ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ (อังกฤษ: user interface, UI) หมายถึง สิ่งที่มีไว้ให้ผู้ใช้ใช้ในการกระทำกับระบบหรือสิ่งของต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นคอมพิวเตอร์ เครื่องจักร เครื่องกล อุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าใดๆ หรือระบบที่มีความซับซ้อนอื่นๆ เพื่อให้สิ่งๆนั้นทำงานตามความต้องการของผู้ใช้
การใช้งานระบบใดๆที่มีความสลับซับซ้อน จะมีหลักการทำงานพื้นฐานอยู่ 3 ส่วนคือ ส่วนอินพุท (input) ส่วนการประมวล (process) และส่วนเอาต์พุต (output) ซึ่งส่วนการนำเข้าและส่วนแสดงผลลัพธ์เป็นส่วนที่ใช้ติดต่อกับผู้ใช้โดยตรงจึงเรียกว่า ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้
ตัวอย่างของส่วนต่อประสานกับผู้ใช้เช่น เครื่องคิดเลข จะมีส่วนอินพุทคือแป้นตัวเลข 0-9 และเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ ผู้ใช้จะต้องกดหมายเลขที่ต้องการคำนวณผลผ่านแป้นตัวเลขนั้น และเมื่อเครื่องคิดเลขทำการประมวลผลเสร็จสิ้น ก็จะแสดงผลลัพธ์ออกมาบนหน้าจอ LED ซึ่งเป็นส่วนของเอาต์พุต
หรือเช่น รถยนต์ จะมีพวงมาลัยและคันเร่งไว้ให้ผู้ขับสามารถใช้บังคับทิศทางและเร่งความเร็ว ซึ่งส่วนนี้คือส่วนของอินพุท ส่วนหน้าปัดบอกความเร็วหน้าปัดบอกน้ำมันคงเหลือคือส่วนของเอาต์พุต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับได้รู้ถึงสถานะของรถยนต์ที่ตนเองขับขี่อยู่
ในเรื่องของส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ มีศาสตร์หนึ่งที่เป็นส่วนระบุถึงคุณภาพของส่วนติดต่อผู้ใช้เรียกว่า ความเหมาะสมใช้งาน หรือ Usability
เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ให้มีความเหมาะสมใช้งาน กล่าวคือสามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยศาสตร์ของความเหมาะสมใช้งาน จะมีความเกี่ยวข้องกับด้าน จิตวิทยา และ สรีรวิทยา เป็นหลัก ซึ่งจิตวิทยาจะช่วยให้นักออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ สามารถคิดระบบระเบียบขั้นตอนวิธีการใช้งานที่ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานอุปกรณ์ได้สะดวก และง่ายทำความเข้าใจ ส่วนสรีรวิทยาจะช่วยในการออกแบบให้อุปกรณ์นั้นเหมาะสมต่อกับใช้ในด้านสรีระ เช่น ความสะดวกจับถือ เป็นต้น
ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ในทางคอมพิวเตอร์ นั้นโดยมากจะหมายถึง การแสดงภาพกราฟิก หรือข้อความ หรือเสียง ให้ผู้ใช้ได้รับทราบและช่วยในการควบคุมขั้นตอนการใช้งานของผู้ใช้ต่อโปรแกรมที่กำลังใช้งานอยู่ ผ่าน แป้นพิมพ์หรือคีย์บอร์ด หรือ เมาส์