กฎหมายปิดปาก หรือในพระธรรมศาสตร์เรียก บทตัดสำนวน (อังกฤษ: estoppel) คือ หลักกฎหมายที่ไม่ยอมให้อ้างหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ ไม่ว่าข้อสันนิษฐานนั้นจะเป็นจริงหรือไม่
คำ "estoppel" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำ "estoupail" ในภาษาฝรั่งเศสเก่า หมายความว่า "ฝาจุก" (stopper plug) อุปมาถึง การอุดความไม่สมดุลของเหตุการณ์ คำ "estoppel" นี้ยังเกี่ยวข้องกับกริยา "estop" ซึ่งมาจากคำ "estopper" ในภาษาฝรั่งเศสเก่าเช่นกัน หมายความว่า "หยุดยั้ง, ขัดขวาง"
โดยเนื้อหาสาระแล้ว กฎหมายปิดปากเป็นหลักในกฎหมายพยานหลักฐาน ซึ่งห้ามบุคคลปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ได้ถือว่ายุติแล้ว เมื่อศาลเห็นว่า คู่ความได้กระทำการใด ๆ อันเข้าลักษณะกฎหมายปิดปาก คู่ความนั้นจะถูก "ปิดปาก" (estopped) มิได้โต้แย้งหรืออ้างสิทธิ เช่น จำเลยจะถูกปิดปากมิให้แก้ต่าง หรือโจทก์จะถูกปิดปากมิให้แก้คำให้การของจำเลย เซอร์เอดเวิร์ด โคก (Edward Coke) ว่า "ที่เรียก กฎหมายปิดปาก หรือข้อตัดบทนั้น เพราะว่าการกระทำหรือการยอมรับของคนคนนั้นเองกลายเป็นเครื่องหุบหรือปิดปากตัวเขามิให้กล่าวหรืออ้างข้อเท็จจริง"
ตัวอย่างของกฎหมายปิดปาก เช่น มาตรา 407 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ว่า "บุคคลใดกระทำการตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่า ผู้นั้นหามีสิทธิที่จะได้รับคืนทรัพย์ไม่"
มาตรา 115 แห่งรัฐบัญญัติพยานหลักฐานอินเดีย ค.ศ. 1872 (Indian Evidence Act, 1872) อันเป็นกฎหมายของประเทศอินเดียนั้น บัญญัติถึงกฎหมายปิดปากไว้โดยตรงว่า ในกรณีที่บุคคลหนึ่ง ไม่ว่าโดยแสดงเจตนาก็ดี โดยกระทำก็ดี หรือโดยละเว้นการกระทำก็ดี จงใจก่อหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นเชื่อถือว่าสิ่งหนึ่งเป็นความจริง หรือให้เขากระทำตามความเชื่อถือเช่นนั้น บุคคลผู้นั้น หรือผู้แทนของเขา เมื่อเป็นความหรืออยู่ในกระบวนพิจารณากับบุคคลเช่นว่า จะปฏิเสธว่าสิ่งดังกล่าวไม่เป็นความจริงมิได้