กบฏเจ้าอนุวงศ์ เป็นการก่อกบฏของเจ้าอนุวงศ์ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2369-2371 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้วีรกรรมของท้าวสุรนารีเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้เจ้านันทเสนไปปกครองเวียงจันทน์ ต่อมาเป็นกบฏ จึงมีรับสั่งประหารชีวิตและทรงให้เจ้าอินทร์ปกครองแทน หลังเจ้าอินทร์ถึงแก่พิราลัย ก็ทรงให้เจ้าอนุวงศ์ปกครองแทน
โอกาสที่เจ้าอนุวงศ์มาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2367 ได้ทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขอแบ่งชาวเวียงจันทน์เมื่อครั้งถูกกวาดต้อนลงมายังไทยครั้งสงครามสมัยกรุงธนบุรี พระองค์ดำริว่าไม่เหมาะ จึงไม่พระราชทานให้ เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศ เมื่อกลับไปยังเมืองแล้วก็คิดแผนกบฏต่อไทย
เจ้าอนุวงศ์พิจารณาเห็นว่า ไทยเกรงศึกสองด้าน คือ ทั้งพม่าและญวน เจ้าอนุวงศ์จึงหันไปฝักใฝ่ญวน ด้วยเห็นว่าหากตั้งตนเป็นอิสระแล้ว ไทยคงไม่กล้ายกทัพมาปราบปรามแน่
พ.ศ. 2369 มีข่าวลือว่าอังกฤษจะนำเรือรบมายึดกรุงเทพมหานคร เจ้าอนุวงศ์เห็นเป็นโอกาส จึงยกกองทัพมายึดหัวเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทัพที่จัดมามี 3 ทัพ ได้แก่ ทัพเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ของเจ้าราชบุตร ยกเข้ามาทางอุบลราชธานี, ทัพของพระอุปราช ยกเข้ามาทางร้อยเอ็ด และทัพหลวงของเจ้าอนุวงศ์ยกมาทางนครราชสีมา
เจ้าอนุวงศ์ออกอุบายแก่เจ้าเมืองตามรายทางว่า อังกฤษกำลังเตรียมนำทัพเรือมายึดกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าอนุวงศ์เกณฑ์กองทัพเวียงจันทน์ลงมาช่วยทำศึก เจ้าเมืองตามรายทาง เช่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สุรินทร์ ขุขันธ์ หลงเชื่อและให้การสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์ ยอมให้เดินทัพผ่านโดยสะดวก และมอบเสบียงอาหารให้เพิ่มเติมด้วย จนกระทั่งทัพเวียงจันทน์มาถึงนครราชสีมา ขณะนั้นพระยานครราชสีมาและพระยาปลัดไม่อยู่ว่าราชการ เจ้าอนุวงศ์ก็เข้ายึดนครราชสีมาและส่งกองทัพไปกวาดต้อนผู้คนถึงสระบุรี
ทางกรุงเมื่อทราบข่าว ก็มีการแต่งทัพออกไปช่วย โดยให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยกกองทัพไปยังสระบุรี ครั้นทัพหน้าเวียงจันทน์ทราบข่าวก็ถอยไปยังนครราชสีมา
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวเมืองและยึดทรัพย์สินจากนครราชสีมา คุณหญิงโม ภริยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนไปด้วย ก็ออกอุบายขอให้ผ่อนให้ควบคุมไปช้า ๆ เพื่อรอให้บรรดาชาวเมืองไปให้ทันกัน ครั้นถึงทุ่งสัมฤทธิ์ คุณหญิงโมก็เลี้ยงสุราแก่ทหารลาว เมื่อเห็นได้โอกาส ชาวเมืองทั้งหลายต่างก็ใช้อาวุธฆ่าฟันทหารลาวตายเป็นจำนวนมาก ทัพลาวได้แตกทัพหนีไป ส่วนชาวเมืองทั้งหลายก็ตั้งค่ายที่ทุ่งสัมฤทธิ์นั้น มีชาวเมืองที่หลบหนีมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก
เจ้าอนุวงศ์ส่งกองทัพมาตีค่ายก็ถูกตีพ่ายกลับไป ครั้นเมื่อทราบข่าวทางกรุงยกทัพมาช่วยนครราชสีมา ก็นำทัพกลับไปยังเวียงจันทน์ โดยจัดทัพคอยสกัดตามด่านเพื่อเตรียมการต่อสู้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้พระยาราชสุภาวดีคุมทัพที่สองไปปราบกบฏทางอุบลราชธานีและร้อยเอ็ด แล้วไปบรรจบกับทัพแรกที่เวียงจันทน์ และทรงให้เจ้าพระยาอภัยภูธรคุมทัพที่สามไปปราบเมืองหล่มและหัวเมืองขึ้น แล้วไปบรรจบกันที่เวียงจันทน์อีกทัพหนึ่ง
กองทัพของพระยาราชสุภาวดีตีพวกกบฏตั้งแต่พิมาย ยโสธร ไปจนถึงจำปาศักดิ์ จับได้ตัวเจ้านครจำปาศักดิ์และบุตรหลานของเจ้าอนุวงศ์ เสร็จแล้วก็ผ่านนครพนมไปสมทบกันที่เวียงจันทน์
อีกด้านหนึ่ง ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ตีด่านหนองบัวลำภู ค่ายทุ่งส้มป่อย ใกล้กับช่องเขาข้ามไปยังเวียงจันทน์ ทหารลาวส่งกองทัพมาล้อม สู้กันเป็นเวลา 7 วัน กองทัพลาวก็ถูกตีพ่ายกลับไป เสร็จแล้วก็ยกทัพเข้าเวียงจันทน์ได้อย่างง่ายดาย ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ที่เห็นว่ากองทัพลาวที่ด่านหนองบัวลำภูแพ้แล้วก็ไม่คิดต่อสู้อีก รีบพาครอบครัวอพยพไปญวน
ครั้นยึดเมืองได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้ทำลายนครเวียงจันทน์ให้หมดสิ้น แต่กระทำการยังไม่สำเร็จ ก็นำทัพกลับมายังกรุงเทพมหานครเสียก่อน
เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับไปนครเวียงจันทน์อีก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2371 พอไปถึงก็เห็นว่าเจ้าอนุวงศ์กลับมาแล้ว ข้าหลวงญวนได้มาเจรจาว่า "พระเจ้ากรุงเวียดนามให้พาเจ้าอนุวงศ์มาอ่อนน้อมสารภาพผิด" และ "อนุทำผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขโทษ" โดยเจรจาให้นำตัวเจ้าอนุวงศ์พาตัวไปลุแก่โทษที่กรุงเทพมหานคร
พระยาพิไชยสงครามตายใจ ปล่อยให้ไพร่พลพักผ่อน ครั้นตกกลางคืน เจ้าอนุวงศ์ได้นำทหารเข้าจู่โจมทหารไทย ฆ่าตายเกือบหมด รวมทั้งพระยาพิไชยสงครามนั้นด้วย ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีนำกองทัพขึ้นไป เจ้าอนุวงศ์ได้ให้เจ้าราชวงศ์คุมกองทัพจะจับตัว กองทัพทั้งสองปะทะกันที่บ้านบกหวาน กองทัพลาวแพ้ถูกตามตีไปจนถึงเวียงจันทน์
เจ้าอนุวงศ์จะนำครอบครัวหนีไปยังญวนอีก แต่ถูกจับตัวได้ ถูกส่งมายังกรุงเทพมหานครพร้อมครอบครัว เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ให้รื้อทำลายสถานที่สำคัญในเวียงจันทน์จนหมด และกวาดต้อนผู้คนมายังหัวเมืองชั้นใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระยาที่จงรักภักดีไปปกครองหัวเมืองที่ขึ้นกับเวียงจันทน์ โดยให้ขึ้นกับหลวงพระบางแทน ตั้งแต่นั้น ลาวก็ขึ้นกับไทยเรื่อยมา จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ครั้นเจ้าอนุวงศ์มาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ทำกรงขังเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวเป็นการประจาน ประชาชนไปดูและสาปแช่งทุกวัน เจ้าอนุวงศ์ถูกขังได้ 7-8 วันก็ป่วยตาย