้เปลี่ยนชื่อเรียกเปดราบรังกาในภาษามาเลย์เหลือเพียงบาตูปูเตะห์เท่านั้น