กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รี หรือ กบพิษสตรอว์เบอร์รี (อังกฤษ: Strawberry poison-dart frog, Strawberry poison frog; ชื่อวิทยาศาสตร์: Oophaga pumilio) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำพวกกบชนิดหนึ่ง ในวงศ์กบลูกศรพิษ (Dendrobatidae)
เป็นกบที่มีขนาดเล็กเหมือนกับกบลูกศรพิษทั่วไป มีลำตัวเป็นสีแดงฉูดฉาดเห็นได้ชัดเจนและขาทั้งสี่ข้างเป็นสีน้ำเงิน (แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มีสีสันแตกต่างออกไปตามสภาพสัณฐานวิทยา) นิ้วตีนไม่มีพังผืด เนื่องจากใช้ชีวิตในการปีนต้นไม้และอยู่บนพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ กระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของภูมิภาคอเมริกากลาง เช่น คอสตาริกา, นิคารากัว จนถึงตะวันออกเฉียงเหนือของปานามา
กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รีมีบลูกศรพิษที่หลั่งออกมาจากรูบนผิวหนังเหมือนรูขุมขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อใช้ในการป้องกันตัวโดยเฉพาะจากสัตว์นักล่า เช่น งู เนื่องจากมีขนาดลำตัวเล็กมาก เมื่องูได้งับเข้าไปแล้ว จะปล่อยสารเคมีจำพวกแอลคาลอยด์ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับงูได้ จนกระทั่งต้องยอมคายออกมา แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่า กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รีทุกตัวจะรอดได้ทั้งครั้ง หากโดนงับเข้าอย่างแรง ก็อาจทำให้ตัวกบแตกและตายได้
โดยสารแอลคาลอยด์ได้มาจากการที่กบกินอาหารจำพวกแมลงบางชนิด เช่น ปลวก, แมลงปีกแข็ง ที่กินพืชที่มีสารนี้เข้าไปและสะสมในตัว โดยเก็บไว้ในต่อมสารคัดหลั่ง เมื่อโดนคุกคาม จะคายผ่านผิวหนังเพื่อตอบโต้
กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รีขยายพันธุ์ในกลีบดอกไม้หรือใบไม้ที่มีน้ำขังบนต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่า เช่น บรอมเมเลีย เมื่อตัวเมียวางไข่ ตัวผู้จึงจะปล่อยสเปิร์มเข้าปฏิสนธิ โดยวางไข่จำนวนเพียง 3-4 ฟองเท่านั้น และจะถูกสัตว์บางชนิด เช่น แมงมุม กินเป็นอาหาร แต่จะมีบางส่วนที่เหลือรอด โดยหน้าที่เฝ้าไข่จะเป็นของกบตัวผู้ เมื่อลูกอ๊อดฟักเป็นตัวแล้ว ตัวผู้จะส่งสัญญาณไปยังตัวเมีย และจะเป็นหน้าที่ของตัวเมียที่จะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูลูก โดยจะแบกลูกอ๊อดไว้บนหลังเพื่อหาที่ ๆ เหมาะสมสำหรับเลี้ยงดูลูกอ๊อด โดยจะเคลื่อนย้ายลูกอ๊อดไว้บนหลังแบบนี้จนกระทั่งหมด ตัวเมียจะปล่อยไข่ที่ไม่ได้ปฏิสนธิไว้เป็นอาหารแก่ลูกอ๊อด ลูกอ๊อดใช้ระยะเวลาราว 2 สัปดาห์จึงจะเติบโตจนมีสภาพเหมือนกบตัวเต็มวัย และจะปีนลงมาจากใบของต้นบรอมเมเลียลงสู่พื้นดิน เพื่อใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งกบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รีที่เพิ่งลงสู่พื้นดิน ร่างกายจะยังไม่มีพิษสะสม จึงจะต้องเร่งหาอาหารกินเพื่อสะสมพิษ ในตอนนี้จึงอาจตกเป็นอาหารแก่งูได้ง่าย ๆ