กฎบัตรซาราโกซา 2551 (อังกฤษ: THE 2008 ZARAGOZA CHARTER) การจัดแสดงนิทรรศการนานาชาติ ณ เมืองซาราโกซา เป็นการจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกที่กำหนดแนวคิดหลัก คือ น้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน (อังกฤษ: Water and Sustainable Development) และจัดแสดงที่ริมฝั่งแม่น้ำเอโบร เมืองซาราโกซา ราชอาณาจักรสเปน โดยมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมงานถึง 104 ประเทศ องค์กรระดับนานาชาติ 3 แห่ง ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเมืองต่างๆในราชอาณาจักรสเปน องค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ BIE หรือ (ฝรั่งเศส: The Bureau International des Expositions; อังกฤษ: International Exhibitions Bureau) ได้ให้คำแนะนำแนวคิดการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ให้สอดคล้องกับงานขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ BIE ตั้งเป้าหมายการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง และเป็นการให้ความรู้แก่สาธารณชน การจัดงานที่ซาราโกซาครั้งนี้ตั้ง เป้าหมาย ให้ผู้เข้าชมหลายล้านคนได้รับความรู้เกี่ยวกับน้ำและปัญหาในการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากงานนี้จะเป็นแหล่งรวมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว กิจกรรมของการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ (อังกฤษ: Water Tribune)เป็นการถ่ายทอดความรู้และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ตลอดจนความท้าทายในการจัดการทรัพยากรน้ำที่มนุษยชาติกำลังประสบอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต ตลอดระยะเวลา 93 วันของการจัดแสดงนิทรรศการ เวทีนี้เป็นกิจกรรมใหญ่ที่สุดและรวบรวมกิจกรรมระดับนานาชาติเกี่ยวกับน้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมดไว้
การประชุมสัมมนาทรัพยากรน้ำนี้ เสร็จสิ้นก่อนวันปิดงานแสดงนิทรรศการเป็นเวลา 2 วัน โดยนำเสนอบทสรุปและการวิเคราะห์ในรูปของกฎบัตรซาราโกซา 2008 (อังกฤษ: The 2008 Zaragoza Charter)
เราทั้งหลายผู้มีส่วนในกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำตระหนักดีว่า น้ำมีความสำคัญต่อชีวิตและดาวเคราะห์โลกใบนี้
แนวคิดใหม่ เรื่อง น้ำกับการพัฒนาที่ยั่งยืน มีเป้าหมายที่จะชี้ให้เห็นว่า การจัดการทรัพยากรน้ำแบบผสมผสานจะช่วยให้มนุษยชาติคงอยู่และช่วยปกป้องโลก รวมถึงสามารถเข้ามาแทนที่แนวคิดเดิมที่ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางเพียงอย่างเดียวได้
A1 การพัฒนาทางสังคมควรคำนึงถึงพื้นฐานหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
A2 การจัดลำดับความสำคัญต้องคำนึงถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ บนหลักการการพัฒนาจริยธรรมอย่างยั่งยืน โปร่งใส และเท่าเทียมกันต่อประชากรทั้งในปัจจุบันและอนาคต
A3 การจัดการทรัพยากรน้ำควรส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ประสิทธิผลและความเป็นปึกแผ่นโดยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือการมีจิตสำนึกของแต่ละบุคคล
A4 ควรกำหนดข้อตกลงและกฎระเบียบเพื่อแก้ไขปัญหาทางลบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป
A5 โครงการแก้ไขปัญหาและการจัดการน้ำ ต้องคำนึงถึงอัตราการพัฒนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคและกลุ่มสังคม
A6 หน่วยในการจัดการทรัพยากรน้ำขั้นพื้นฐานควรใช้พื้นที่ลุ่มน้ำและแหล่งน้ำใต้ดิน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ(อังกฤษ: Supranational Nature)
A7 ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย ทั้งในเมืองและชนบท โดยถือเป็นคำสัญญาของโลก ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายที่สามารถดำเนินการได้จริง
A8 การจัดหาน้ำดื่มและการรวบรวมน้ำเสียจัดเป็นลำดับความสำคัญซึ่งองค์กรปกครองสาธารณะต้องดำเนินการให้ในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับต้นทุน
A9 ต้องให้ความสำคัญในการจัดการความต้องการและปริมาณที่มีอยู่ ในการตัดสินใจระดับนโยบาย กลยุทธ์ แผน โครงการและงบประมาณ
A10 การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำต้องได้รับการส่งเสริม และเร่งรัดถ่ายทอดวิทยาการเพื่อผลประโยชน์ของสังคม
a. จัดทำและเสนอกฎบัตรว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของมนุษยชาติกับทรัพยากรน้ำ เสนอต่อองค์การสหประชาชาติ
b. ปรับปรุงกรอบมาตรฐานน้ำระดับสากล ทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการยอมรับจากทุกประเทศ
c. จัดเตรียมและส่งเสริมการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างผิดปกติ และการจัดการความเสี่ยงในประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ
d. ส่งเสริมการรับรองอนุสัญญานานาชาติสำหรับภาคพื้นแปซิฟิค และกระบวนการจัดการลุ่มน้ำนานาชาติ
f. ให้การอบรมความรู้ หลักการและค่านิยมในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับทรัพยากรน้ำในเชิงจริยธรรม
g. ส่งเสริมการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนบทเรียน ประสบการณ์ แนวทางการปฏิบัติ รูปแบบ และกระบวนการซึ่งประสบความสำเร็จ และเผยแพร่เป็นข้อแนะนำจากองค์กรในรูปแบบข่าวสารและองค์ความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน
h. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดการจัดการน้ำสะอาดและถูกสุขอนามัยให้เป็นจริงในทางปฏิบัติทั่วๆ ไป
B1 ปกป้องระบบนิเวศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษามูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพและอายุการใช้งานของแหล่งน้ำ
B2 จัดให้มีบริการบำบัดน้ำเสียและสุขาภิบาลพื้นฐาน ตามมาตรฐานสุขอนามัยของโลก เพื่อทำให้เกิดสุขภาพ สุขอนามัยและความเป็นอยู่ดี ตามความเป็นอยู่จริงของประชาชน ] B3 รัฐต้องรับประกันการจัดหาน้ำสะอาดให้แก่ทุกครัวเรือนหรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการแก้ไขปัญหาความยากจน รัฐบาลต้องรับประกันการจัดหาน้ำสะอาดขั้นต่ำให้แก่ทุกครัวเรือน
B4 ระบบกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนดขึ้น ต้องคำนึงถึงการไม่ทำให้เกิดความสูญเสียวัฒนธรรมและสิทธิของชุมชนท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยนำปัจจัยเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณา
B6 มีการประเมินปริมาณความต้องการน้ำด้วยหลักเกณฑ์การศึกษา ข้อมูล การมีส่วนร่วมและการคำนวณภาษี
B7 ความล่าช้าในการจัดหาน้ำในพื้นที่ชนบทสามารถแก้ไขได้โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการจัดการกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งชุมชนต้องมีส่วนในการพัฒนาและการยอมรับ
B8 องค์ความรู้ที่นำมาใช้ในการกักเก็บน้ำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล การนำน้ำทะเลมาใช้ประโยชน์ การเก็บไอน้ำและฝน การกลั่นน้ำ การสร้างและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ นั้น ควรเลือกใช้วิทยาการที่ประหยัดพลังงานและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
B9 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ประเทศต่างๆ ต้องพิจารณาทำการเกษตรโดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและทิศทางความต้องการ
B11 โครงการต่างๆ ที่มีการจัดการร่วมกันระหว่างประเทศและองค์กรใด ๆ นั้น ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดหาเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดหาน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลจากตลาดเงิน ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญแก่ทรัพยากรบุคคลด้วย
B12 หลักเกณฑ์ทางเศรษฐกิจอย่างมีเหตุมีผล จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน จึงควรพัฒนาอย่างฉลาด ให้เป็นหลักการทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในการจัดการทรัพยากรน้ำ
B13 นโยบายแบบผสมผสานจะช่วยให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ทำให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นไปตามข้อเสนอข้างต้น กฎบัตรซาราโกซาได้รับการรับรองจากเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ องค์การนิทรรศการนานาชาติ และรัฐบาลสเปน
ข้อความทั้งหมดในกฎบัตรซาราโกซามาจาก - คำกล่าว คำอธิบาย การวิเคราะห์และการสรุป - โดยจะเก็บรักษา เพื่อเป็นมรดกให้แบ่งปันต่อกันและผนวกไว้ในมรดก (สเปน: Legodo;อังกฤษ: Legacy) และกล่องสีน้ำเงิน(สเปน: Caja Azul; อังกฤษ: Blue Box) ซึ่งเก็บไว้ในการดูแลของราชอาณาจักรสเปน ผู้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงานนิทรรศการนานาชาติ ประจำปี ค.ศ.2008 (พ.ศ. 2551)
ประเทศไทยเข้าร่วมการจัดแสดงนิทรรศการนานาชาติ ณ เมืองซาราโกซา ราชอาณาจักรสเปน ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึงวันที่ 14 กันยายน 2551 โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก กรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยดำเนินงานหลัก